คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6092/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้วย่อมมีผลทำให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมแต่ไม่มีผลกระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายแก่กันตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา391และมาตรา392บัญญัติว่าการชำระหนี้ของคู่สัญญาอันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้นให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งมาตรา369กล่าวคือให้นำมาตรา369ว่าด้วยการชำระหนี้ในสัญญาต่างตอบแทนมาใช้บังคับโจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์หรือค่าใช้ทรัพย์ได้แม้ตามคำฟ้องโจทก์เรียกร้องมาเป็นค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระแต่เมื่อคำฟ้องบรรยายมาว่าการที่จำเลยผิดนัดผิดสัญญาต่อโจทก์จนกระทั่งโจทก์บอกเลิกสัญญาและยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนมาดังกล่าวทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายกล่าวคือตลอดเวลาตั้งแต่ทำสัญญาเช่าซื้อจนกระทั่งโจทก์บอกเลิกสัญญาและยึดรถยนต์คืนมานั้นจำเลยเป็นผู้ครอบครองใช้รถยนต์ที่เช่าซื้ออันเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดแรกวันที่4ตุลาคม2533ถึงงวดที่12วันที่4กันยายน2534ซึ่งคำนวณแล้วจำเลยค้างชำระค่าเช่าซื้อเป็นเงิน652,584บาทถือได้ว่าโจทก์ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์หรือค่าใช้ทรัพย์ของโจทก์มาตลอดเวลาที่จำเลยยังครอบครองทรัพย์ของโจทก์อยู่ด้วยดังนี้ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้และค่าเสียหายเช่นนี้ศาลอาจกำหนดตามที่เห็นสมควรได้ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา142 เมื่อกรณีเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยมีส่วนนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปใช้โดยมิชอบไม่สงวนทรัพย์สินเสมอกับวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเองเป็นเหตุให้รถยนต์ชำรุดเสียหายจำเลยจึงต้องรับผิดในส่วนที่รถยนต์ขายได้ราคาต่ำลงมาเนื่องจากความชำรุดเสียหายดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา562ทั้งข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อตามสำเนาหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ก็ระบุว่าเมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงถ้าปรากฏว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อตกอยู่ในสภาพเสื่อมเหลือมูลค่าเป็นเงินไม่คุ้มกับค่าเช่าซื้อที่โจทก์ยังไม่ได้รับชำระหนี้หมดตามสัญญารวมกับหนี้สินอื่นๆที่จำเลยยังคงค้างชำระอยู่จำเลยจะต้องรับผิดชำระเงินที่ยังขาดอยู่เป็นค่าเสียหายให้แก่โจทก์จนครบถ้วนด้วยจำเลยจึงต้องรับผิดชำระค่าเสื่อมราคารถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์ ตามหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ระบุว่า”ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามจำนวนและสถานที่ตามที่กำหนดไว้ในสัญญานี้หรือไม่ชำระค่าเสียหายและหรือหนี้สินอื่นใดที่ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชอบต่อบริษัทผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดชอบเสียดอกเบี้ยจากจำนวนเงินที่ค้างชำระให้แก่บริษัทในอัตราร้อยละสิบเจ็ดต่อปีนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จอีกด้วย”ดังนี้ข้อสัญญาดังกล่าวไม่รวมถึงหนี้ค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์หรือค่าใช้ทรัพย์ค่าเสียหายดังกล่าวนี้โจทก์คงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา224เท่านั้นส่วนค่าเสื่อมราคารถยนต์ที่เช่าซื้อนั้นเป็นหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระตามข้อตกลงในสัญญาแต่ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยในค่าเสียหายดังกล่าวนี้เป็นวิธีกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าวิธีหนึ่งมีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับถ้ากำหนดไว้สูงเกินส่วนศาลอาจลดลงเป็นจำนวนที่พอสมควรได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2533 จำเลยได้เช่าซื้อรถยนต์จากโจทก์ 1 คัน ราคา 1,605,160 บาท ชำระค่าเช่าซื้อในวันทำสัญญา 