แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
เมื่อค่าคอมมิสชันเป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้ลูกจ้างตำแหน่งพนักงานขายตามหลักเกณฑ์การจ่ายตามประกาศ อันเป็นเงินที่พนักงานขายได้รับจากการจำหน่ายสินค้าของโจทก์ซึ่งคิดคำนวณจากยอดสินค้าที่จำหน่ายได้ในแต่ละเดือน ซึ่งค่าคอมมิสชันนี้พนักงานขายจะได้รับมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับจำนวนยอดขายที่สามารถขายได้ จึงเห็นได้ว่าค่าคอมมิสชันเป็นเงินส่วนหนึ่งที่โจทก์จ่ายให้แก่พนักงานขายเป็นการตอบแทนการทำงานโดยตรงในวันและเวลาทำงานปกติโดยคิดตามผลงานที่ทำได้ ดังนั้น ค่าคอมมิสชันจึงเป็นค่าจ้างตามความหมายของ พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5 โจทก์จึงต้องนำไปรวมกับเงินเดือนของพนักงานขายมาเป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 4 ที่ รง 0627/37354 ฉบับลงวันที่ 19 สิงหาคม 2554 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 2653/2555 ฉบับลงวันที่ 8 พฤศจิกายน 2555
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ขอถอนฟ้องหรือสละประเด็นเกี่ยวกับเงินสมทบกองทุนเงินทดแทนตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ.2537
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์กำหนดวันเวลาทำงานตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ หยุดวันเสาร์และวันอาทิตย์ เริ่มทำงานตั้งแต่เวลา 9 นาฬิกา ถึง 19 นาฬิกา ลูกจ้างของโจทก์ตำแหน่งพนักงานขายนอกจากจะได้รับเงินเดือนจำนวนแน่นอนตามที่ตกลงกับโจทก์เป็นประจำทุกเดือนแล้ว ลูกจ้างในตำแหน่งดังกล่าวยังอาจได้รับเงินค่าคอมมิสชันตามประกาศที่ 039/2552 การกำหนดอัตราการจ่ายค่าคอมมิสชัน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เงินค่าคอมมิสชันที่โจทก์จ่ายให้แก่ลูกจ้างของโจทก์เป็นค่าจ้างตามคำนิยามในมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 หรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์จ่ายค่าคอมมิสชันเพื่อเป็นการจูงใจให้ลูกจ้างทำงานได้มากให้ได้ดีมีประสิทธิภาพมากกว่ามาตรฐานปกติ ตามประกาศค่าคอมมิสชันดังกล่าวทำให้มีทั้งลูกจ้างในตำแหน่งพนักงานขายที่ได้รับค่าคอมมิสชันและไม่ได้รับค่าคอมมิสชันและโจทก์ไม่ได้จ่ายค่าคอมมิสชันให้แก่ทุกยอดขายที่ลูกจ้างทำได้นั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5 บัญญัติว่า “ค่าจ้าง” หมายความว่า เงินทุกประเภทที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างเป็นค่าตอบแทนการทำงานในวันและเวลาทำงานปกติไม่ว่าจะคำนวณตามระยะเวลาหรือคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้…ทั้งนี้ ไม่ว่าจะกำหนด คำนวณ หรือจ่ายในลักษณะใดหรือโดยวิธีการใด และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร เมื่อค่าคอมมิสชันเป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้ลูกจ้างตำแหน่งพนักงานขายตามหลักเกณฑ์การจ่ายตามประกาศที่ 039/2552 อันเป็นเงินที่ลูกจ้างตำแหน่งดังกล่าวได้รับจากการจำหน่ายสินค้าของโจทก์ซึ่งคิดคำนวณจากยอดสินค้าที่จำหน่ายได้ในแต่ละเดือน ซึ่งค่าคอมมิสชันนี้ลูกจ้างจะได้รับมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับจำนวนยอดขายที่ลูกจ้างสามารถขายได้ จึงเห็นได้ว่าค่าคอมมิสชันเป็นเงินส่วนหนึ่งที่โจทก์จ่ายให้แก่ลูกจ้างดังกล่าวเป็นการตอบแทนการทำงานโดยตรงในวันและเวลาทำงานปกติโดยคิดตามผลงานที่ทำได้ ดังนั้น ค่าคอมมิสชันจึงเป็นค่าจ้างตามความหมายของพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 5 โจทก์จึงต้องนำไปรวมกับเงินเดือนของลูกจ้างดังกล่าวมาเป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบด้วย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
การที่โจทก์อุทธรณ์ว่าค่าคอมมิสชันที่จ่ายให้ลูกจ้างนั้นเป็นการจ่ายล่วงหน้าเต็ม 1 ปี กรมธรรม์ที่ลูกจ้างเสนอขายลูกค้าได้ไม่ว่าลูกค้าจะชำระเบี้ยประกันครั้งเดียวหรือผ่อนชำระก็ตามและธุรกิจเสนอขายประกันภัยลูกค้าสามารถยกเลิกกรมธรรม์แจ้งยุติความคุ้มครองและขอเบี้ยประกันคืนได้ตลอดเวลาตามความพึงพอใจของลูกค้า ซึ่งเมื่อลูกค้ารายใดยกเลิกกรมธรรม์แจ้งยุติความคุ้มครองและขอเบี้ยประกันคืนแล้ว โจทก์สามารถเรียกคืนค่าคอมมิสชันจากลูกจ้างได้ หากเป็นค่าจ้างแล้วโจทก์ย่อมไม่สามารถเรียกคืนจากลูกจ้างนั้นได้ ค่าคอมมิสชันดังกล่าวจึงไม่ใช่ค่าจ้างนั้น เป็นข้อที่โจทก์มิได้กล่าวอ้างมาในคำฟ้อง เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นอ้างใหม่ในชั้นอุทธรณ์ จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน