คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 14009/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ เมื่อศาลเห็นสมควรไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง หรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายเพราะเหตุดังกล่าวยื่นคำร้องต่อศาล ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงหรือวิธีการบังคับใด ๆ โดยเฉพาะ หรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างใดตามที่ศาลเห็นสมควร” มาตรา 296 วรรคสาม บัญญัติว่า “การยื่นคำร้องตามมาตรานี้อาจกระทำได้ไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง…” คดีนี้การบังคับคดีเสร็จสิ้นลงไปแล้ว โดยผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 ในราคา 1,120,000 บาท และเจ้าพนักงานเสนอบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงินต่อศาลว่าได้จ่ายเงินให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียในคดีไปครบถ้วนแล้วตั้งแต่วันดังกล่าว แต่ผู้ร้องมายื่นคำร้องในคดีนี้เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2555 ซึ่งเป็นเวลาล่วงเลยกว่า 2 ปี หลังจากการบังคับคดีเสร็จสิ้นลงไปแล้ว คำร้องขอให้กันส่วนที่ดินของผู้ร้องและยกเลิกการขายทอดตลาดของผู้ร้องจึงเป็นการล่วงเลยกำหนดระยะเวลาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสาม จึงเป็นการต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว
ศาลชั้นต้นระบุมาตรา 1332 นั้น เนื่องจากมีข้อความว่าเป็นเรื่องผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ซึ่งเมื่อพิจารณาตัวบทกฎหมายแล้วก็จะเห็นว่า มาตรา 1332 นั้นเป็นเรื่องของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มิใช่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งจึงเห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องศาลชั้นต้นคลาดเคลื่อนในเรื่องชื่อของกฎหมายเท่านั้น มิใช่เป็นการอ้างกฎหมายผิด หรือไม่มีบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด ดังนั้นการอ้างชื่อบทกฎหมายผิดทั้ง ๆ ที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแล้วจึงไม่ก่อให้เกิดผลของการเปลี่ยนแปลงทางคดีแต่อย่างใด

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญากู้ยืมเงิน ต่อมามีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมแล้วเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ ม.688/2547 จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 104 ตำบลนาศรีนวน อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม เนื้อที่ประมาณ 45 ไร่ 2 งาน ออกขายทอดตลาดเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาแล้ว ผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2553
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดและกันที่ดินในส่วนของผู้ร้องออกจากการขายทอดตลาด
ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนพยานผู้ร้องได้ 1 ปาก แล้วจึงมีคำสั่งงดการไต่สวนและมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าผู้ร้องกับจำเลยเป็นบุตรของนายอุ่นกับนางคำไพร มีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 9 คน เดิมที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 104 ตำบลนาศรีนวน อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม เป็นของนายอุ่น ครั้นนายอุ่นถึงแก่ความตาย จำเลยร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกและโอนที่ดินเป็นของตนเอง โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยให้รับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินและมีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความจนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาจนถูกโจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 104 ออกขายทอดตลาด ผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 ราคา 1,120,000 บาท โดยชำระเงินและจดทะเบียนการโอนเรียบร้อยแล้ว
ผู้ร้องฎีกาว่า ผู้ร้องครอบครองและทำประโยชน์ที่ดินในฐานะที่ผู้ร้องเป็นเจ้าของไม่ใช่บริวารของจำเลย การยึดทรัพย์ดังกล่าวเป็นเหตุให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย ทำให้ผู้ร้องไม่ได้ที่ดินในส่วนที่ผู้ร้องได้ครอบครองและทำประโยชน์ ขอให้ศาลมีคำสั่งกันส่วนที่ดินของผู้ร้องออกตามแผนที่ นอกจากนี้การขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดียังไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดนั้น เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา 309 ทวิ วรรคสอง ถ้าเจ้าพนักงานบังคับคดีดำเนินการบังคับคดีฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ เมื่อศาลเห็นสมควรไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง หรือเมื่อเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษา หรือบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีซึ่งต้องเสียหายเพราะเหตุดังกล่าวยื่นคำร้องต่อศาล ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งเพิกถอนหรือแก้ไขกระบวนวิธีการบังคับคดีทั้งปวงหรือวิธีการบังคับใด ๆ โดยเฉพาะ หรือมีคำสั่งกำหนดวิธีการอย่างใดตามที่ศาลเห็นสมควร” มาตรา 296 วรรคสาม บัญญัติว่า “การยื่นคำร้องตามมาตรานี้อาจกระทำได้ไม่ว่าในเวลาใดก่อนการบังคับคดีได้เสร็จลง…” ปรากฏว่าคดีนี้การบังคับคดีเสร็จสิ้นลงไปแล้ว โดยผู้ซื้อทรัพย์เป็นผู้ซื้อทรัพย์ได้จากการขายทอดตลาดเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 ในราคา 1,120,000 บาท และเจ้าพนักงานเสนอบัญชีแสดงรายการรับ – จ่ายเงินต่อศาลว่าได้จ่ายเงินให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียในคดีไปครบถ้วนแล้วตั้งแต่วันดังกล่าว แต่ผู้ร้องมายื่นคำร้องในคดีนี้เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2555 ซึ่งเป็นเวลาล่วงเลยกว่า 2 ปี หลังจากการบังคับคดีเสร็จสิ้นลงไปแล้ว คำร้องขอให้กันส่วนที่ดินของผู้ร้องและยกเลิกการขายทอดตลาดของผู้ร้องจึงเป็นการล่วงเลยกำหนดระยะเวลาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสาม จึงเป็นการต้องห้ามตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว
ผู้ร้องฎีกาว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สิทธิกันส่วนในที่ดินพิพาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 287 ไม่อาจยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้ผู้ซื้อทรัพย์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 สิทธิของผู้ร้องไม่ดีกว่าผู้ซื้อทรัพย์ ผู้ร้องจึงไม่มีสิทธิขอกันส่วนได้ โดยผู้ร้องฎีกาว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1332 นั้นไม่มีในตัวบทกฎหมาย ไม่มีการตราไว้เป็นลายลักษณ์อักษร เห็นว่า ที่ศาลชั้นต้นระบุมาตรา 1332 นั้น เนื่องจากมีข้อความว่าเป็นเรื่องผู้ซื้อทรัพย์สินโดยสุจริตจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาล ซึ่งเมื่อพิจารณาตัวบทกฎหมายแล้วก็จะเห็นว่า มาตรา 1332 นั้นเป็นเรื่องของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มิใช่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งจึงเห็นได้ชัดว่าเป็นเรื่องศาลชั้นต้นคลาดเคลื่อนในเรื่องชื่อของกฎหมายเท่านั้น มิใช่เป็นการอ้างกฎหมายผิด หรือไม่มีบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ดังนั้นการอ้างชื่อบทกฎหมายผิดทั้งๆ ที่บทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าวได้บัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแล้วจึงไม่ก่อให้เกิดผลของการเปลี่ยนแปลงทางคดีแต่อย่างใด ฎีกาผู้ร้องฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share