คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2239/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1733 วรรคสอง บัญญัติว่า “คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง” เห็นว่า แม้บทบัญญัติดังกล่าวจะเป็นบทจำกัดอายุความฟ้องร้องเป็นกรณีพิเศษ ให้ทายาททั้งหลายต้องดำเนินการฟ้องร้องผู้จัดการมรดกในการกรณีที่จัดการมรดก หรือแบ่งปันทรัพย์มรดกไม่ถูกต้อง เสียภายในเวลาห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงก็ตาม แต่ต้องหมายถึงกรณีที่ผู้จัดการมรดกดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดก หรือจัดการทรัพย์มรดกไปตามปกติมิใช่กรณีที่ผู้จัดการมรดกจัดการมรดกโดยมิชอบ ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือเป็นกรณีที่เบียดบัง ยักยอก และปกปิดโดยทายาทไม่รับรู้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามทางนำสืบของโจทก์ว่า นับตั้งแต่จำเลยที่ 1 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกยังไม่มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่ทายาทอื่นเลย นอกจากจดทะเบียนโอนขายแก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 มิใช่บุตรคนเดียวของผู้ตายกับจำเลยที่ 1 แต่มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันถึง 5 คน บางคนก็แยกไปประกอบอาชีพที่อื่น ไม่ปรากฏว่าผู้ตายทำพินัยกรรมไว้จำเลยที่ 1 ย่อมทราบดีว่าทรัพย์มรดกของผู้ตายต้องตกได้แก่พี่น้องคนอื่นด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจจะโอนขายที่ดินส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกไปให้แก่ผู้อื่นโดยทายาทมิได้ให้ความยินยอมทุกคน จำเลยที่ 2 ก็ย่อมทราบข้อเท็จจริงนี้ดีเช่นกัน จะอ้างว่าเป็นผู้ไถ่ถอนที่ดินพิพาทและจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้เป็นการตอบแทนหาได้ไม่ กรณีไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 2 รับโอนโดยสุจริต ดังนั้นการจัดการมรดกรายนี้จึงไม่ชอบ การจัดการมรดกจึงยังไม่สิ้นสุดลงตามกฎหมาย อายุความห้าปียังไม่เริ่มนับ คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดิน แต่ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่าที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสของจำเลยที่ 1 กับผู้ตาย จำเลยที่ 1 จึงมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่ง จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิโดยชอบที่จะทำนิติกรรมในส่วนของจำเลยที่ 1 ได้ แม้โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจัดการมรดกที่ไม่ชอบ ก็ขอให้เพิกถอนได้เฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกกลับคืนสู่กองมรดกเพื่อให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจัดการมรดกเสียใหม่ให้ถูกต้องเท่านั้น จะขอให้เพิกถอนนิติกรรมในส่วนที่มิใช่เป็นทรัพย์มรดกไม่ได้ ที่ศาลล่างพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยทั้งสองทั้งแปลง เป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกมาวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเพิกถอนการโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 515 ตำบลพลวงสองนาง อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2541 และให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนเพิกถอนการโอนที่ดินดังกล่าว เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2547 หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองขาดนัดยื่นคำให้การ ศาลชั้นต้นพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีไปฝ่ายเดียว ภายหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว จำเลยที่ 2 ขอให้พิจารณาคดีใหม่ ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเพิกถอนการโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 515 ตำบลพลวงสองนาง อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี ซึ่งทำเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2541 และให้จำเลยทั้งสองจดทะเบียนเพิกถอนการโอนที่ดินดังกล่าวซึ่งทำเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2547 หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความในชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายล้วน ผู้ตาย จดทะเบียนสมรสกันเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2510 มีบุตรด้วยกัน 6 คน โดยจำเลยที่ 2 เป็นบุตรคนที่สาม ส่วนโจทก์เป็นบุตรคนสุดท้อง ที่ดินพิพาทคือที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 515 ตำบลพลวงสองนาง อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี เนื้อที่ 21 ไร่ 2 งาน 20 ตารางวา ผู้ตายได้ที่ดินดังกล่าวมาเมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2528 อันเป็นเวลาระหว่างสมรส ผู้ตายถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2529 หลังจากนั้นประมาณ 10 ปี จำเลยที่ 1 จึงยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ต่อมาวันที่ 3 พฤศจิกายน 2540 ศาลมีคำสั่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ในวันที่ 8 มกราคม 2541 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสและเป็นทรัพย์มรดกของผู้ตายกึ่งหนึ่ง เป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดก ในวันที่ 11 มิถุนายน 2541 จำเลยที่ 1 นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองเป็นหลักประกันการกู้ยืมไว้แก่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร วงเงิน 210,000 บาท จำเลยที่ 1 ไถ่ถอนจำนองที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2547 เป็นเงิน 621,072 บาท หลังจากนั้นในวันที่ 16 เมษายน 2547 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 ในราคา 200,000 บาท
