คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 120/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์มีที่ดินอยู่แปลงเดียวปรารภว่าจะแบ่งให้บุตรทั้ง 4 คน อ.ซึ่งเป็นบุตรีคนหนึ่งกับ ช.สามีรบเร้าให้แบ่งที่ดินยกให้ อ.ก่อน โดยรับรองจะส่งเสียเลี้ยงดูโจทก์เดือนละ 200 บาท ครั้นโจทก์แบ่งแยกที่ดินแล้ว อ.กับ ช.ก็แนะนำให้โอนที่ดินแปลงที่จะยกให้แก่ อ.นั้น โดยทำนิติกรรมเป็นขายให้แก่ ช. โดยโจทก์มิได้รับเงนเลยเมื่อไ้ดที่ดินแล้ว อ.กับ ช. ก็ส่งเสียเงินแก่โจทก์ตามที่รับรอง ต่อมา ช.เกิดผิดใจกับโจทก์ ช.กับ อ.ก็ถือโกรธไม่ยอมส่งเสียเลี้ยงดูโจทก์ ทำให้โจทก์ประสบความแร้นแค้น และ ช.ยังด่าว่าโจทก์ว่า “คนแก่หัวหงอก พูดจากลับกลอก ไม่มีสัตย์” ต่อหน้าบุคคลหลายคนซึ่งเป็นญาติก็มี ไม่ใช่ญาติก็มี ดังนี้ โจทก์ย่อมฟ้อง ช.เรียกถอนคืนการให้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 531(2)(3)
โจทก์โอนที่ดินให้จำเลยโดยทำนิติกรรมเป็นขายให้ แล้วนำพยานบุคคลมาสืบหักล้างพยานเอกสารว่าโจทก์ถูกจำเลยหลอกลวงให้โอนให้ โดยโจทก์มิได้สมัครใจและมิได้รับเงินราคาที่ดินนั้น ดังนี้ โจทก์มีสิทธินำสืบได้เพราะเป็นการนำสืบทำลายล้างเอกสารนั้นว่ามีขึ้นโดยมิชอบด้วยกฎหมาย
จำเลยซึ่งเป็นบุตรีโจทก์ หลอกโจทก์ว่า ย.ผู้เคยมีกรณีขัดแย้งอยู่กับโจทก์จะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ ขอให้โจทก์โอนที่ดินให้เป็นของจำเลยเสีย หากแพ้คดีจะได้ไม่ถูกยึด ทั้งรับรองว่าภายหลังจะโอนกลับคืนให้ แล้วจำเลยก็ให้โจทก์นำนิติกรรมเป็นโอนขายแก่จำเลย โดยโจทก์มิได้สมัครใจและมิได้รับเงินเลย ดังนี้ต่อมาโจทก์รู้ตัวว่าถูกหลอกลวง ได้เตือนให้จำเลยโอนคืนแล้ว จำเลยขัดขืน โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายนั้นเสียได้
โจทก์ฎีกาโดยรับอนุญาตให้ฟ้องฎีกาได้อย่างคนอนาถา เมื่อจำเลยแพ้คดีในชั้นศาลฎีกาและศาลเห็นว่าจำเลยจะต้องเป็นผู้รับผิดเสียค่าฤชาธรรมเนียมของคู่ความทั้งสองฝ่าย ศาลฎีกาย่อมสั่งให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมโดยเฉพาะค่าธรรมเนียมษลในชั้นฎีกานั้นให้จำเลยชำระต่อศาลในนามของโจทก์ผู้ฎีกาอย่างคนอนาถาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 158

ย่อยาว

คดี ๒ สำนวนนี้ บิดามารดาเป็นโจทก์ฟ้องบุตรเขยเป็นจำเลยสำนวนหนึ่ง กับฟ้องบุตรเขยคนนั้นกับบุตรสาว ๒ คนเป็นจำเลยร่วมกันอีกสำนวนหนึ่ง ศาลพิจารณารวมกัน
ในสำนวนแรก โจทก์ฟ้องขอถอนคืนการให้ที่ดินโฉนดที่ ๒๘๒๗ จากนายชาญจำเลยโดยอ้างเหตุว่าจำเลยประพฤติเนรคุณ
ในสำนวนหลัง โจทก์ฟ้องขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทนและเพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดที่๒๘๒๖,๒๘๒๘ และ ๒๘๒๙ ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เสีย โดยอ้างเหตุว่าจำเลยร่วมกันทำกลฉ้อฉลให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ให้แก่จำเลยที่ ๑ นิติกรรมตกเป็นโมฆียะ และโจทก์ได้เตือนให้จำเลยโอนกลับคืนแก่โจทก์แล้ว
