แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ถ้าคู่ความฝ่ายที่ต้องนำสืบพยานภายหลังมิได้ถามค้านพยานของคู่ความฝ่ายที่นำสืบก่อนไว้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 89 วรรค 1 ต่อมากลับนำพยานของตนมาสืบถึงข้อความดังกล่าวนั้น เช่นนี้ คู่ความฝ่ายที่นำสืบก่อนต้องคัดค้านเสียในขณะที่พยานของฝ่ายนำสืบภายหลังกำลังเบิกความ มิฉะนั้นจะมาคัดค้านภายหลังไม่ได้
ในกรณีที่วัดกับบุคคลอื่นเป็นเจ้าของทรัพย์ร่วมกัน เมื่อมีเหตุที่จะต้องแบ่งทรัพย์ต่อกัน ศาลก็พิพากษาให้แบ่งทรัพย์นั้นได้ และย่อมพิพากษาถึงวิธีการแบ่งทรัพย์ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้ได้ ไม่เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายเขียว ชิ้นในเมืองทำพินัยกรรมยกที่ดิน โฉนดที่๗๖๔ พร้อมทั้งสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นสินส่วนตัวให้โจทก์แต่จำเลยขัดขวางการโอน จึงขอให้บังคับ
จำเลยให้การว่า หนังสือที่โจทก์อ้างไม่มีข้อความเป็นพินัยกรรมและเป็นโมฆะ ทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างนายเขียวกับจำเลย จำเลยจึงมีส่วนเป็นเจ้าของครึ่งหนึ่ง
ในขั้นแรก ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า เอกสารที่โจทก์อ้างไม่มีลักษณะเป็นพินัยกรรม และเจ้าอาวาสลงชื่อในเอกสารด้วย จึงเป็นโมฆะ ไม่ต้องวินิจฉัยประเด็นอื่น พิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา ศาลฎีกาเห็นว่า หนังสือที่โจทก์อ้างเป็นพินัยกรรมและสมบูรณ์ตามกฎหมาย พิพากษาย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาในประเด็นข้ออื่นต่อไป
ศาลชั้นต้นพิจารณาใหม่แล้วฟังว่าทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสซึ่งนายเขียวมีส่วนได้ ๒ ส่วน จำเลยได้ ๑ ส่วน พิพากษาว่าที่ดินและห้องแถวพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์แก่โจทก์ ๒ ส่วนเป็นของจำเลย ๑ ส่วนถ้าไม่สามารถแบ่งได้ก็ให้ประมูลระหว่างกันก่อน หากไม่สำเร็จก็ขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันตามส่วนดังกล่าว กับให้จำเลยชำระเงินค่าเช่าห้องแถวซึ่งจำเลยเก็บเอาไปให้โจทก์เดือนละ ๖๐๐ บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นมา ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย สำหรับข้อกฎหมายฎีกาว่า จำเลยนำสืบภายหลังโดยไม่ได้ถามค้านพยานโจทก์ไว้ ศาลรับฟังพยานจำเลยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๙ วรรค ๒ และทรัพย์รายพิพาทตกเป็นของวัดตามพินัยกรรมจะโอนกรรมสิทธิ์ได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ
ศาลฎีกาเห็นว่า(๑)มาตรา ๘๙ วรรค ๒ บัญญัติไว้มีข้อความแสดงว่าคู่ความที่สืบพยานก่อนจะต้องคัดค้านเสียในเวลาที่พยานเบิกความ จะมาคัดค้านภายหลังดังเช่นกรณีนี้ไม่ได้ ดังมีแบบอย่างคำพิพากษาฎีกาที่ศาลอุทธรณ์อ้างไว้ (ฎีกาที่ ๑๓๔๖,๑๓๔๗/๒๔๙๘)
(๒)ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ซึ่งบัญญัติว่า ที่ดินของวัดจะโอนได้แต่โดยพระราชบัญญัตินั้น เป็นบทบัญญัติยกเว้นหลักกฎหมายทั่วไป ซึ่งจะต้องตีความโดยเคร่งครัด ศาลฎีกาเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติถึงการโอนไปซึ่งกรรมสิทธิ์ตามธรรมดาไม่มีความมุ่งหมายถึงการแบ่งทรัพย์สินซึ่งวัดเป็นเจ้าของรวมกับผู้อื่นด้วย กล่าวคือ ในกรณีที่บุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไปเป็นเจ้าของทรัพย์สินรวมกันอยู่ กฎหมายบัญญัติให้เจ้าของรวมมีสิทธิขอแบ่งทรัพย์ได้ ในกรณีที่วัดกับบุคคลอื่นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ร่วมกันนั้น ไม่มีเหตุผลอย่างใดที่จะไม่ยอมให้มีการแบ่งแยกความเป็นเจ้าของร่วมกัน ฉะนั้น เมื่อกรณีต้องด้วยเหตุที่จะแบ่งทรัพย์ต่อกัน ศาลก็พิพากษาให้แบ่งทรัพย์ที่วัดกับบุคคลธรรมดาเป็นเจ้าของร่วมกันได้ เมื่อศาลพิพากษาให้แบ่งทรัพย์ได้ ก็ย่อมพิพากษาถึงวิธีการแบ่งทรัพย์ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์บัญญัติไว้ได้ ไม่เป็นการขัดต่อพระราชบัญญัติคณะสงฆ์
พิพากษายืน