300,000 บาท ส่วนที่เหลือผ่อนชำระ 24 งวด งวดละเดือน งวดที่ 1 ถึงงวดที่ 23 ชำระงวดละ54,382 บาท งวดสุดท้ายชำระ 54,374 บาทจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เลยติดต่อกัน12 งวด โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและยึดรถยนต์คืนเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2534 แต่รถยนต์อยู่ในสภาพเสื่อมโทรมเสียหายมาก โจทก์ได้รับความเสียหายคือค่าเช่าซื้อที่จำเลยค้าง 652,584 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบเจ็ดต่อปี นับแต่วันผิดนัดถึงวันฟ้องเป็นเงิน97,071.60 บาทและค่าเสื่อมราคา 74,000 บาท รวมเป็นเงิน823,655.60 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 823,655.60 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละสิบเจ็ดต่อปี ของต้นเงิน726,584 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ตกลงทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ตามฟ้องไปจากโจทก์จริง แต่โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง เพราะผู้ที่ลงนามกระทำแทนโจทก์ในหนังสือสัญญาเช่าซื้อลงนามโดยปราศจากอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมาย หนังสือมอบอำนาจจะเป็นลายมือชื่อของผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจที่ถูกต้องแท้จริงหรือไม่จำเลยไม่รับรอง โจทก์คิดดอกเบี้ยสูงกว่ากฎหมายกำหนด สัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลงแล้วโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระ รถยนต์ที่เช่าซื้ออยู่ในสภาพเรียบร้อยจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดค่าเสื่อมราคาฟ้องโจทก์ไม่ได้บรรยายหมายเลขทะเบียนรถยนต์ที่เช่าซื้อ จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษา ให้ จำเลย ชำระ เงิน 314,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้อง(วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2535) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2533 จำเลยได้ทำหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า แบบเก๋ง 4 ประตู ไปจากโจทก์ 1 คันราคา 1,605,160 บาท ชำระค่าเช่าซื้อในวันทำสัญญา300,000 บาท ส่วนที่เหลือแบ่งชำระเป็น 24 งวดงวดละเดือนชำระทุกวันที่ 4 ของเดือน งวดที่ 1 ชำระภายในวันที่ 4 ตุลาคม 2533 งวดที่ 1 ถึงงวดที่ 23 ชำระงวดละ54,382 บาท งวดสุดท้ายชำระ 54,374 บาท ต่อมาจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ติดต่อกัน12 งวด โจทก์บอกเลิกสัญญาและจำเลยคืนรถยนต์ให้แก่โจทก์เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2534
ปัญหาว่าจำเลยจะต้องชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์หรือค่าใช้ทรัพย์ให้แก่โจทก์เพียงใดหรือไม่ที่จำเลยฎีกาว่า ความเสียหายในส่วนนี้ไม่มีประเด็นนำสืบและยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้น ไม่ชอบที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 จะพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าใช้ทรัพย์240,000 บาท นอกจากนั้นมูลหนี้ค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระกับค่าใช้ทรัพย์ที่เช่าซื้อก็เป็นมูลหนี้ที่แตกต่างกันและเป็นการพิพากษาเกินคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องนั้นเห็นว่า เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันแล้ว ย่อมมีผลทำให้คู่สัญญาแต่ละฝ่ายได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ไม่มีผลกระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายแก่กัน ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 และมาตรา 392 บัญญัติว่า การชำระหนี้ของคู่สัญญาอันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น ให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งมาตรา 369กล่าวคือ ให้นำมาตรา 369 ว่าด้วยการชำระหนี้ในสัญญาต่างตอบแทนมาใช้บังคับ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์หรือค่าใช้ทรัพย์ได้แม้ตามคำฟ้องโจทก์เรียกร้องมาเป็นค่าเช่าซื้อที่ค้างชำระแต่เมื่อคำฟ้องบรรยายมาว่า