คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 427/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ป. ถูกฟ้องในข้อหาความผิดฐานลักปลาดุก เลี้ยงของผู้เสียหายในคราวเดียวกันกับคดีนี้ และศาลพิพากษาลงโทษจำคุก ป. ไปแล้ว ตามคดีอาญาก่อนของศาลชั้นต้น ดังนั้น จึงต้องถือว่า ป. มีฐานะเป็นจำเลยเช่นเดียวกันกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 แม้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 จะไม่ได้ถูกฟ้องแย้งจำเลยในคดีอาญาดังกล่าวร่วมกับ ป. ก็ตาม แต่เพราะเป็นมูลคดีเดียวกันคำเบิกความของ ป. ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีน้ำหนักน้อย เพราะเป็นคำซัดทอดในระหว่างจำเลยด้วยกันส่วนนางข. นอกจากจะเป็นภริยาของ ป. แล้วตามพฤติการณ์แห่งคดีก็เป็นผู้ที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ขณะมีการกระทำความผิดเกิดขึ้น ตลอดจนมีส่วนร่วมในการนำปลาดุก เลี้ยงของผู้เสียหายไปขายอันอาจถือได้ว่าเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดในคดีนี้ด้วยดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่ ข. จะเบิกความซัดทอดจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพื่อให้ตนเองพ้นผิด คำเบิกความของ ข.จึงมีข้อน่าสงสัยนอกจากนี้คำเบิกความของ ป. และ ข.ก็ยังแตกต่างและขัดแย้งกันในข้อสาระสำคัญหลายประการย่อมทำให้เกิดข้อพิรุธสงสัย ชั้นจับกุมจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพฐานรับของโจร ส่วนจำเลยที่ 3 ให้การปฏิเสธตลอดจนได้ความว่าคดีอาญาก่อนของศาลชั้นต้นมี ป.ถูกฟ้องเพียงคนเดียว ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 มิได้ถูกฟ้องด้วยทั้ง ๆ ที่เป็นมูลคดีเดียวกัน พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมาไม่แน่ชัดพอ ยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2และที่ 3 ได้กระทำผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่ จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสองและเนื่องจากคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ในความผิดลักทรัพย์ฐานเดียวกัน เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรจึงเป็นเหตุให้ส่วนลักษณะคดีแม้จำเลยที่ 1 จะมิได้อุทธรณ์ฎีกาและคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นแล้วก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้มีผลตลอดไปถึงจำเลยที่ 1 ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213,225 จำเลยที่ 2 มีบ้านอยู่ใกล้กับบ่อเลี้ยงปลาของผู้เสียหายและทราบดีว่า ป. เป็นคนเฝ้าบ่อปลาให้กับผู้เสียหาย ดังนั้นการที่ป. นำปลาดุก เลี้ยงจำนวนมากถึง 42 กิโลกรัมมาขายให้แก่จำเลยที่ 2 ในเวลาวิกาลประมาณ 4 นาฬิกา และขายในราคา ต่ำเพียงกิโลกรัมละ 8 บาท ในขณะที่จำเลยที่ 2 สามารถนำไป ขายต่อได้ถึงกิโลกรัมละ 22 บาท เช่นนี้ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำเลยที่ 2 ทราบว่า ป.ลักปลาดุก เลี้ยงของผู้เสียหายมา การที่จำเลยที่ 2 รับซื้อไว้จึงเป็นความผิดฐานรับของโจร แม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2ในข้อหาความผิดฐานลักทรัพย์ แต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานรับของโจรก็ไม่ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญ ทั้งจำเลยที่ 2ก็มิได้หลงต่อสู้ ศาลจึงลงโทษจำเลยที่ 2 ในข้อหาความผิดฐานรับของโจรได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 192 วรรคสอง และวรรคสาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้อง ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1)(7)(12), 91 และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์จำนวน 2,700 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(7)(12) วรรคสามจำคุกคนละ 2 ปี และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันคืนหรือชดใช้ราคาทรัพย์จำนวน 2,700 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง มีคนร้ายลักปลาดุกเลี้ยงจำนวน 150 กิโลกรัม ราคา 2,700 บาท ของนายเฮง แซ่เตียว ผู้เสียหาย ไปจริง คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายประหยัด