คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2704/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การยื่นคำร้องขอคืนเงินอากรตามพระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 19 ก่อนถูกยกเลิกโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 329 นั้น ผู้นำเข้าจะต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนถูกต้องตามข้อบังคับที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนดไว้หากไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนกฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าห้ามมิให้รับพิจารณาคำร้อง แต่มาตรา 19 วรรคท้ายที่บัญญัติขึ้นใหม่มิได้มีบทบัญญัติห้ามมิให้พิจารณาคำขอคืนเงินอากรในกรณีที่มิได้ปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนไว้แสดงว่ากฎหมายมิได้ถือเอาการปฏิบัติตามข้อบังคับของอธิบดีกรมศุลกากรโดยถูกต้องครบถ้วนเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการพิจารณาคืนเงินอากร หากโจทก์ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 19(ก)ถึง(ง) แล้ว จำเลยจะเอาเหตุที่โจทก์ยื่นคำขอโดยใช้แบบพิมพ์ผิดไปจากแบบที่อธิบดีกำหนดไว้มาเป็นข้ออ้างในการปฏิเสธไม่คืนเงินอากรให้แก่โจทก์หาได้ไม่โจทก์ยื่นคำขอตามแบบที่ 226 ง. ซึ่งเป็นแบบขอคืนเงินอากรตามมาตรา 19 ทวิ แทนที่จะยื่นคำขอตามแบบที่ 226 แต่โจทก์ก็ยื่นภายในหกเดือนนับแต่วันที่ส่งของนั้นกลับออกไปยังเมืองต่างประเทศเป็นการยื่นภายในกำหนดเวลาตามมาตรา 19(ง) แล้ว จำเลยต้องคืนเงินภาษีอากรให้โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้นำเข้าสินค้าผ้าใยสังเคราะห์ ทอแบบถักจากต่างประเทศ เพื่อนำมาผลิตเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูปส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศ แต่ปรากฏว่าในจำนวนสินค้าผ้าที่โจทก์นำเข้ามาในราชอาณาจักรครั้งนี้มีผ้าที่ไม่ได้คุณภาพเป็นบางส่วนโจทก์จึงได้ยื่นคำร้องต่อกองพิธีการและประเมินอากรของจำเลยขอส่งสินค้าที่ไม่ได้คุณภาพดังกล่าวกลับคืนไปยังต่างประเทศเพื่อขอคืนภาษีอากรในลักษณะ รีเอ็กซ์ปอร์ต จำเลยอนุมัติให้โจทก์ส่งผ้าคืนออกไปได้ โจทก์จึงส่งผ้าที่ไม่ได้คุณภาพดังกล่าวออกไปโจทก์ยื่นคำร้องขอคืนอากรสำหรับสินค้าที่ได้ส่งคืนออกไปยังต่างประเทศ โดยยื่นคำร้องแบบที่ 226 ง. ตามมาตรา 19 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 ทั้งนี้ด้วยความสำคัญผิดของโจทก์ ต่อมาเจ้าหน้าที่ของจำเลยได้แจ้งให้โจทก์ทราบว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนเงินอากรผิดแบบ โดยที่ถูกจะต้องยื่นคำร้องแบบที่ 226 ตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 ให้โจทก์แก้ไขเสียให้ถูกต้อง โจทก์จึงได้ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำร้องขอคืนอากรเดิม แต่จำเลยมีหนังสือแจ้งให้โจทก์ชำระภาษีอากรและเงินเพิ่ม โจทก์จึงยื่นอุทธรณ์ต่ออธิบดีกรมศุลกากร และโจทก์ได้พยายามร้องขอความเป็นธรรมจากจำเลยหลายครั้ง ในที่สุดจำเลยได้มีหนังสือแจ้งว่า โจทก์ไม่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดในประกาศกรมศุลกากรที่ 27/2523 จึงไม่อาจพิจารณาคืนเงินอากรให้แก่โจทก์ ให้โจทก์ชำระภาษีอากรและเงินเพิ่มให้เสร็จสิ้นภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือดังกล่าว โจทก์เห็นว่าคำสั่งของจำเลยที่ให้โจทก์ชำระเงินภาษีอากรไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์จึงไม่ชำระจำเลยได้มีหนังสือถึงธนาคารนครหลวงไทยจำกัด