จำเลยทั้ง ๒ สำนวนให้การต่อสู้คดี
ศาลชั้นต้นพิพากษาในสำนวนแรกให้ถอนคืนการให้ที่ดินโฉนดที่ ๒๘๒๗ จากจำเลยคืนให้โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย โดยให้จำเลยชำระค่าธรรมเนียมการโอนแต่ผู้เดียว ส่วนสำนวนหลังให้เพิกถอนนิติกรรมซื้อขายที่ดินโฉนดที่ ๒๘๒๖,๒๘๒๘ และ ๒๘๒๙ ให้จำเลยที่ ๑ โอนกลับคืนให้แก่โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ ๑ ค่าธรรมเนียมการโอนให้จำเลยที่ ๑ เสียแต่ผู้เดียว
จำเลยในสำนวนแรกอุทธรณ์ ส่วนสำนวนหลังจำเลยที่ ๑ กับที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องทั้ง ๒ สำนวน
โจทก์ฎีกาทั้ง ๒ สำนวน โดยได้รับอนุญาตให้ฟ้องฎีกาได้อย่างคนอนาถา
ศาลฎีกาฟังว่า โจทก์มีสมบัติอยู่เฉพาะที่ดินโฉนดที่ ๕๒๕ เนื้อที่ ๕๕๖ ๙/๑๐ ตารางวา ภายในที่ดินนี้มีเรือนของโจทก์ที่โจทก์อยู่กับบุตร ๔ คน นางอาภาจำเลยออกเรือนไปอยู่กับสามีต่างหาก ที่ดินที่เหลือโจทก์ให้คนเช่าปลูกบ้าน โจทก์ได้อาศัยค่าเช่านี้เลี้ยงชีพ โจทก์ปรารภว่าจะแพ่งที่ดินนี้ให้แก่บุตรทุกคน แต่จะสงวนไว้เลี้ยงชีพไปก่อน นายชาญจำเลยได้มาเป็นสามีนางอาภาจำเลยโดยมิได้จดทะเบียนสมรส โจทก์อยู่ในวัยชรามาก อะไร ๆ ก็ต้องอาศัยบุตรเป็นประมาณ นายชาญจำเลยจัดการขับไล่ผู้เช่าออกไปแล้วตกลงทำสัญญากับนายยู่ซ้องให้มาลงทุนก่อสร้างตึกแถวให้เช่า โดยเรียกเงินกินเปล่าจากผู้สร้าง แล้วจะได้ตึกเป็นกรรมสิทธิ์ด้วย โดยนายชาญเป็นคู่สัญญากับนายยู่ซ้ง ก่อนเกิดสัญญานี้ นางอาภากับนายชาญรบเร้าขอให้แบ่งที่ดินยกให้นางอาภาเสียก่อนคนอื่น โดยรับรองจะส่งเสียเลี้ยงดูโจทก์เดือนละ ๒๐๐ บาท โจทก์จึงขอแบ่งแยกโดยระบุว่าเพื่อขายให้นางอาภา ขณะรังวัดโจทก์ได้ขอแบ่งแยกเพิ่มขึ้นอีก ๓ แปลงได้รับโฉนดใหม่ที่แบ่งแยก คือ โฉนดที่ ๒๘๒๖,๒๘๒๗,๒๘๒๘,๒๘๒๙ ที่ดินโฉนดที่ ๒๘๒๗ ที่ดินโฉนดที่ ๒๘๒๗ ที่โจทก์จะยกให้นางอาภาจำเลยนั้น จำเลยอ้างเหตุแนะนำให้ทำเป็นขาย และเวลาโอนขายก็แนะนำให้ทำเป็นขายให้แก่นายชาญจำเลย โจทก์จึงโอนขายให้แก่นายชาญโดยมิได้รับเงินเลย เมื่อได้ที่ดินแล้วจำเลยก็ส่งเสียแก่โจทก์เป็นปัจจัยในการเลี้ยงชีพตามที่รับรองไว้ ต่อมาในการทำสัญญากับนายยู่ซ้งดังกล่าวนั้น ข้อความในสัญญามีว่า นายชาญจำเลยเป็นผู้ให้ก่อสร้างในที่ดินโฉนดใหม่ทั้ง ๔ ฉบับ อันเป็นที่ดินของผู้ให้ก่อสร้าง สร้างเสร็จแล้วยอมยกกรรมสิทธิ์สิ่งที่ก่อสร้างให้แก่ผู้ให้ก่อสร้าง และจะให้เงินแก่ผู้ให้ก่อสร้างด้วย ๒๐๐,๐๐๐ บาทโดยให้ก่อนในวันทำสัญญา ๓๐,๐๐๐ บาท แล้วผู้ให้ก่อสร้างจะทำสัญญาให้เช่าตึกแถวนั้น ๑๐ ปี ครั้นโจทก์ทราบข้อตกลงในสัญญานั้นแล้วก็ไม่พอใจ ได้เข้าขัดขวาง นายยู่ซ้งจึงไม่ลงมือก่อสร้างและเรียกเงิน ๓๐,๐๐๐ บาทคืนจากนายชาญจำเลย นายชาญโกรธเคืองมาก ได้ด่าโจทก์ต่อหน้าบุคคลหลายคน ตอนหนึ่งว่า “คนแก่หัวหงอก พูดจากลับกลอก ไม่มีสัตย์” นายอรรคพลหลานชายโจทก์อดโทสะไม่ไหว ได้ตีศีรษะนายชาญ เมื่อเกิดขัดแย้งกันแล้ว