ประเสริฐนอกกับ นางขวัญ แซ่ตั้ง เป็นพยานเบิกความทำนองเดียวกันว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้ร่วมกับนายประหยัดและจำเลยที่ 1 กับพวกลักปลาดุกเลี้ยงของผู้เสียหายไป เห็นว่า นายประหยัดถูกฟ้องในข้อหาความผิดฐานลักทรัพย์ปลาดุกเลี้ยงของผู้เสียหายในคราวเดียวกันนี้ และศาลพิพากษาลงโทษจำคุกนายประหยัดไปแล้วตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1373/2538 ของศาลชั้นต้น ดังนั้นจึงต้องถือว่านายประหยัดมีฐานะเป็นจำเลยเช่นเดียวกันกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 แม้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะไม่ได้ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาดังกล่าวร่วมกับนายประหยัดด้วยก็ตาม เพราะเป็นมูลคดีเดียวกัน คำเบิกความของนายประหยัดที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 จึงมีน้ำหนักน้อยเพราะเป็นคำซัดทอดในระหว่างจำเลยด้วยกัน ส่วนนางขวัญนั้นนอกจากจะเป็นภริยาของนายประหยัดแล้วตามพฤติการณ์แห่งคดีก็เป็นผู้ที่อยู่ร่วมในเหตุการณ์ขณะมีการกระทำความผิดเกิดขึ้นตลอดจนมีส่วนร่วมในการนำปลาดุกเลี้ยงของผู้เสียหายไปขายอันอาจถือได้ว่าเป็นผู้ร่วมกระทำความผิดในคดีนี้ด้วยดังนั้น จึงเป็นไปได้ที่นางขวัญจะเบิกความซัดทอดจำเลยที่ 2และที่ 3 เพื่อให้ตนเองพ้นผิดดังกล่าว คำเบิกความของนางขวัญจึงมีข้อน่าสงสัย นอกจากคำเบิกความของนายประหยัดและนางขวัญจะมีน้ำหนักน้อยและมีข้อน่าสงสัยดังกล่าวแล้วคำเบิกความของนายประหยัดกับนางขวัญก็ยังแตกต่างและขัดแย้งกันในข้อสาระสำคัญหลายประการ กล่าวคือเกี่ยวกับการกระทำความผิดในวันที่ 8 กรกฎาคม 2538 นายประหยัดเบิกความว่า นายประหยัดได้ร่วมดื่มสุรากับจำเลยที่ 1 และที่ 2ที่กระต๊อบของนายประหยัดนานประมาณ 30 นาที แล้วพากันไปที่บ้านของจำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ห่างจากกระต๊อบของนายประหยัดประมาณ 100 เมตร ไปนั่งคุยกันประมาณ 1 ชั่วโมงแล้วพากันไปที่บ่อปลาอีก ไปช่วยกันจับปลาในบ่อ แต่นางขวัญเบิกความว่าหลังจากนายประหยัดร่วมดื่มสุรากับจำเลยที่ 1และที่ 2 ที่กระต๊อบของนายประหยัดประมาณ 30 นาทีแล้วจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ชวนนายประหยัดไปดื่มสุราที่บ้านของนางเสงี่ยม จันทวงษ์ ซึ่งอยู่ห่างจากกระต๊อบของนายประหยัดประมาณ 100 เมตร บุคคลทั้งสามไปนานประมาณเกือบ 1 ชั่วโมงจึงกลับมาที่กระต๊อบของนายประหยัด มานั่งดื่มสุรากันต่อสักครู่หนึ่งจำเลยที่ 1 ได้ชวนนายประหยัดให้จับปลาที่บ่อของผู้เสียหาย นางขวัญได้พูดห้ามปราม ส่วนนายประหยัดก็ได้พูดห้ามเช่นกัน แต่ก็ได้ไปกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไปจับปลาในบ่อเกี่ยวกับการนำปลาของผู้เสียหายไปขายนั้น นายประหยัดเบิกความว่า นายประหยัดจำเลยที่ 1 ที่ 2 และนางขวัญได้นำปลาไปขายที่ตลาดในตัวเมืองนครนายกไม่ทราบว่าตลาดอะไรขายเท่าไร จำไม่ได้และตอนขายชั่วน้ำหนักปลาได้ 42 กิโลกรัมได้ส่วนแบ่งจากการขายปลาเป็นเงิน 200 บาท แต่นางขวัญเบิกความว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 นางเสงี่ยม นายประหยัดและนางขวัญ ได้นำปลาขึ้นรถกระบะนำไปที่ตลาดในตัวเมืองนครนายกตอนที่นำไปขายนางขวัญอยู่ที่รถ จึงไม่ทราบว่าขายได้น้ำหนักกี่กิโลกรัม และเกี่ยวกับการกระทำความผิดในวันที่ 9 กรกฎาคม 2537 นายประหยัดเบิกความว่า ในวันดังกล่าวเมื่อเวลาประมาณ 22 ถึง 23 นาฬิกา ขณะที่นายประหยัดและนางขวัญนอนเฝ้าบ่อปลาตามปกติอยู่ในกระต๊อบ มีจำเลยที่ 3 กับชายอีกคนหนึ่งมาเรียกนายประหยัดที่กระต๊อบ เมื่อเรียกแล้วจำเลยที่ 3 ได้เดินลงไปนายประหยัดเกิดความสงสัยจึงได้เดินตามลงไปนางขวัญเดินตามไปด้วย ได้เดินไปที่กระต๊อบหลังหนึ่งซึ่งอยู่ในบริเวณบ่อปลาเห็นจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และชายอีกคนหนึ่งกำลังช่วยกันจับปลาในบ่อ แต่นางขวัญเบิกความว่า ในวันที่9 กรกฎาคม 2538 เวลาประมาณ 22 นาฬิกา ขณะนั้นนางขวัญและนายประหยัดเข้านอนแล้วมีจำเลยที่ 3 กับเพื่อนผู้ชายอีกคนหนึ่ง มาร้องเรียกนายประหยัดซึ่งตอนนั้นนอนหลับแล้วบอกว่าจะมาเอาหัวหม้อแบต(เหมือนไปสปอทไลท์) ซึ่งมีอยู่ที่บ่อ จำเลยที่ 3 อ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 3 นายประหยัดได้เอาหัวหม้อแบตให้จำเลยที่ 