คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 102/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

แม้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยจะมีลักษณะและลีลาการเขียนแตกต่างกัน แต่เมื่อเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยใช้ภาษาต่างประเทศที่มีสำเนียงเรียกขานเหมือนกันและใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกัน ผู้ซื้อย่อมถือคำเรียกขานและหลงผิดได้ว่าสินค้าทั้งสองเครื่องหมายเป็นอย่างเดียวกัน ดังนี้เครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยมีลักษณะเหมือนกัน สินค้าของจำเลยได้ผลิตและจำหน่ายยังประเทศต่าง ๆ เกือบทั่วโลกมาก่อนโจทก์ มีการโฆษณาเผยแพร่ตลอดจนนำไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศต่าง ๆ หลายประเทศ ทั้งยังมีตัวแทนจำเลยที่ต่างประเทศส่งสินค้าของจำเลยเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยโจทก์ซึ่งมีอาชีพเป็นตัวแทนขายรองเท้าต่างประเทศ ย่อมรู้ว่าสินค้ารองเท้าของจำเลยภายใต้เครื่องหมายการค้าพิพาทเป็นที่นิยมแพร่หลาย ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ส่อให้เห็นเจตนาของโจทก์ที่จะเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งใช้มาก่อนโจทก์ทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าสินค้าของโจทก์เป็นสินค้าของจำเลยจำเลยจึงมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าโจทก์.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องหมายการค้ารูปคล้ายร่มกางและมีตัวอักษรอาร์โอโอเอสประกอบอ่านว่า “รูส”และเครื่องหมายการค้าเป็นอักษรโรมันคำว่า “ROOS” อ่านว่า “รูส”ซึ่งโจทก์ใช้กับสินค้ารองเท้าที่โจทก์ผลิตและจำหน่ายแพร่หลายทั้งในประเทศและประเทศอินเดีย เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2529และวันที่ 6 พฤษภาคม 2529 โจทก์ได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวต่อกรมทะเบียนการค้าในจำพวกที่ 38 สำหรับประเภทสินค้ารองเท้าหนังคัชชู รองเท้าผ้าใบ ฯลฯ โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าว ตามคำขอเลขที่ 153862 และคำขอเลขที่ 155359 ซึ่งนายทะเบียนได้ประกาศคำขอของโจทก์แล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม2529 จำเลยได้ยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “ROOS” อ่านว่า “รูส” ตามคำขอเลขที่ 159857 และคัดค้านคำขอของโจทก์ ซึ่งโจทก์ได้โต้แย้งไว้แล้ว นายทะเบียนได้วินิจฉัยให้ระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้ง 2 คำขอโดยเหตุผลว่า จำเลยได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยไว้ในต่างประเทศทั้งได้มีการโฆษณาและจำหน่ายสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวแล้ว อันจะทำให้ผู้ซื้อสับสนหลงผิดในแหล่งกำเนิดและคุณภาพของสินค้า ซึ่งโจทก์ไม่เห็นด้วย เพราะโจทก์เป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าทั้ง 2 คำขอและได้ยื่นจดทะเบียนในประเทศไทยก่อนจำเลย สินค้าของจำเลยนั้นไม่มีจำหน่ายและโฆษณาสินค้าในประเทศไทย ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า และมีคำสั่งให้นายทะเบียนรับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามคำขอเลขที่ 153862 และ 155359กับขอให้นายทะเบียนงดจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามคำขอเลขที่ 159857
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้ารองเท้าผ้าใบรองเท้าบูทส์ รองเท้าสำหรับเล่นกีฬา เสื้อผ้า กระเป๋า ฯลฯจำหน่ายยังต่างประเทศทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย โดยจำเลยประดิษฐ์เครื่องหมายการค้าอักษรโรมันคำว่า “ROOS” อ่านว่า “รูส์”รูปรอยประดิษฐ์ตัวจิงโจ้ และอักษรโรมันคำว่า “KANGAROOS”อ่านว่า “แกงการูส์” และใช้กับสินค้าของจำเลยจนเป็นที่แพร่หลายแก่สาธารณชนทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย จำเลยได้ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวในประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2522และปีต่อ ๆ มา