คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8065/2538

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสองโดยอ้างมูลคดีว่าจำเลยทั้งสองผิดสัญญาเช่าซื้อและค้ำประกันที่โจทก์กับจำเลยทั้งสองทำกันไว้ส่วนผู้ร้องขอเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามโดยอ้างนิติสัมพันธ์ตามสัญญาซื้อขายที่ผู้ร้องกับจำเลยที่1มีต่อกันเป็นคำร้องขอเพื่อยังให้ได้รับความรับรองคุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา57(1)ซึ่งเป็นคำฟ้องตามมาตรา172วรรคสองที่ต้องแสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับแต่คำร้องของผู้ร้องมิได้มีคำขอบังคับโดยชัดแจ้งหรือมีคำขอบังคับอยู่ในตัวว่าอย่างไรเป็นคำร้องที่ไม่ชอบ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2533 จำเลยที่ 1ได้เช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า หมายเลขทะเบียน ม-8214 นครราชสีมาไปจากโจทก์ราคา 553,200 บาท จำเลยที่ 1 ชำระราคาในวันทำสัญญา150,000 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระเป็นงวดละเดือน โดยมีจำเลยที่ 2เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ได้รับรถยนต์คันดังกล่าวไปเรียบร้อยแล้วในวันทำสัญญา นับแต่จำเลยที่ 1 ได้เช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์จำเลยที่ 1 ชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์เพียง 26 งวด ต่อจากนั้นจำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระอีกเลย โจทก์จึงบอกเลิกสัญญา ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันรับผิดส่งมอบคืนการครอบครองรถยนต์ให้แก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อยใช้การได้ หากคืนรถยนต์ไม่ได้ต้องชำระราคาแทน 553,200 บาท และค่าเสียหายจากการขาดประโยชน์ใช้สอย59,600 บาท กับต่อไปอีกวันละ 100 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะคืนรถยนต์หรือชำระราคาเสร็จสิ้น
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 เช่าซื้อรถยนต์มาจากโจทก์จริง แต่จำเลยที่ 1 ได้ขายให้แก่บริษัทอยู่ไทยอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยโจทก์ทราบแล้วและไม่คัดค้านอีกทั้งมีการส่งมอบรถยนต์ให้แก่บริษัทดังกล่าวโดยพนักงานของโจทก์เป็นผู้ขับไปส่ง ในการชำระค่าเช่าซื้อ เมื่อจำเลยที่ 1ได้รับเงินจากบริษัทอยู่ไทยอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด แล้วจำเลยที่ 1 ก็นำไปชำระให้แก่โจทก์ทุกครั้งจนถึงเดือนกุมภาพันธ์2535 จำเลยที่ 1 แจ้งให้โจทก์ไปโอนชื่อทางทะเบียนให้แก่บริษัทอยู่ไทยอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ต่อมาประมาณกลางปี 2535จำเลยที่ 1 พบกับผู้จัดการของบริษัทอยู่ไทยอินเตอร์เนชั่นแนลจำกัด จำเลยที่ 1 จึงทราบว่าโจทก์ยังไม่ได้จัดการโอนทางทะเบียนโดยอ้างว่า บริษัทดังกล่าวไม่ยอมเสียค่าธรรมเนียมการโอนและดอกเบี้ยให้แก่โจทก์อีก ตามเหตุผลดังกล่าวจำเลยทั้งสองจึงหลุดพ้นจากความรับผิดที่ต้องชำระหนี้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
บริษัทอยู่ไทยอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ผู้ร้องยื่นคำร้องว่าผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์ยี่ห้อโตโยต้าหมายเลขทะเบียน ม-8214นครราชสีมา โดยซื้อมาจากจำเลยที่ 1 ผู้ร้องได้ชำระราคาให้แก่จำเลยที่ 1 บางส่วนแล้ว ส่วนที่เหลือชำระราคาโดยผ่อนชำระเป็นงวดเมื่อผู้ร้องผ่อนชำระราคาครบแล้ว ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 ไปโอนชื่อทางทะเบียน แต่จำเลยที่ 1 ผัดผ่อนเรื่อยมา ผู้ร้องจึงไปตรวจสอบทะเบียนที่สำนักงานขนส่งจังหวัดนครราชสีมา ทราบว่าโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รถยนต์คันดังกล่าว ผู้ร้องจึงได้ฟ้องจำเลยที่ 1ต่อศาลชั้นต้น ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้นผู้ร้องจึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายในคดีนี้มีความจำเป็นเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครอง หรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่ ขอให้ไต่สวนและมีคำสั่งให้ผู้ร้องเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สาม
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่า คดีนี้โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยทั้งสอง โดยอ้างมูลคดีว่า จำเลยทั้งสองผิดสัญญาเช่าซื้อและค้ำประกันที่โจทก์กับจำเลยทั้งสองทำกันไว้ สำหรับคำร้องของผู้ร้อง ผู้ร้องขอเข้าเป็นคู่ความฝ่ายที่สามโดยอ้างนิติสัมพันธ์ตามสัญญาซื้อขายที่ผู้ร้องกับจำเลยที่ 1 มีต่อกัน คำร้องของผู้ร้องเป็นคำร้องขอเพื่อยังให้ได้รับความรับรอง คุ้มครองหรือบังคับตามสิทธิของผู้ร้องที่มีอยู่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57(1) ดังนั้น คำร้องของผู้ร้องจึงเป็นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสองที่ต้องแสดงโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับ แต่ตามคำร้องของผู้ร้องนั้น มิได้มีคำขอบังคับโดยชัดแจ้งหรือมีคำขอบังคับอยู่ในตัวว่าอย่างไร เป็นคำร้องที่ไม่ชอบ และไม่ได้รับยกเว้นไม่จำต้องมีคำขอบังคับ ศาลล่างทั้งสองไม่รับคำร้องของผู้ร้องชอบแล้ว”
พิพากษายืน

Share