3จากนั้นจำเลยที่ 3 กับเพื่อนก็เดินลงไป แล้วนายประหยัดได้พูดกับนางขวัญว่าสงสัยพวกนี้จะมาเอาปลาอีกให้ลงไปดูกันนางขวัญจึงเดินไปกับนายประหยัด เมื่อลงไปแล้วเห็นจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และชายที่มากับจำเลยที่ 3 ลงมาช่วยกันจับปลา ซึ่งเป็นที่เห็นได้อย่างชัดเจนว่าคำเบิกความของนายประหยัดกับนางขวัญมีความแตกต่างและขัดแย้งกันในข้อสาระสำคัญหลายประการการที่นายประหยัดและนางขวัญเบิกความแตกต่างและขัดแย้งกันในข้อสาระสำคัญหลายประการดังกล่าว ย่อมทำให้เกิดข้อพิรุธสงสัยชั้นจับกุมจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพฐานรับของโจร ส่วนจำเลยที่ 3ให้การปฏิเสธ ตลอดจนได้ความว่าคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1373/2538ของศาลชั้นต้นมีนายประหยัดถูกฟ้องเพียงคนเดียว ส่วนจำเลยที่ 2และที่ 3 มิได้ถูกฟ้องด้วย ทั้ง ๆ ที่เป็นมูลคดีเดียวกันพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังไม่แน่ชัดพอ ยังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำผิดฐานลักทรัพย์หรือไม่จึงให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยที่ 2 และที่ 3ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 วรรคสอง และเนื่องจากคดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1ที่ 2 และที่ 3 ในความผิดลักทรัพย์ฐานเดียวกัน เมื่อพยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรจึงเป็นเหตุในส่วนลักษณะคดี แม้จำเลยที่ 1 จะมิได้อุทธรณ์ฎีกาและคดีถึงที่สุดตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วก็ตาม ศาลฎีกาก็มีอำนาจพิพากษายกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้มีผลตลอดไปถึงจำเลยที่ 1ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 213, 225แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากจำเลยที่ 2 นำสืบรับว่าจำเลยที่ 3ได้รับซื้อปลาดุกเลี้ยงจำนวน 42 กิโลกรัม ของผู้เสียหายจากนายประหยัดในวันที่ 8 กรกฎาคม 2538 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุลักทรัพย์ในคดีนี้ จึงมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า การกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นความผิดฐานรับของโจรหรือไม่ เห็นว่าข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานของโจทก์ประกอบคำเบิกความของจำเลยที่ 2ได้ความว่า จำเลยที่ 2 มีบ้านอยู่ใกล้กับบ่อเลี้ยงปลาของผู้เสียหายและทราบดีว่านายประหยัดเป็นคนเฝ้าบ่อปลาให้กับผู้เสียหายดังนั้นการที่นายประหยัดนำปลาดุกเลี้ยงจำนวนมากถึง 42 กิโลกรัมมาขายให้แก่จำเลยที่ 2 ในเวลาวิกาลประมาณ 4 นาฬิกาและขายในราคาต่ำเพียงกิโลกรัมละ 8 บาท ในขณะที่จำเลยที่ 2สามารถนำไปขายต่อไปได้ถึงกิโลกรัมละ 22 บาท เช่นนี้ ย่อมเป็นพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าจำเลยที่ 2 ทราบว่านายประหยัดลักทรัพย์ปลาดุกเลี้ยงของผู้เสียหายมา การที่จำเลยที่ 2 รับซื้อไว้จึงเป็นความผิดฐานรับของโจรแม้โจทก์จะฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ในข้อหาความผิดฐานลักทรัพย์ แต่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในการพิจารณาได้ความว่าจำเลยที่ 2 กระทำความผิดฐานรับของโจรก็ไม่ถือว่าต่างกันในข้อสาระสำคัญทั้งจำเลยที่ 2ก็มิได้หลงต่อสู้ ก็มิได้หลงต่อสู้ ศาลจึงลงโทษจำเลยที่ 2 ในข้อหาความผิดบานรับของโจรได้ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสองและวรรคสาม คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังขึ้นส่วนฎีกาของจำเลยที่ 2ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 วรรคแรก จำคุก 1 ปีและปรับ 3,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 หนึ่งในสาม คงจำคุก 8 เดือนและปรับ 2,000 บาท ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ได้รับโทษจำคุกมาก่อน สมควรให้โอกาสกลับตนเป็นพลเมืองดี โทษจำคุกให้รอไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ให้จำเลยที่ 2 คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ 756 บาท แก่ผู้เสียหายสำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้ยกฟ้อง

Share