นายชาญและนางอาภาจำเลยก็ถือโกรธไม่ยอมส่งเสียเลี้ยงดูโจทก์ ทำให้โจทก์ประสบความแร้นแค้น การที่นายอรรคพลตีศีรษะนายชาญนั้น นายชาญได้ไปแจ้งความต่อตำรวจ และเกิดเหตุแล้วนางสาวจินตนาก็ไปฝักใฝ่อยู่กับนางอาภาและนายชาญจำเลย หลังจากเกิดเหตุนี้ ๓ วัน นางสาวจินตนาจำเลยได้ไปหาโจทก์ล่อให้โจทก์ไปที่บ้านนายชาญนางอาภาจำเลย แล้วนางอาภาจำเลยหลอกลวงโจทก์ว่านายยู่ซ้งจะฟ้องเรียกค่าเสียหายจากโจทก์ ขอให้โจทก์โอนที่ดินตามโฉนดใหม่อีก ๓ โฉนดให้เป็นของนางสาวจินตนาเสียก่อน หากแพ้คดีคดีจะได้ไม่ถูกยึด ทั้งนางสาวจินตนาจำเลยก็รับรองว่าพอให้เสร็จการสร้างตึกแล้วก็จะโอนกลับคืนให้ โจทก์จึงยอม แล้วนางสาวจินตนากับนางอาภาจำเลยก็พาโจทก์ไปสำนักงานที่ดิน ชั้นแรกโจทก์จะโอนโดยยกให้ แต่นางสาวจินตนาให้ทำเป็นโอนขาย ก็เลยยอมโดยไม่สมัครใจ โดยโจทก์มิได้รับเงินเลย ต่อมาโฉนดที่เคยเก็บไว้ในตู้หายไปหมด โจทก์ที่ ๒ จึงไปถามนางสาวจินตนาจำเลย ๆ ว่านำไปฝากไว้ที่ธนาคาร โจทก์ที่ ๒ ขอคืน นางสาวจินตนาไม่ยอมคืน โจทก์จึงไปแจ้งความ นางสาวจินตนาก็นำโฉนดที่ ๕๒๕ คืนให้ ส่วนอีก ๓ โฉนดไม่ยอมคืน
ศาลฎีกาเห็นว่า
๑,พฤติการณ์ระหว่างนายชาญจำเลยกับโจทก์พอถือได้ว่าผู้รับยกให้ได้บอกปัดไม่ยอมให้สิ่งของจำเป็นเลี้ยงชีวิตแก่ผู้ยกให้ในเวลาที่ผู้ยกให้ยากไร้ และผู้รับยกให้ยังสามารถจะให้ได้ ต้องตามมาตรา ๕๓๑(๓) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และการที่นายชาญจำเลยด่าว่าโจทก์ตอนหนึ่งว่า “คนแก่หัวหงอก พูดจากลับกลอก ไม่มีสัตย์” ต่อหน้าบุคคลหลายคนซึ่งเป็นญาติก็มี ไม่ใช่ญาติก็มีนั้น พอถือได้ว่าผู้รับยกให้ได้ทำให้ผู้ให้เสียชื่อเสียงหรือหมิ่นประมาทผู้ยกให้อย่างร้ายแรง ต้องมาตรา ๕๓๑(๒) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิขย์ด้วย ทำนองเดียวกับฎีกาที่ ๑๖๖/๒๔๙๖
๒.ในสำนวนหลัง ที่นางสาวจินตนาจำเลยโต้แย้งว่าโจทก์จะนำพยานบุคคลสืบหักล้างพยานเอกสารว่าโจทก์โอนขายที่ดินให้แก่จำเลยที่ ๑ โดยถูกหลอกลวงไม่ได้นั้นฟังไม่ขึ้น เพราะมิใช่เป็นการนำสืบแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงข้อความในเอกสารนั้น แต่เป็นการนำสืบทำลายล้างเอกสารนั้นว่ามีขึ้นโดยมิชอบด้วยกฎหมายต่างหาก และข้อเท็จจริงฟังได้ว่านางสาวจินตนากับนางอาภาจำเลยร่วมมือกันกล่าวตลบหน้าตลบหลังหลอกลวงโจทก์จนหลงเชื่อยอมโอนที่ดิน ๓ โฉนดนั้นให้แก่นางสาวจินตนาจำเลยไปโดยมิได้รับค่าตอบแทนเลย หาใช่โจทก์ตกลงโอนขายให้แก่จำเลยด้วยใจสมัครและได้รับเงินราคาไม่
จึงพิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และให้นายชาญจำเลยในสำนวนแรกและนางสาวจินตนากับนางอาภาจำเลยในสำนวนหลังใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และฎีกาแต่ละสำนวน โดยกำหนดค่าทนายความสำหรับสองศาลนี้สำนวนละห้าพันบาทโดยเฉพาะค่าธรรมเนียมศาลในชั้นฎีกานั้น ให้จำเลยชำระต่อศาลในนามของโจทก์ผู้ฟ้องฎีกาอย่างคนอนาถาตามที่บัญญัติในมาตรา ๑๕๘ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

Share