จำเลยได้ยื่นขอจดทะเบียนในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกรวมทั้งประเทศไทยด้วย ต่อมาเดือนกรกฎาคม 2529 จำเลยทราบว่าโจทก์ได้นำเครื่องหมายการค้าของจำเลยไปยื่นคำขอจดทะเบียนไว้แล้วกับสินค้าจำพวกที่ 38 ชนิดเดียวกับที่จำเลยผลิตจำหน่าย จำเลยจึงยื่นคำคัดค้านคำขอของโจทก์ และยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยในสินค้าจำพวกที่ 38 และจำพวกที่ 50 ตามคำขอเลขที่ 159856 159837 และ 159858 (ที่ถูกมีคำขอเดียวคือคำขอที่159857) นายทะเบียนได้มีคำวินิจฉัยและระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้ง 2 คำขอ การกระทำของโจทก์เป็นการลวงสาธารณชนให้หลงเชื่อว่าสินค้าของโจทก์เป็นสินค้าของจำเลยเพราะสินค้าของจำเลยจำหน่ายในท้องตลาดทั่วโลกมาเป็นระยะเวลานานจนเป็นที่แพร่หลาย โจทก์กระทำโดยไม่สุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้ารับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอเลขที่ 153862 และเลขที่ 155359ของโจทก์ กับให้งดจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามคำขอเลขที่ 159857
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ในปัญหาที่ว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาททั้งสองคำขอดีกว่าจำเลยหรือไม่นั้น มีข้อจะต้องวินิจฉัยก่อนว่า เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.2 และเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.3 กับเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.5 มีลักษณะเหมือนกันหรือไม่ เห็นว่าเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.2 แม้จะมีลักษณะตัวอักษรโรมันประดิษฐ์คำว่า “ROOS” แตกต่างกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งเป็นอักษรโรมันธรรมดาคำว่า “ROOS” ตามเอกสารหมาย จ.5ก็ตาม แต่การเรียกขานของเครื่องหมายการค้าทั้งสองนั้นเป็นอย่างเดียวกันคืออ่านออกเสียงว่า “รูส” หรือ “รูส์” ในเมื่อเครื่องหมายการค้าทั้งสองในสาระสำคัญใช้ภาษาต่างประเทศที่มีสำเนียงเรียกขานเหมือนกัน และใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกัน ผู้ซื้อย่อมยึดถือคำเรียกขานและหลงผิดได้ว่าสินค้าทั้งสองเครื่องหมายเป็นอย่างเดียวกัน ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.3 กับเครื่องหมายการค้าของจำเลยตามเอกสารหมาย จ.5 ต่างใช้อักษรโรมันคำว่า “ROOS” เหมือนกัน ศาลฎีกาจึงเห็นว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์และจำเลยตามเอกสารหมาย จ.2 และ จ.3 กับ จ.5มีลักษณะเหมือนกัน ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ไม่ได้ลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของจำเลยเพราะไม่มีสินค้าจำเลยภายใต้เครื่องหมายการค้าพิพาทจำหน่ายในประเทศไทยนั้น เห็นว่าสินค้าของจำเลยได้ผลิตและจำหน่ายยังประเทศต่าง ๆ เกือบทั่วโลกมาก่อนโจทก์ มีการโฆษณาเผยแพร่ตลอดจนนำไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศต่าง ๆประมาณ 24 ประเทศ ทั้งยังมีตัวแทนจำเลยที่เมืองฮ่องกงส่งสินค้าของจำเลยเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยอีกด้วย โจทก์มีอาชีพเป็นตัวแทนขายรองเท้าต่างประเทศยี่ห้อ “NIKE” และยี่ห้อ “CONVERSE”ย่อมรู้ว่าสินค้ารองเท้าของจำเลยภายใต้เครื่องหมายการค้าพิพาทเป็นที่นิยมแพร่หลาย จึงน่าเชื่อว่าได้ลอกเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของจำเลยเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ใช้กับรองเท้าผ้าใบที่โจทก์เป็นผู้ผลิตขึ้น รองเท้าของโจทก์ตามวัตถุพยานหมาย จ.1ก็ไม่ปรากฏแหล่งผลิต มีเพียงเครื่องหมายการค้าคำว่า “ROOS”กับภาพประดิษฐ์จิงโจ้เท่านั้น ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ดังกล่าวส่อให้เห็นเจตนาของโจทก์ที่จะเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของจำเลยซึ่งใช้มาก่อนโจทก์ ทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่า สินค้าของโจทก์เป็นสินค้าของจำเลย ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าพิพาทดีกว่าโจทก์และพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.

Share