การที่จำเลยผิดนัดผิดสัญญาต่อโจทก์จนกระทั่งโจทก์บอกเลิกสัญญาและยึดรถยนต์ที่เช่าซื้อกลับคืนมาดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายกล่าวคือตลอดเวลาตั้งแต่ทำสัญญาเช่าซื้อจนกระทั่งโจทก์บอกเลิกสัญญาและยึดรถยนต์คืนมานั้น จำเลยเป็นผู้ครอบครองใช้รถยนต์ที่เช่าซื้ออันเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์โดยจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่ งวดแรกวันที่ 4 ตุลาคม 2533ถึงงวดที่ 12 วันที่ 4 กันยายน 2533 (ที่ถูกเป็น 2534) ซึ่งคำนวณแล้ว จำเลยค้างชำระค่าเช่าซื้อเป็นเงิน 652,584 บาทถือได้ว่าโจทก์ฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์หรือค่าใช้ทรัพย์ของโจทก์มาตลอดเวลาที่จำเลยยังครอบครองทรัพย์ของโจทก์อยู่ด้วย ดังนี้ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายในส่วนนี้ และค่าเสียหายเช่นนี้ศาลอาจกำหนดตามที่เห็นสมควรได้ ไม่ถือว่าเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 แต่อย่างใดที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์หรือค่าใช้ทรัพย์240,000 บาท นั้น เหมาะสมแล้ว
ปัญหาว่าจำเลยจะต้องรับผิดชำระค่าเสื่อมราคารถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์เพียงใดหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่สามารถนำสืบให้เห็นความเสียหายที่แท้จริงได้ว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อเสียหายแค่ไหนอย่างไร โจทก์ไม่มีหลักฐานมาแสดงจะถือว่าโจทก์ได้รับความเสียหายในส่วนนี้ไม่ได้นั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จากคำเบิกความของพยานโจทก์ประกอบกับคำเบิกความของจำเลยได้ความว่าจำเลยใช้รถยนต์ที่เช่าซื้ออยู่เป็นเวลา 1 ปี และรถยนต์นั้นขายไปได้ราคาเพียง 900,000-980,000 บาท เท่านั้นกรณีเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยมีส่วนนำรถยนต์ที่เช่าซื้อไปใช้โดยมิชอบ ไม่สงวนทรัพย์สินเสมอกับวิญญูชนจะพึงสงวนทรัพย์สินของตนเอง เป็นเหตุให้รถยนต์ชำรุดเสียหาย จำเลยจึงต้องรับผิดในส่วนที่รถยนต์ขายได้ราคาต่ำลงมาเนื่องจากความชำรุดเสียหายดังกล่าวตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 562 ทั้งข้อตกลงในสัญญาเช่าซื้อตามสำเนาหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถยนต์เอกสารหมาย จ.4 ข้อ 17 วรรคสุดท้ายระบุว่าเมื่อสัญญาเช่าซื้อสิ้นสุดลง ถ้าปรากฏว่ารถยนต์ที่เช่าซื้อตกอยู่ในสภาพเสื่อมเหลือมูลค่าเป็นเงินไม่คุ้มกับค่าเช่าซื้อที่โจทก์ยังไม่ได้รับชำระทั้งหมดตามสัญญารวมกับหนี้สินอื่น ๆ ที่จำเลยยังคงค้างชำระอยู่จำเลยจะต้องรับผิดชำระเงินที่ยังขาดอยู่เป็นค่าเสียหายให้แก่โจทก์จนครบถ้วนด้วย จำเลย จึงต้องรับผิดชำระค่าเสื่อมราคารถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์ ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้จำเลยชำระจำนวน 74,000 บาท เหมาะสมแล้ว
ปัญหาว่าโจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยหรือไม่เพียงใดที่จำเลยฎีกาว่า เมื่อสัญญาเช่าซื้อเลิกกันข้อสัญญาเกี่ยวกับดอกเบี้ยย่อมหมดไปโจทก์ไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้อีกนั้น พิเคราะห์แล้วตามสำเนาหนังสือสัญญาเช่าซื้อรถยนต์เอกสารหมาย จ.4 ข้อ 5 ระบุว่า”ถ้าผู้เช่าซื้อผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตามจำนวนและเวลาและสถานที่ตามที่กำหนดไว้ในสัญญานี้หรือไม่ชำระค่าเสียหาย และหรือหนี้สินอื่นใดที่ผู้เช่าซื้อต้องรับผิดชอบต่อบริษัท ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิดชอบเสียดอกเบี้ยจากจำนวนเงินที่ค้างชำระให้แก่บริษัทในอัตราร้อยละสิบเจ็ดต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จอีกด้วย” เห็นว่า ข้อสัญญาดังกล่าวไม่รวมถึงหนี้ค่าเสียหายอันเป็นค่าขาดประโยชน์หรือค่าใช้ทรัพย์ค่าเสียหายดังกล่าวนี้โจทก์คงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 224 เท่านั้นส่วนค่าเสื่อมราคารถยนต์ที่เช่าซื้อนั้นเป็นหนี้ที่จำเลยจะต้องชำระตามข้อตกลงในสัญญา แต่ข้อตกลงเรื่องดอกเบี้ยในค่าเสียหายดังกล่าวนี้ เป็นวิธีกำหนดค่าเสียหายไว้ล่วงหน้าวิธีหนึ่ง มีลักษณะเป็นการกำหนดเบี้ยปรับถ้ากำหนด ไว้สูงเกินส่วน ศาลอาจลดลงเป็นจำนวนที่พอสมควรได้ การที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์ได้รับดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จนั้นเหมาะสมแล้ว
พิพากษายืน

Share