คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6065/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือสัญญาเช่าตึกแถวเป็นการตกลงว่า ถ้ามีการฟ้องคดีอันเกี่ยวกับสัญญาเช่านี้ จำเลยที่ 1 ผู้เช่ายอมชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมตลอดทั้งค่าทนายความให้จนครบถ้วนและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อันจะพึงมีขึ้น สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมนั้น ป.วิ.พ. มาตรา 149 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ค่าฤชาธรรมเนียม ได้แก่ ค่าธรรมเนียมศาล ค่าสืบพยานหลักฐานนอกศาล ค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พักของพยาน ผู้เชี่ยวชาญ ล่าม และเจ้าพนักงานศาล ค่าทนายความ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ตลอดจนค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ บรรดาที่กฎหมายบังคับให้ชำระ” ซึ่งมาตรา 153/1 บัญญัติว่า “ค่าฤชาธรรมเนียมตาม มาตรา 149 … ให้ชำระตามวิธีการและอัตราที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้ หรือตามวิธีการและอัตราที่มีกฎหมายอื่นบังคับไว้” และมาตรา 161 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ให้คู่ความฝ่ายที่แพ้คดีเป็นผู้รับผิดในชั้นที่สุดสำหรับค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง แต่ไม่ว่าคู่ความฝ่ายใดจะชนะคดีเต็มตามข้อหาหรือแต่บางส่วน ศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีนั้นรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง หรือให้คู่ความแต่ละฝ่ายรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมส่วนของตนหรือตามส่วนแห่งค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งคู่ความทุกฝ่ายได้เสียไปก่อนได้ตามที่ศาลจะใช้ดุลพินิจ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดี” ดังนั้น สัญญาจ้างว่าความจึงเป็นสัญญาระหว่างโจทก์กับทนายโจทก์ ซึ่งตกลงกันเองไม่อาจนำมาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้แก่โจทก์ได้ โดยจำเลยที่ 1 ต้องชดใช้แก่โจทก์ตามที่ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดตามกฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าที่พักของทนายความไม่อาจกำหนดให้ได้ เพราะมิใช่ค่าฤชาธรรมเนียมตามที่กฎหมายบัญญัติ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 700,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 6 พฤษภาคม 2552) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้ 25,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประเด็นแรกว่าต้องนำเงินประกันความเสียหาย 50,000 บาท มาหักออกจากค่าเสียหายที่โจทก์จะได้รับหรือไม่ เห็นว่า เงินประกันความเสียหายเป็นเงินที่ผู้ให้เช่าต้องคืนให้แก่ผู้เช่า หากผู้เช่ามิได้ทำความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เช่าหรือติดค้างชำระค่าเช่าหรือมีหนี้สินอื่นที่ค้างอยู่ เมื่อครบกำหนดเวลาการเช่าหรือเมื่อสัญญาการเช่าระงับลงโดยมิใช่ความผิดของผู้เช่าตามข้อ 2 ของหนังสือสัญญาเช่าตึกแถวแสดงว่าไม่ว่าจะมีการฟ้องแย้งของจำเลยที่ 1 ผู้เช่าหรือไม่ก็ตาม หากจำเลยที่ 1 ไม่ทำความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เช่าหรือติดค้างชำระค่าเช่าหรือมีหนี้สินอื่นค้างอยู่ โจทก์ผู้ให้เช่าต้องคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ผู้เช่าแต่เมื่อจำเลยที่ 1 ทำความเสียหายแก่ทรัพย์สินที่เช่า โจทก์ก็ไม่อาจถือว่าเงินประกันความเสียหายจะตกเป็นของโจทก์เสียทั้งหมดนอกเหนือไปจากหักเป็นค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิได้รับ เพราะเงินดังกล่าวเป็นการให้โจทก์ยึดถือไว้ล่วงหน้าเพื่อประกันว่าหากมีความเสียหายหรือค้างชำระค่าเช่าอย่างน้อยจะมีเงินดังกล่าวชำระหนี้นั้นได้ส่วนหนึ่งแล้ว