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 มีว่า คดีโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1733 วรรคสอง บัญญัติว่า “คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง” เห็นว่า แม้บทบัญญัติดังกล่าวจะเป็นบทจำกัดอายุความฟ้องร้องเป็นกรณีพิเศษ ให้ทายาททั้งหลายต้องดำเนินการฟ้องร้องผู้จัดการมรดกในการกรณีที่จัดการมรดก หรือแบ่งปันทรัพย์มรดกไม่ถูกต้อง เสียภายในเวลาห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลงก็ตาม แต่ต้องหมายถึงกรณีที่ผู้จัดการมรดกดำเนินการแบ่งปันทรัพย์มรดก หรือจัดการทรัพย์มรดกไปตามปกติมิใช่กรณีที่ผู้จัดการมรดกจัดการมรดกโดยมิชอบ ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือเป็นกรณีที่เบียดบัง ยักยอก และปกปิดโดยทายาทไม่รับรู้ สำหรับคดีนี้ จำเลยที่ 2 เบิกความว่าผู้ตายมีทรัพย์มรดกเป็นที่ดิน 3 แปลง เมื่อผู้ตายถึงแก่ความตายไปแล้วประมาณ 10 ปี จำเลยที่ 1 จึงร้องขอจัดการมรดก สำหรับที่ดินพิพาทจำเลยที่ 1 เป็นผู้ครอบครองทำประโยชน์ เชื่อว่าในระหว่างนั้นทายาททุกคนคงยินยอมไว้วางใจให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นมารดาครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินพิพาทไว้แทนทายาทอื่น การที่จำเลยที่ 1 โอนที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 โจทก์เบิกความยืนยันว่า โจทก์และพี่น้องคนอื่นไม่ทราบเรื่อง สอดคล้องกับคำเบิกความของนายอดิเรก ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับโจทก์ จำเลยที่ 2 และมาเป็นพยานจำเลยที่ 2 ว่า ในการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 พี่น้องคนอื่นไม่มีคนใดทราบ และหลังจากผู้ตายถึงแก่ความตายแล้ว ไม่เคยมีพี่น้องคนอื่นได้รับมรดกของผู้ตาย ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามทางนำสืบของโจทก์ว่า นับตั้งแต่จำเลยที่ 1 ได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดกยังไม่มีการแบ่งปันทรัพย์มรดกของผู้ตายให้แก่ทายาทอื่นเลย นอกจากจดทะเบียนโอนขายแก่จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 มิใช่บุตรคนเดียวของผู้ตายกับจำเลยที่ 1 แต่มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันถึง 5 คน บางคนก็แยกไปประกอบอาชีพที่อื่น ไม่ปรากฏว่าผู้ตายทำพินัยกรรมไว้ จำเลยที่ 1 ย่อมทราบดีว่าทรัพย์มรดกของผู้ตายต้องตกได้แก่พี่น้องคนอื่นด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่มีอำนาจจะโอนขายที่ดินส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกไปให้แก่ผู้อื่นโดยทายาทมิได้ให้ความยินยอมทุกคน จำเลยที่ 2 ก็ย่อมทราบข้อเท็จจริงนี้ดีเช่นกัน จะอ้างว่าเป็นผู้ไถ่ถอนที่ดินพิพาทและจำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้เป็นการตอบแทนหาได้ไม่ กรณีไม่อาจถือได้ว่าจำเลยที่ 2 รับโอนโดยสุจริตดังนั้น เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้เช่นนี้ การจัดการมรดกรายนี้จึงไม่ชอบการจัดการมรดกจึงยังไม่สิ้นสุดลงตามกฎหมาย อายุความห้าปียังไม่เริ่มนับ คดีโจทก์ยังไม่ขาดอายุความ ฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดิน แต่ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า ที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสของจำเลยที่ 1 กับผู้ตาย จำเลยที่ 1 จึงมีกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทกึ่งหนึ่ง จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิโดยชอบที่จะทำนิติกรรมในส่วนของจำเลยที่ 1 ได้แม้โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการจัดการมรดกที่ไม่ชอบ ก็ขอให้เพิกถอนได้เฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกกลับคืนสู่กองมรดกเพื่อให้จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกจัดการมรดกเสียใหม่ให้ถูกต้องเท่านั้น จะขอให้เพิกถอนนิติกรรมในส่วนที่มิใช่เป็นทรัพย์มรดกไม่ได้ ที่ศาลล่างพิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยทั้งสองทั้งแปลง เป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีฝ่ายใดฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกมาวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 515 ตำบลพลวงสองนาง อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี ระหว่างจำเลยทั้งสองซึ่งทำเมื่อวันที่ 16 เมษายน 2547 กึ่งหนึ่ง กลับคืนสู่กองมรดกของผู้ตาย มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนา นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share