คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5095/2560

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2), 160 ตรี วรรคหนึ่ง ป.อ. มาตรา 138 วรรคสอง ให้ลงโทษจำเลยตาม ป.อ. มาตรา 138 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักสุดตาม ป.อ. มาตรา 90 เท่ากับศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43,160 ตรี ตามฟ้องโจทก์แล้ว และคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า การขับรถในขณะเมาสุราของจำเลยเป็นเหตุให้ น. ได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยให้การรับสารภาพ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 ตรี วรรคสอง เมื่อศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยผิด ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ย่อมปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ ทั้งบทบัญญัติให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยเป็นมาตรการทำนองเดียวกันกับวิธีการเพื่อความปลอดภัยในการที่จะคุ้มครองประชาชนทั่วไปมิให้ได้รับอันตรายที่อาจเกิดจากการกระทำของจำเลย และเป็นบทบัญญัติที่บังคับให้ศาลต้องมีคำสั่งดังกล่าว ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง และไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือมิได้กล่าวในฟ้องอุทธรณ์
การวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพและมิได้ยกปัญหาข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดขึ้นต่อสู้ในชั้นศาลชั้นต้น ดังนี้ ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดตามที่จำเลยยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 15
เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามฟ้องว่า จำเลยขับรถในขณะเมาสุรา เมื่อถึงที่เกิดเหตุ ดาบตำรวจ ป. และ น. ผู้ซึ่งต้องช่วยเหลือเจ้าพนักงานตามกฎหมายกับพวก ตั้งจุดตรวจสกัดเพื่อป้องกันอาชญากรรม ดาบตำรวจ ป.ได้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานเพื่อขอตรวจสอบ แต่จำเลยขับรถหลบหนีและพุ่งชนแผงกั้นถนนจนกระเด็นถูก น. ได้รับอันตรายแก่กาย การกระทำของจำเลยเป็นการขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายและต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติหน้าที่แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 160 ตรี ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 และให้เพิกถอนหรือพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนดไม่น้อยกว่าหกเดือน
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2), 160 ตรี วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง โจทก์บรรยายฟ้องเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว แม้ทางพิจารณาจะได้ความว่าจำเลยกระทำความผิดหลายกรรม ศาลจะลงโทษจำเลยหลายกรรมเรียงกระทงแต่ละกรรมเป็นการกระทำความผิดนั้นไม่ได้ จึงให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 1 ปี จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 เดือน พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนด 8 เดือน นับแต่มีคำพิพากษา
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 ตรี วรรคสอง ให้ลงโทษในฐานความผิดดังกล่าวซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนด 1 ปี โทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อแรกว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ปรับบทลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 ตรี วรรคสอง และพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลยมีกำหนด 1 ปี ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 (2), 160 ตรี วรรคหนึ่ง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง โจทก์บรรยายฟ้องเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว ให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 เท่ากับศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43, 160 ตรี ตามฟ้องโจทก์แล้ว แต่เมื่อความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138 วรรคสอง เป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จึงกำหนดโทษตามบทบัญญัติดังกล่าวเท่านั้น มิใช่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานดังกล่าวตามที่จำเลยฎีกา และคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า การขับรถในขณะเมาสุราของจำเลยเป็นเหตุให้นายนคร ได้รับอันตรายแก่กาย จำเลยให้การรับสารภาพ การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 160 ตรี วรรคสอง เมื่อศาลชั้นต้นปรับบทลงโทษจำเลยผิด ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ย่อมปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้องได้ ทั้งบทบัญญัติให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ของจำเลย เป็นมาตรการทำนองเดียวกันกับวิธีการเพื่อความปลอดภัยในการที่จะคุ้มครองประชาชนทั่วไปมิให้ได้รับอันตรายที่อาจเกิดจากการกระทำของจำเลย และเป็นบทบัญญัติที่บังคับให้ศาลต้องมีคำสั่งดังกล่าวเมื่อศาลพิพากษาลงโทษผู้ใดตามมาตรา 160 ตรี วรรคสอง เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 5 ปรับบทลงโทษจำเลยให้ถูกต้อง จึงต้องมีคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตจำเลยมีกำหนดไม่น้อยกว่า 1 ปี ตามที่บัญญัติไว้ในมาตราดังกล่าวด้วย กรณีเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขให้ถูกต้องได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง และไม่เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือมิได้กล่าวในฟ้องอุทธรณ์ตามที่จำเลยฎีกา คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้อที่ว่าจำเลยมิได้มีเจตนาต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า การวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่ได้มาจากการดำเนินกระบวนพิจารณาโดยชอบในศาลชั้นต้น เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพและมิได้ยกปัญหาข้อข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดขึ้นต่อสู้ในศาลชั้นต้น ดังนี้ ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยไม่มีเจตนากระทำความผิดตามที่จำเลยยกขึ้นในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อกฎหมายที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ตามฟ้องว่า จำเลยขับรถในขณะเมาสุรา เมื่อถึงที่เกิดเหตุดาบตำรวจ ปรีชา เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรช้างเผือก และนายนคร ผู้ซึ่งต้องช่วยเหลือเจ้าพนักงานตามกฎหมายกับพวก ตั้งจุดตรวจสกัดเพื่อป้องกันอาชญากรรม ดาบตำรวจ ปรีชาได้แสดงตนเป็นเจ้าพนักงานเพื่อขอตรวจสอบ แต่จำเลยขับรถหลบหนีและพุ่งชนแผงกั้นถนนจนกระเด็นถูกนายนครได้รับอันตรายแก่กาย การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการขับรถในขณะเมาสุราเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายและต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่แล้ว จำเลยจึงมีความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share