แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
อำนาจอัยการฟ้องคดีแทนผู้ต้องห้าม วิธีพิจารณา ข้อกฎหมายที่ไม่ได้ยกขึ้นต่อสู้ในคดี แต่ได้วินิจฉัยถึงศาลล่าง
ย่อยาว
โจทย์ฟ้องเรียกทรัพย์ที่ฝากคืนจากจำเลย
ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชพิพากษาให้จำเลยคืนทรัพย์
ศาลอุทธรณ์ข้าหลวงพิเศษปฤกษาว่า พนักงานอัยการไม่มีอำนาจฟ้องแทนโจทย์ในคดีนี้ได้ เพราะเหตุว่าคดีเช่นนี้ไม่เข้าอยู่ในมาตรา ๓๕ (๖)แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม จึงให้ยกฟ้องโจทย์โดยไม่พิจารณาถึงข้อเท็จจริงในสำนวน
โจทย์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มาตรา ๓๕ แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรมระบุน่าที่ของพนักงานอัยการไว้โดยชัดเจนในอนุมาตรา ๖ ให้อำนาจพนักงานอัยการว่าต่างแลฟ้องความแทนราษฎรผู้ซึ่งจะฟ้องความด้วยตนเองไม่ได้ โดยมีกฎหมายบัญญัติห้าม ศาลอุทธรณ์ข้าหลวงพิเศษชี้ขาดว่ากฎหมายลักษณรับฟ้องบทที่ ๒๕ ไม่ได้ห้ามโจทย์ผู้เจ้าทุกข์มิให้ฟ้องคดีนี้ เพราะลำดับเครือญาติระหว่างโจทย์แลจำเลยนั้นไม่ต้องด้วยข้อกำกัดห้าม กล่าวคือมาตรานั้นห้ามไม่ให้ฟ้องบิดามารดา ปู่ย่า ตายาย คดีนี้รับกันว่าจำเลยเปนตาทวดของ น.(โจทย์) แต่อัยการกล่าวแก้ว่า ตามคำแปลทางตักกะวิทยาแลตามความมุ่งหมายของกฎหมายต้องกินความไปถึงปู่ทวด ตาทวด ย่าทวด ยายทวดนั้นด้วย
ศาลฎีกาเห็นว่า ศาลอุทธรณ์ข้าหลวงพิเศษวินิจฉัยถูกต้องแล้ว ศาลยุติธรรมย่อมไม่ขยายประเภทแห่งคดีที่ต้องห้ามไม่ให้ฟ้องร้องนั้น เพราะฉนั้นจึงต้องแปลความในลักษณรับฟ้องบทที่ ๒๕ โดยเคร่งครัด ด้วยเหตุนี้ถ้าแม้ว่า น. มีอายุบริบูรณ์เปนผู้ใหญ่แล้วก็ฟ้องจำเลยได้ทีเดียว แต่ในขณะนี้ยังเปนเด็กอยู่นั้นต้องห้าม จะฟ้องไม่ได้ เว้นแต่จะฟ้องโดยมีผู้ปกครอง ส่วนพนักงานอัยการนอกจากศาลจะมีคำสั่งเปนพิเศษแล้ว ไม่มีอำนาจฟ้องคดีชนิดนี้ได้เลย
ถึงแม้ว่าจำเลยจะไม่ได้ยกความข้อนี้ ขึ้นต่อสู้ในคำให้การหรือในชั้นอุทธรณ์ก็ดี แต่เปนข้อกฎหมายที่ศาลอุทธรณ์ข้าหลวงพิเศษได้ยกขึ้นปฤกษาในคำตัดสินแล้ว อาจยกขึ้นวินิจฉัยในชั้นนี้ได้ จึงให้ยกฎีกาของโจทย์เสีย แต่ไม่เปนการขัดข้องแก่ผู้ที่ได้รับแต่งตั้งให้เปนผู้ปกครอง น. ที่จะยกคดีในมูลกรณีอันเดียวกันนี้ขึ้นฟ้องร้องต่อไป