แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เงินค่าภาษีเงินได้ที่นายจ้างออกแทนลูกจ้างไปนั้น ไม่ใช่เป็นเงินอันพึงประเมินภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(1)(2)
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 17/2507)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๐๒ เจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้เขตจังหวัดพระนครได้ประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์สำหรับปี พ.ศ.๒๔๙๘-๒๔๙๙ กำหนดให้โจทก์ชำระเงิน คือ พ.พ.๒๔๙๘-๒๔๙๙ เงินภาษีที่ให้เสียเพิ่ม ๔๘,๕๙๖.๔๕ บาท และ ๑๕๗,๗๒๗.๑๘ บาท เงินเพิ่มภาษี ๔,๔๑๘.๔๑ บาท และ ๓๐,๔๕๕,๔๔ บาทตามลำดับนั้น โจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้องเพราะเจ้าพนักงานประเมินเอาเงินภาษีเงินได้ที่บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่ จำกัดออกแทนโจทก์จำนวน ๔๘,๑๘๙.๐๖ บาท และ ๓๐๕,๔๕๔.๓๗ บาท ตามลำดับ เข้ารวมเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา ๔๐(๑)ของโจทก์ด้วย โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ๆ วินิจฉัยว่า เงินภาษีเงินได้ที่บริษัทบุญรอดฯออกให้แก่โจทก์ เข้าลักษณะเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐(๑)(๒) จึงให้โจทก์เสียภาษีเพิ่ม รวม ๒ ปี ๒๐๗,๓๒๑.๗๒บาท ส่วนเงินเพิ่มภาษีให้ยกเว้น ขอให้ศาลพิพากษาว่า การประเมินไม่ถูกต้อง ให้ยกคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เฉพาะที่ให้โจทก์นำเงินภาษีไปชำระ ๒๐๗,๓๒๑.๗๒ บาท และพิพากษาว่า โจทก์ไม่ต้องรับผิดชอบเสียเงินภาษีเพิ่มสำหรับพ.ศ.๒๔๙๘-๒๔๙๙ ตามจำนวนที่กล่าวนั้น
จำเลยให้การว่า ภาษีเงินได้ที่บริษัทบุญรอดฯ นายจ้างของโจทก์ออกชำระให้โจทก์นั้น เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐(๑)(๒) แห่งประมวลรัษฎากร
ศาลแพ่งวินิจฉัยว่า เงินค่าภาษีเงินได้ที่นายจ้างออกให้ ไม่ใช่เป็นเงินได้อันถึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๔๐(๑)(๒) พิจารณาว่า การประเมินเรียกเก็บภาษีและคำวินิจฉัยของภณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เฉพาะส่วนที่ให้โจทก์นำเงินค่าภาษีเงินได้ไปชำระเพิ่ม พ.ศ.๒๔๙๘-๒๔๙๙ รวม ๒๐๗,๓๒๑.๗๒ บาท ไม่ถูกต้องตามกฎหมายให้ยกเสีย โจทก์ไม่มีหน้าที่ต้องชำระ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า เงินค่าภาษีเงินได้ที่บริษัทบุญรอดฯนายจ้างชำระให้แก่จำเลยแทนโจทก์นั้น เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลรัษฎากรมาตรา ๓๙และ ๔๐(๑)(๒) นัน ข้อน่าคิดเบื้องแรกมีว่า ถ้าถือว่า เงินที่นายจ้างชำระค่าภาษีนั้นต้องเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรแล้ว กรณีที่นายจ้างสัญญากับลูกจ้างยอมชำระค่าภาษีเงินได้แทนลูกจ้าง นายจ้างก็จะต้องรับผิดชำระค่าภาษีแทนลูกจ้างทุกจำนวนเงินที่ลูกจ้างจะต้องเสียภาษี และจะต้องคิดค่าภาษีทุกจำนวนเงินที่นายจ้างชำระแทน ฉะนั้น เมื่อมีการคำนวณค่าภาษีเงินได้ที่ลูกจ้างจะต้องรับผิดชำระครั้งแรกและนายจ้างชำระเงินค่าภาษีจำนวนนี้แทนไปแล้ว ก็ต้องนำจำนวนเงินที่ชำระแทนไปนั้นไปคำนวณค่าภาษีเงินได้เป็นครั้งที่ ๒ เมื่อคำนวณและนายจ้างชำระแทนครั้งที่ ๒ แล้วก็ต้องนำจำนวนเงินที่ชำระแทนครั้งที่ ๒ ไปคำนวณและชำระ-ครั้งที่ ๓-๔-๕ ต้องคำนวณและชำระแทนทำนองนี้เรื่อยไปเป็นทำนองทศนิยมไม่รู้จบ เพราะไม่มีข้อความในประมวลรัษฎากรให้แยกได้ว่า ต้องเสียภาษีในเงินที่ออกแทนเฉพาะครั้งแรกหรือเฉพาะครั้งหนึ่งครั้งใด จึงเห็นว่าไม่น่าจะมีระบบเก็บภาษีซึ่งต้องคิดและต้องชำระทำนองทศนิยมไม่รู้จบ ซึ่งถ้าหากกฎหมายมุ่งจะเก็บภาษีในลักษณะเช่นนั้น ก็คงจะระบุไว้โดยชัดแจ้ง ประมวลรัษฎากรมาตรา ๔๐(๑)และ(๒)ตอนต้น ระบุไว้ชัดแจ้งว่า
เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างโดยตรง และถ้าหากถือว่าประโยชน์เพิ่มอย่างอื่น หมายถึงประโยชน์ทุกอย่างที่ลูกจ้างได้รับจากการกระทำของนายจ้างแล้ว มาตรา ๔๐(๑)ก็ไม่จำเป็นต้องระบุถึงเงินค่าเช่าบ้านที่นายจ้ายจ่ายให้แก่ลูกจ้างหรือบ้านที่นายจ้ายให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า ศาลฎีกาประชุมใหญ่พิจารณาแล้วเห็นว่า เงินที่นายจ้างออกแทนลูกจ้างในคดีนี้ไม่ใช่เป็นเงินอันพึงประเมินภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา ๔๐(๑)(๒) พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น