แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะทำสัญญาจะซื้อจะขายทาวน์เฮ้าส์ให้แก่โจทก์ โจทก์มีสิทธิได้รับเงินจากการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 177532 จำนวน 6,000,000 บาท จากจำเลยที่ 2 และได้แปลงหนี้ใหม่มาเป็นสัญญาจะซื้อจะขายทาวน์เฮาส์ แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้สร้างทาวน์เฮาส์ให้แก่โจทก์ตามสัญญา จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ก่อสร้างทาวน์เฮาส์จึงต้องถือว่าหนี้อันจะพึงเกิดขึ้นเพราะแปลงหนี้ใหม่นั้นมิได้เกิดขึ้น หนี้เดิมคือหนี้เงินที่จำเลยที่ 2 จะต้องชำระให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากการที่ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 177532 จำนวน 6,000,000 บาท จึงไม่ระงับสิ้นไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 351
การที่ศาลอุทธณ์ภาค 1 เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในเรื่องการแปลงหนี้ใหม่ซึ่งศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยแล้วว่า เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ก่อสร้างทาวน์เฮาส์แก่โจทก์ตามสัญญา จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ จำเลยที่ 2 จึงต้องคืนเงินจำนวน 6,000,000 บาท แก่โจทก์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กลับวินิจฉัยว่า เมื่อสัญญาซื้อขายทาวน์เฮาส์พร้อมที่ดินเป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญากับโจทก์ หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 177532 ย่อมระงับไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 349 โจทก์ชอบที่จะเรียกให้จำเลยที่ 1 คืนเงินทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยเท่านั้นแต่ไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยที่ขัดต่อบทบัญญัติตาม ป.พ.พ. มาตรา 351 จึงไม่ชอบ และปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็สามารถวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ เพราะเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 และเมื่อหนี้ที่เกิดจากการแปลงหนี้ใหม่ คือสัญญาจะซื้อจะขายทาวน์เฮาส์มิได้เกิดขึ้นตาม ป.พ.พ. มาตรา 351 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 177532 จำนวน 6,000,000 บาท แก่โจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 10,431,145.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 6,500,000 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 1 ขาดนัดพิจารณา
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 3 ศาลชั้นต้นอนุญาตและให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 3 ออกจากสารบบความ
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงิน 6,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 3 มีนาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 รับผิดในต้นเงิน 500,000 บาท จำเลยที่ 2 รับผิดในต้นเงิน 6,000,000 บาท แต่ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องต้องไม่เกินจำนวนที่โจทก์ขอ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 10,000 บาท
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 3 มีนาคม 2540 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลในชั้นฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้สำหรับจำเลยที่ 1 ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ส่วนคดีสำหรับจำเลยที่ 2 นั้น เห็นว่า ทั้งศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 รับฟังข้อเท็จจริงตรงกันว่า ก่อนที่จำเลยที่ 1 จะทำสัญญาจะซื้อจะขายทาวน์เฮาส์ให้แก่โจทก์ โจทก์มีสิทธิได้รับเงินจาการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 177532 จำนวน 6,000,000 บาท จากจำเลยที่ 2 และได้แปลงหนี้ใหม่มาเป็นสัญญาจะซื้อจะขายทาวน์เฮาส์ ตามสัญญาขายทาวน์เฮาส์พร้อมที่ดิน แต่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้สร้างทาวน์เฮาส์ให้แก่โจทก์ตามสัญญา จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาและโจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ ในชั้นอุทธรณ์จำเลยที่ 2 ก็อุทธรณ์ทำนองว่าสัญญาซื้อขายทาวน์เฮาส์พร้อมที่ดินมีเงื่อนไขบังคับก่อนแต่เงื่อนไขไม่สำเร็จ สัญญาจึงสิ้นผลไป ดังนั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังเป็นยุติได้ตามที่ศาลล่างทั้งสองฟังตรงกันดังกล่าว เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ก่อสร้างทาวน์เฮาส์จึงต้องถือว่าหนี้อันจะพึงเกิดขึ้นเพราะแปลงหนี้ใหม่นั้นมิได้เกิดขึ้น หนี้เดิมคือหนี้เงินที่จำเลยที่ 2 จะต้องชำระให้แก่โจทก์ตามที่โจทก์มีสิทธิได้รับจาการที่ขายที่ดินโฉนดเลขที่ 177532 จำนวน 6,000,000 บาท จึงไม่ระงับสิ้นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 351 การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 เห็นพ้องด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในเรื่องการแปลงหนี้ใหม่ซึ่งศาลชั้นต้นได้วินิจฉัยแล้วว่า เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ก่อสร้างทาวน์เฮาส์แก่โจทก์ตามสัญญา จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์มีสิทธิบอกเลิกสัญญาได้ จำเลยที่ 2 จึงต้องคืนเงินจำนวน 6,000,000 บาท แก่โจทก์ แต่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 กลับวินิจฉัยว่า เมื่อสัญญาซื้อขายทาวน์เฮาส์พร้อมที่ดินเป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยจำเลยที่ 1 เป็นคู่สัญญากับโจทก์ หนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 เกี่ยวกับการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 177532 ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 โจทก์ชอบที่จะเรียกให้จำเลยที่ 1 คืนเงินทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ยเท่านั้น แต่ไม่มีสิทธิที่จะบังคับเอาจากจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคำวินิจฉัยที่ขัดต่อบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 351 จึงไม่ชอบ และปัญหาดังกล่าวแม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็สามารถวินิจฉัยให้ถูกต้องได้ เพราะเป็นปัญหาเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 247 และเมื่อหนี้ที่เกิดจากการแปลงหนี้ใหม่ คือสัญญาจะซื้อจะขายทาวน์เฮาส์มิได้เกิดขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 351 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระเงินที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากการขายที่ดินโฉนดเลขที่ 177532 จำนวน 6,000,000 บาท แก่โจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามาในส่วนความรับผิดของจำเลยที่ 2 นั้น ศาลฎีกาไม่เป็นพ้องด้วย ส่วนฎีกาข้ออื่นของโจทก์ไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับจำเลยที่ 2 ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1