ให้ชำระภาษีอากรและเงินเพิ่มตามที่ได้ค้ำประกันไว้ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด จึงนำเงินค่าภาษีอากรและเงินเพิ่มไปชำระแก่จำเลย และโจทก์ได้ชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด โจทก์เห็นว่าคำสั่งของจำเลยไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะโจทก์ได้ยื่นคำร้องขอคืนเงินอากรต่อจำเลยภายในกำหนด 6 เดือนนับแต่วันที่ส่งผ้ากลับออกไป แม้แบบพิมพ์ที่ใช้ในการยื่นจะเป็นแบบสำหรับการยื่นตามมาตรา 19 ทวิ ก็ตาม แต่โดยเจตนาแท้จริงของโจทก์ก็คือขอคืนเงินอากรตามมาตรา 19 จำเลยต้องรับผิดคืนเงินอากรขาเข้าให้แก่โจทก์ พร้อมทั้งคืนเงินค่าภาษีการค้า ภาษีบำรุงเทศบาลและค่าธรรมเนียมพิเศษที่จำเลยรับชำระไว้จากธนาคารนครหลวงไทยจำกัด ขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,922,242.40 บาทพร้อมทั้งดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่จำเลยรับชำระค่าภาษีต่าง ๆ จากโจทก์จนถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 34,840.02 บาท รวมเป็นเงิน 1,957,082.42 บาท ให้แก่โจทก์และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีจากต้นเงิน1,922,242.40 บาท นับจากวันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จให้แก่โจทก์
จำเลยให้การว่า มาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 ได้บัญญัติโดยชัดแจ้งแล้วว่าการคืนเงินอากรตามมาตรา 19 ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขตามข้อ (ก)-(ง) โดยเฉพาะข้อ (ง) ระบุว่าผู้นำเข้าต้องขอคืนเงินอากรภายใน 6 เดือนนับแต่วันที่ส่งของนั้นกลับออกไป และในวรรคท้ายก็ให้อำนาจอธิบดีออกข้อบังคับว่าด้วยวิธีการอื่น ๆ เกี่ยวกับการขอคืนเงินอากรนี้ซึ่งอธิบดีกรมศุลกากรได้ออกคำสั่งที่ 27/2523 โดยกำหนดแบบพิมพ์การยื่นขอเงินคืนอากรตามมาตรา 19 ให้ใช้แบบที่ 226 เท่านั้นฉะนั้นผู้นำเข้าจะขอเงินอากรคืนต้องใช้แบบที่ 226 ยื่นคำร้องขอคืนอากร เมื่อปรากฏว่าโจทก์มิได้ยื่นแบบที่ 226 คืนเงินอากรตามมาตรา 19 ภายในเวลา 6 เดือนนับแต่วันส่งของนั้นกลับออกไปต่อเจ้าหน้าที่จำเลย โจทก์จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินอากรคืนตามมาตรา 19ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 1,922,242.40 บาทพร้อมดอกเบี้ยจำนวน 34,840.02 บาท รวมเป็นเงิน 1,957,082.42บาท แก่โจทก์ และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 1,922,242.40 บาท นับจากวันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จให้โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าสินค้าที่โจทก์ส่งออกไปยังเมืองต่างประเทศเป็นสินค้าที่โจทก์นำเข้ามาตามใบขนสินค้าขาเข้าและแบบแสดงรายการการค้าเลขที่ซี. 055-00070/1 พ.ค. 2525 และเลขที่ ซี. 055-00208/11 พ.ค. 2525หลังจากโจทก์ส่งสินค้าออกไปต่างประเทศแล้วโจทก์จะต้องยื่นเรื่องขอคืนเงินอากรตามแบบที่ 226 แต่โจทก์ใช้แบบที่ 226 ง. ต่อมาเมื่อเกินระยะเวลา 6 เดือนแล้วโจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขคำขอคืนเงินอากรจาก แบบที่ 226 ง. มาเป็นแบบที่ 226 คงมีปัญหาในชั้นนี้ตามอุทธรณ์ของจำเลยว่าการที่โจทก์ยื่นคำขอคืนเงินอากรโดยใช้แบบพิมพ์ผิดไปจากแบบที่อธิบดีของจำเลยกำหนดไว้ จะเป็นเหตุให้จำเลยไม่ต้องคืนเงินอากรให้แก่โจทก์ตามมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร(ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 หรือไม่
พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9)พ.ศ. 2482 มาตรา 19 ซึ่งบัญญัติขึ้นใหม่โดยข้อ 18 แห่งประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 329 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2515 ได้กำหนดเงื่อนไขในการคืนอากรขาเข้าให้แก่ผู้นำของเข้า ในกรณีที่นำของเข้ามาในราชอาณาจักรและเสียอากรแล้ว แต่ได้ส่งของนั้นกลับออกไปนอกราชอาณาจักร รวม 4 ประการ คือ (ก) ระหว่างที่อยู่ในราชอาณาจักร ของนั้นมิได้ใช้ประโยชน์ด้วยประการใด ๆ เว้นแต่เพื่อวัตถุประสงค์ในการส่งของนั้นกลับออกไป และมิได้เปลี่ยนแปลงรูปลักษณะใด ๆ (ข) ของนั้นได้ส่งกลับออกไปทางท่าเรือหรือที่สำหรับส่งออกซึ่งของที่ขอคืนอากรขาเข้า (ค) ของนั้นได้ส่งกลับออกไปภายในหนึ่งปีนับแต่วันนำเข้า และ (ง) ต้องขอคืนเงินอากรภายในหกเดือนนับแต่วันที่ส่งของนั้นกลับออกไป และมาตรา 19วรรคท้าย บัญญัติว่า “อธิบดีมีอำนาจออกข้อบังคับว่าด้วยการพิสูจน์ของการส่งของกลับออกไป การจัดทำ และยื่นเอกสารต่าง ๆ การคำนวณเงินอากรที่พึงคืนให้ และวิธีการอื่น ๆ เกี่ยวกับการขอคืนเงินอากรนี้” แต่พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา19 วรรคท้าย ก่อนถูกยกเลิกโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 329ดังกล่าว บัญญัติว่า “ให้อธิบดีมีอำนาจออกข้อบังคับศุลกากรว่าด้วยวิธีการพิสูจน์ของการส่งของกลับออกไป การยื่นสมุดเอกสารต่าง ๆการคำนวณเงินอากรที่พึงคืนให้และวิธีการอื่น ๆ เกี่ยวกับการยื่นคำร้องขอคืนเงิน และห้ามมิให้รับพิจารณาคำร้องขอคืนเงินอากรรายใด ๆ เว้นไว้แต่จะได้ปฏิบัติครบถ้วนแล้วตามข้อบังคับที่กล่าวนั้น” จากบทบัญญัติดังกล่าวเห็นได้ว่าการยื่นคำร้องขอคืนเงินอากรตามมาตรา 19 ก่อนถูกยกเลิกโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 329นั้น ผู้นำเข้าจะต้องปฏิบัติให้ครบถ้วนถูกต้องตามข้อบังคับที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนดไว้ หากไม่ปฏิบัติให้ถูกต้องครบถ้วนกฎหมายบัญญัติไว้ชัดแจ้งว่าห้ามมิให้รับพิจารณาคำขอร้องคืนเงินอากร แต่มาตรา 19 วรรคท้าย ที่บัญญัติขึ้นใหม่โดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 329 มิได้มีบทบัญญัติห้ามมิให้พิจารณาคำขอคืนเงินอากรในกรณีที่มิได้ปฏิบัติถูกต้องครบถ้วนไว้แสดงว่าการขอคืนเงินอากรตามมาตรา 19 ที่บัญญัติขึ้นใหม่นี้กฎหมายมิได้ถือเอาการปฏิบัติตามข้อบังคับของอธิบดีกรมศุลกากรโดยถูกต้องครบถ้วนเป็นเงื่อนไขหนึ่งในการพิจารณาคืนเงินอากรให้แก่ผู้นำเข้าเหมือนที่เคยบัญญัติไว้เดิม ดังนั้น หากโจทก์ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในมาตรา 19 (ก) ถึง (ง) แล้ว จำเลยจะยกเอาเหตุที่โจทก์ยื่นคำขอคืนเงินอากรโดยใช้แบบพิมพ์ผิดไปจากแบบที่อธิบดีของจำเลยได้กำหนดไว้มาเป็นข้ออ้างในการปฏิเสธไม่คืนเงินอากรให้แก่โจทก์หาได้ไม่ แม้โจทก์ยื่นคำขอคืนเงินอากรตามแบบที่226 ง. ซึ่งเป็นแบบที่ใช้ขอคืนเงินอากรตามมาตรา 19 ทวิ แห่งพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 แทนที่จะยื่นคำขอคืนเงินอากรตามแบบที่ 226 ง. แต่โจทก์ก็ยื่นคำขอดังกล่าวภายในหกเดือนนับแต่วันที่ส่งของนั้นกลับออกไปยังเมืองต่างประเทศ ถือได้ว่าโจทก์ได้ขอคืนเงินอากรภายในกำหนดเวลาตามเงื่อนไขในมาตรา19 (ง) แล้ว จำเลยจึงต้องคืนเงินภาษีอากรตามฟ้องให้แก่โจทก์ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share