แต่หากความเสียหายหรือค่าเช่าที่ค้างชำระไม่ถึงเงินประกันที่โจทก์ยึดถือ โจทก์ย่อมต้องคืนส่วนที่เหลือแก่ผู้เช่าไม่อาจยึดถือไว้ได้ การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยให้นำเงินประกันความเสียหาย 50,000 บาท มาหักออกจากค่าเสียหายที่โจทก์จะได้รับ จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประเด็นสุดท้ายว่า จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียม ค่าทนายความและค่าใช้จ่ายในการเดินทางกับค่าที่พักของทนายความตามหนังสือสัญญาเช่าแก่โจทก์เพียงใดโดยโจทก์ฎีกาว่า โจทก์จ้างทนายความเป็นเงิน 200,000 บาท ตามสัญญาจ้างว่าความ โดยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าที่พักครั้งละ 10,000 บาท เป็นเงิน 140,000 บาท ซึ่งตั้งแต่เดินทางไปยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้นถึงวันยื่นฎีกาที่ศาลชั้นต้นไม่น้อยกว่า 10 ครั้ง เป็นเงินประมาณ 100,000 บาท และต้องไปอีกหลายครั้งจนกว่าคดีถึงที่สุดกับค่าจ้างทนายความ 60,000 บาท ซึ่งโจทก์จ่ายให้หมดแล้วขอให้กำหนดค่าเสียหายส่วนนี้แก่โจทก์ 150,000 บาท นั้น เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาเช่าตึกแถวเป็นการตกลงว่า ถ้ามีการฟ้องคดีอันเกี่ยวกับสัญญาเช่านี้ จำเลยที่ 1 ผู้เช่ายอมชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมตลอดทั้งค่าทนายความให้จนครบถ้วนและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ อันพึงจะมีขึ้น สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมนั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 149 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ค่าฤชาธรรมเนียม ได้แก่ ค่าธรรมเนียมศาล ค่าสืบพยานหลักฐานนอกศาล ค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พักของพยาน ผู้เชี่ยวชาญล่าม และเจ้าพนักงานศาล ค่าทนายความ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี ตลอดจนค่าธรรมเนียมหรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ บรรดาที่กฎหมายบังคับให้ชำระ” ซึ่งมาตรา 153/1 บัญญัติว่า “ค่าฤชาธรรมเนียมตามมาตรา 149…ให้ชำระตามวิธีการและอัตราที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้หรือตามวิธีการและอัตราที่มีกฎหมายอื่นบังคับไว้” ทั้งปวง แต่ไม่ว่าคู่ความฝ่ายใดจะชนะคดีเต็มตามข้อหาหรือแต่บางส่วน ศาลมีอำนาจที่จะพิพากษาให้คู่ความฝ่ายที่ชนะคดีนั้นรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง หรือให้คู่ความแต่ละฝ่ายรับผิดในค่าฤชาธรรมเนียมส่วนของตนหรือตามส่วนแห่งค่าฤชาธรรมเนียมซึ่งคู่ความทุกฝ่ายได้เสียไปก่อนได้ตามที่ศาลจะใช้ดุลพินิจ โดยคำนึงถึงเหตุสมควรและความสุจริตในการดำเนินคดี” ดังนั้น สัญญาจ้างว่าความจึงเป็นสัญญาระหว่างโจทก์กับทนายความโจทก์ ซึ่งตกลงกันเองไม่อาจนำมาให้จำเลยที่ 1 รับผิดชดใช้แก่โจทก์ได้ โดยจำเลยที่ 1 ต้องชดใช้แก่โจทก์ตามที่ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าที่พักของทนายความไม่อาจกำหนดให้ได้ เพราะมิใช่ค่าฤชาธรรมเนียมตามที่กฎหมายบัญญัติ ส่วนค่าทนายความมีตาราง 6 ค่าทนายความ ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (1) กำหนดอัตราขั้นต่ำไว้ไม่ต่ำกว่าคดีละ 3,000 บาท และ (2) กำหนดอัตราขั้นสูงในศาลชั้นต้นในคดีมีทุนทรัพย์ไม่เกินร้อยละ 5 ที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าทนายความในศาลชั้นต้น 25,000 บาท แก่โจทก์ และใช้ค่าขึ้นศาลในศาลชั้นต้นแทนโจทก์ตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีคือ 100,000 บาท และศาลอุทธรณ์ภาค 9 กำหนดให้ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์เป็นพับมานั้น จึงเป็นไปตามกฎหมายแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ในประเด็นนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share