แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยยื่นบัญชีพยานระบุอ้างใบมรณบัตรเป็นพยานไว้ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วัน ทั้งได้ส่งเอกสารดังกล่าวประกอบการถามค้านพยานโจทก์ปากแรกด้วย โจทก์จึงย่อมทราบข้อความของเอกสารใบมรณบัตรก่อนสืบพยาน โจทก์เสร็จสิ้นและมีโอกาสนำพยานมาสืบหักล้างเอกสารดังกล่าวได้ การที่จำเลยมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 โดยมิได้ส่งสำเนาใบมรณบัตรให้แก่โจทก์ล่วงหน้าก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วันนั้นจึงไม่ได้ทำให้โจทก์เสียเปรียบแต่อย่างใด นอกจากนี้เอกสารดังกล่าวก็เป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลมีอำนาจรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นภริยาของนายเติม นายเติมมีบุตรซึ่งเกิดจากภริยาเดิมคือ นายสมนึก ต่อมานายสมนึกอยู่กินฉันสามีภริยากับนางพรทิพย์และมีบุตรด้วยกัน 4 คน รวมทั้งโจทก์ นายเติมถึงแก่ความตายไปนานแล้ว ต่อมานายสมนึกถึงแก่ความตาย ก่อนตายนายสมนึกมีที่ดินประมาณ 9 ไร่ จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของนายสมนึก และได้ดำเนินการในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกให้ออกหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินดังกล่าวและแบ่งแยกที่ดินนั้นออกเป็น4 ส่วน แล้วโอนที่ดินให้แก่ทายาทของนายสมนึกไปแล้ว 3 คนส่วนที่ดินที่เหลืออยู่ประมาณ 2 ไร่ 2 งาน 20 ตารางวา ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3795 จำเลยได้ดำเนินการใส่ชื่อจำเลยในฐานะเป็นผู้จัดการมรดกของนายสมนึกไว้แทนโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนที่ดิน น.ส.3 ก.เลขที่ 3795 ให้แก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทน
จำเลยให้การว่า ที่จำเลยไม่โอนแบ่งที่ดินที่เหลือให้แก่โจทก์เพราะโจทก์มีสติสัมปชัญญะไม่สมบูรณ์ เป็นคนปัญญาอ่อน จำเลยครอบครองที่ดินแทนไปก่อนจนกว่าโจทก์จะมีความสามารถดำเนินการทำนิติกรรมด้วยตนเองได้ จำเลยเป็นมารดาและทายาทของนายสมนึกจึงมีสิทธิในที่ดินส่วนที่เหลือจำนวน 2 ไร่ 2 งาน 20 ตารางวา คนละกึ่งหนึ่งเป็นเนื้อที่คนละ 1 ไร่ 1 งาน 10 ตารางวา โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้โอนทรัพย์มรดกส่วนที่เหลือทั้งหมดให้แก่โจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยจัดการจดทะเบียนโอนที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 3795 ให้แก่โจทก์กึ่งหนึ่ง คิดเป็นเนื้อที่จำนวน 1 ไร่ 1 งาน 10 ตารางวา หากจำเลยเพิกเฉย ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลยแทน
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้เป็นยุติว่า นายสมนึก ศรีประเทศ ได้อยู่กินฉันสามีภริยากับนางพรทิพย์ ศรีประเทศหรืออ่อนวิมล โดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันมีบุตรด้วยกัน 4 คน คือ นางสาวนภา อ่อนวิมลหรือศรีประเทศ โจทก์นางสาวนาฎลดา อ่อนวิมลหรือศรีประเทศ และนายอำนาจ ศรีประเทศโดยโจทก์เป็นบุคคลปัญญาอ่อน นายสมนึกถึงแก่ความตายเมื่อวันที่1 พฤศจิกายน 2515 ก่อนถึงแก่ความตายนายสมนึกมีทรัพย์สินเป็นที่ดินเนื้อที่ประมาณ 9 ไร่ ตั้งอยู่ที่ ตำบลลาดยาว อำเภอลาดยาวจังหวัดนครสวรรค์ จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายสมนึกตามคำสั่งของศาลชั้นต้น ต่อมาจำเลยได้โอนที่ดินมรดกของนายสมนึกดังกล่าวตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เอกสารหมาย จ.2 ถึง จ.5ให้นางสาวนภา นางสาวนาฎลดา และนายอำนาจ คนละ 2 ไร่ และยังคงมีที่ดินมรดกของนายสมนึกเหลืออยู่ 2 ไร่ 2 งาน 20 ตารางวาตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เอกสารหมาย จ.6จำเลยมิได้โอนที่ดินส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์ แต่ใส่ชื่อจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายสมนึกเป็นเจ้าของที่ดินดังกล่าวไว้ในหนังสือรับรองการทำประโยชน์นั้น
ที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยมิได้ส่งสำเนาใบมรณบัตรเอกสารหมาย ล.1ให้โจทก์ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วัน ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 ศาลไม่มีอำนาจรับฟังใบมรณบัตรเอกสารหมาย ล.1 เป็นพยานหลักฐานได้นั้น เห็นว่า จำเลยได้ยื่นบัญชีพยานระบุอ้างใบมรณบัตรเอกสารหมาย ล.1 เป็นพยานไว้ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วัน ทั้งจำเลยได้ส่งเอกสารดังกล่าวประกอบการถามค้านนางพรทิพย์ ซึ่งเบิกความเป็นพยานโจทก์ปากแรกด้วยโจทก์จึงย่อมได้ทราบข้อความของเอกสารหมาย ล.1 ก่อนสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว และมีโอกาสที่จะนำพยานมาสืบหักล้างเอกสารดังกล่าวได้การที่จำเลยมิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 โดยมิได้ส่งสำเนาใบมรณบัตรเอกสารหมาย ล.1ให้แก่โจทก์ล่วงหน้าก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า 3 วัน นั้น จึงไม่ได้ทำให้โจทก์เสียเปรียบแต่อย่างใด นอกจากนี้แล้วเอกสารดังกล่าวก็เป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลจึงมีอำนาจรับฟังพยานเอกสารดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87(2)ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างไม่ตรงกับคดีนี้ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน”
พิพากษายืน