คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6152/2544

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์มอบที่ดินให้จำเลยทำประโยชน์นับแต่วันทำสัญญาจะซื้อจะขายการที่จำเลยขุดดินในระหว่างที่ยังไม่ถึงกำหนดวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ ย่อมมีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้เพราะเป็นการตกลงตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโดยถูกต้อง จึงไม่เป็นเรื่องลาภมิควรได้และโจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลย เนื่องจากจำเลยผิดสัญญาซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อจำเลยรับหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2541 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2541 ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความ
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่งบัญญัติว่าเมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดั่งที่เป็นอยู่เดิมและวรรคท้ายบัญญัติว่า การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้น หากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่ โดยไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดไว้ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรก่อนจึงจะเรียกร้องค่าเสียหายได้ การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยขุดดินไปขายเป็นหลุมขนาดใหญ่เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการถมดินให้กลับสู่สภาพเดิม แม้โจทก์จะมีสิทธิบังคับให้จำเลยถมดินให้กลับมีสภาพเดิมก่อน แต่เมื่อโจทก์เลือกที่จะบังคับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายส่วนนี้เลยก็ย่อมทำได้เพราะไม่มีกฎหมายห้ามไว้ การที่ศาลพิพากษาไปตามคำขอของโจทก์จึงไม่เป็นการพิพากษาข้ามขั้นตอน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2539 จำเลยทำสัญญาจะซื้อที่ดินโฉนดที่ดินเลขที่ 114304 จากโจทก์ในราคา 1,300,000 บาทวางเงินมัดจำในวันทำสัญญาจำนวน 150,000 บาท ส่วนที่เหลือตกลงจะชำระให้ครบถ้วนในวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน คือวันที่ 4 มกราคม 2540 หากผิดนัดจำเลยยินยอมให้โจทก์ปรับเป็นเงิน 2 เท่า ของราคาซื้อขาย และยอมให้โจทก์ริบเงินมัดจำโจทก์ได้ส่งมอบที่ดินที่ตกลงจะซื้อจะขายให้จำเลยเข้าทำประโยชน์ตั้งแต่วันทำสัญญาจำเลยนำรถขุดดิน รถแทรกเตอร์ และรถบรรทุกเข้าขุดดินในที่ดินของโจทก์ไปขายเป็นเนื้อที่ 4 ไร่ 40 ตารางวา ลึกประมาณ 6 เมตร ปริมาตรดินประมาณ 42,240 ลูกบาศก์เมตร คิดเป็นเงิน 1,689,600 บาทและเมื่อถึงวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดิน จำเลยผิดนัดไม่ไปรับโอน โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยไปรับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและชำระราคาส่วนที่เหลือภายใน 15 วัน แต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและริบเงินมัดจำที่จำเลยวางไว้การที่จำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาเนื่องจากจำเลยมีเจตนาไม่สุจริตมาแต่ต้น โดยวางเงินมัดจำไว้เพียง150,000 บาท แล้วขุดดินในที่ดินของโจทก์ไปขายได้กำไรกว่า 10 เท่าของเงินมัดจำทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะที่ดินเป็นหลุมขนาดใหญ่ไม่อาจใช้ประโยชน์ได้อีกจึงขอเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเป็นเงินจำนวน 1,150,000 บาท เพื่อนำไปซื้อที่ดินมาถมให้มีสภาพเดิมขอให้บังคับจำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 1,150,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า การที่จำเลยทำให้ที่ดินของโจทก์เป็นหลุมขนาดใหญ่ย่อมเป็นการกระทำโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้จึงเข้าลักษณะลาภมิควรได้ โจทก์ต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ 4 มกราคม 2540 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2541 เกินกำหนด 1 ปี ฟ้องโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 844,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2539 จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทกับโจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินเอกสารหมาย จ.2 โจทก์มอบที่ดินพิพาทให้จำเลยทำประโยชน์นับแต่วันทำสัญญาหลังจากนั้นจำเลยนำรถขุดดินรถแทรกเตอร์ และรถบรรทุกเข้าขุดดินในที่พิพาท เมื่อถึงวันที่ 4 มกราคม 2540 ซึ่งเป็นวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจำเลยผิดสัญญาไม่ไปรับโอนและชำระราคาค่าที่ดินส่วนที่เหลือแต่จำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาและริบเงินมัดจำ…

มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อที่สองของจำเลยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ ที่จำเลยฎีกาว่า ประเด็นสำคัญของคดีนี้อยู่ที่ว่า หนี้พิพาทเกิดจากสัญญาหรือไม่ จำเลยเพียงแต่ทำสัญญาจะซื้อจะขายและครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์ ไม่มีสิทธิจะขุดในที่พิพาทเอาไปแสวงหาผลประโยชน์ให้ตนเอง การที่จำเลยขุดเอาดินของโจทก์ไปเป็นการกระทำนอกเหนือสัญญาจะซื้อจะขายเป็นการกระทำโดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ทำให้ร่ำรวยขึ้นโดยมิชอบ รูปคดีจึงปรับได้กับเรื่องลาภมิควรได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406 ศาลล่างทั้งสองปรับบทกฎหมายไม่ถูกต้อง และตามคำเบิกความของโจทก์แสดงว่า โจทก์ทราบว่ามีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยคืนทรัพย์ในเดือนมกราคม 2540 แต่โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2541 พ้นกำหนด 1 ปี จึงขาดอายุความนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 406บัญญัติเรื่องลาภมิควรได้ไว้ว่า “บุคคลใดได้มาซึ่งทรัพย์สิ่งใดเพราะการที่บุคคลอีกคนหนึ่งนั้นเสียเปรียบ ท่านว่าให้บุคคลนั้นคืนทรัพย์ให้แก่เขา” แต่กรณีตามฟ้องนี้ที่โจทก์มอบที่ดินดังกล่าวให้จำเลยทำประโยชน์นับแต่วันทำสัญญา ฉะนั้นการขุดดินในระหว่างที่ยังไม่ถึงกำหนดวันนัดโอนกรรมสิทธิ์ จำเลยย่อมมีมูลอันจะอ้างกฎหมายได้เพราะเป็นการตกลงตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินดังกล่าวกันโดยถูกต้องมิใช่เป็นการกระทำเพื่อชำระหนี้ โดยปราศจากมูลอันจะอ้างกฎหมายได้ จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นเรื่องลาภมิควรได้ และคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยเนื่องจากจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาซึ่งไม่มีกฎหมายบัญญัติเรื่องอายุความไว้เฉพาะ จึงตกอยู่ในบังคับอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 เมื่อจำเลยรับหนังสือบอกเลิกสัญญาเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2541 โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2541 ฟ้องโจทก์ไม่ขาดอายุความฎีกาจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาข้อที่สามของจำเลยว่า โจทก์เสียหายเพียงใดที่จำเลยฎีกาในตอนแรกว่า แม้ศาลจะปรับเข้ากับบทบัญญัติของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 แต่เมื่อเลิกสัญญากันแล้วก็จะต้องให้จำเลยส่งมอบที่ดินคืนในสภาพที่ไม่เป็นหลุมก่อน หากไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้จึงจะให้ใช้ค่าเสียหาย ที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายไปเลย เป็นการพิพากษาข้ามขั้นตอนนั้น เห็นว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 391 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดั่งที่เป็นอยู่เดิม และวรรคท้ายบัญญัติว่าการใช้สิทธิเลิกสัญญานั้น หากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่โดยไม่มีบทบัญญัติใดกำหนดไว้ว่าจะต้องปฏิบัติอย่างไรก่อนจึงจะเรียกร้องค่าเสียหายได้ คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยผิดสัญญาและเรียกค่าเสียหายจากการที่จำเลยขุดดินในที่ดินของโจทก์ไปขายเป็นหลุมขนาดใหญ่เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการถมดินให้ที่ดินกลับคืนสู่สภาพดังที่เป็นอยู่เดิม แม้โจทก์จะมีสิทธิบังคับให้จำเลยถมดินให้ที่ดินของโจทก์กลับมีสภาพเดิมก่อนก็ตาม แต่เมื่อโจทก์เลือกที่จะใช้สิทธิบังคับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายส่วนนี้เลย ก็ย่อมทำได้เพราะไม่มีกฎหมายห้ามไว้ การที่ศาลล่างทั้งสองได้พิพากษาไปตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์จึงไม่เป็นการพิพากษาข้ามขั้นตอน”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายจำนวน 787,200บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4

Share