คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13287/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ป.พ.พ. มาตรา 1393 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระจำยอมไซร้ ท่านว่าภาระจำยอมย่อมติดไปกับสามยทรัพย์ซึ่งได้จำหน่ายหรือตกไปในบังคับแห่งสิทธิอื่น ซึ่งหมายความว่า ภาระจำยอมย่อมตกติดไปกับสามยทรัพย์เสมอ ไม่ว่าจะโอนสามยทรัพย์ให้ผู้ใด เว้นแต่กรณีภาระจำยอมได้มาโดยนิติกรรมและนิติกรรมที่ก่อตั้งภาระจำยอมได้จำกัดไว้ว่าให้ภาระจำยอมระงับไปเมื่อมีการโอนสามยทรัพย์ไปยังบุคคลอื่น ก็ต้องเป็นไปตามข้อตกลงนั้น
ผู้ร้องได้รับโอนที่ดินสามยทรัพย์โฉนดเลขที่ 22177 และ 20634 มาจากโจทก์ที่ 1 โดยมิใช่เป็นนิติกรรมอำพราง ภาระจำยอมที่มีอยู่ในที่ดินพิพาทของจำเลยย่อมติดไปกับที่ดินสามยทรัพย์ที่โอนด้วย ผู้ร้องจึงมีสิทธิใช้ประโยชน์ในทางภาระจำยอมได้ ในกรณีเช่นนี้กฎหมายไม่เปิดช่องให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับโอนสามยทรัพย์ สามารถยื่นคำร้องขอต่อศาลให้รับรองสิทธิในภาระจำยอมได้ เพราะการเสนอคดีตาม ป.วิ.พ. มาตรา 55 นั้น ต้องมีกฎหมายสนับสนุนด้วย ปัญหาเรื่องอำนาจในการเสนอคำร้องขอเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ที่ดินเฉพาะส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 14407 และ 40690 แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร ตามแนวเส้นสีชมพูในแผนที่วิวาท และที่ดินทั้งแปลงของที่ดินโฉนดเลขที่ 26037 แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร ตกเป็นภาระจำยอมโดยอายุความ สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 22177 และ 26034 แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ที่ 1 ให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 26037 แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร ทั้งแปลง ตกเป็นภาระจำยอมโดยอายุความ สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 26036 แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ที่ 3 ให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 26037 แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร ทั้งแปลง ตกเป็นภาระจำยอมโดยอายุความ สำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 11406 (ที่ถูก โฉนดเลขที่ 14406) แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ที่ 4 และให้จำเลยไปจดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทดังกล่าวตกเป็นภาระจำยอมในที่ดินของโจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 หากจำเลยไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา ห้ามจำเลยขัดขวางการที่โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ใช้ทางภาระจำยอมดังกล่าว ให้จำเลยรื้อถอนแนวกำแพงคอนกรีตที่สร้างปิดกั้นที่ดินโฉนดเลขที่ 22117 (ที่ถูก โฉนดเลขที่ 22177) และ 26034 แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ที่ 1 ที่ดินโฉนดเลขที่ 26036 แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ที่ 3 และที่ดินโฉนดเลขที่ 11406 (ที่ถูก โฉนดเลขที่ 14406) แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร ของโจทก์ที่ 4 ตามที่ปรากฏในแผนที่วิวาท คดีถึงที่สุดแล้ว
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2549 ผู้ร้องได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 22177 และ 26034 แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร จากโจทก์ที่ 1 ขอให้มีคำสั่งให้ที่ดินเฉพาะส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 14407 และ 40690 ตามแนวเส้นสีชมพูในแผนที่วิวาท และที่ดินทั้งแปลงของที่ดินโฉนดเลขที่ 26037 แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร ของจำเลยตกเป็นภาระจำยอมของผู้ร้องแทนโจทก์ที่ 1
โจทก์ที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ไม่คัดค้าน
จำเลยยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างไต่สวนผู้ร้องแถลงว่า เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 22177 และ 26034 แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร เป็นของโจทก์ที่ 1 เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2549 ผู้ร้องได้ซื้อที่ดินดังกล่าวจากโจทก์ที่ 1 แล้วนำไปจำนองแก่ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) ในวันเดียวกัน เดิมโจทก์ที่ 1 ประกอบกิจการค้าขายแก๊สในนามห้างหุ้นส่วนจำกัด เซ็นต์หลุยส์แก๊สและการเกษตร บนที่ดินดังกล่าวร่วมกับนายสมชาติ ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ที่ 1 ซึ่งเป็นบิดาของผู้ร้อง ส่วนโจทก์ที่ 1 เป็นลุงของผู้ร้อง หลังจากโจทก์ที่ 1 ขายที่ดินดังกล่าวให้ผู้ร้องแล้ว ยังโอนกิจการค้าขายแก๊สส่วนที่เป็นของโจทก์ที่ 1 ให้ผู้ร้องด้วย ปัจจุบันผู้ร้องกับนายสมชาติประกอบกิจการค้าขายแก๊สดังกล่าวร่วมกันในลักษณะกงสี โดยนายสมชาติเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า เมื่อมีภาระจำยอมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์แก่สามยทรัพย์แล้ว ไม่ว่าสามยทรัพย์นั้นจะโอนไปเป็นของผู้ใด ภาระจำยอมย่อมตกติดไปเพื่อประโยชน์แก่สามยทรัพย์อยู่เสมอ โดยไม่คำนึงถึงตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของ เพราะภาระจำยอมเป็นทรัพยสิทธิที่ผูกพันอสังหาริมทรัพย์เพื่อประโยชน์แก่อสังหาริมทรัพย์ มิใช่เพื่อประโยชน์แก่เจ้าของอสังหาริมทรัพย์ และภาระจำยอมจะระงับสิ้นไปเมื่อภารยทรัพย์หรือสามยทรัพย์สลายไปทั้งหมด หรือมิได้ใช้ภาระจำยอมสิบปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1397 และ 1399 ฉะนั้นตราบใดที่ภาระจำยอมยังมิได้ระงับสิ้นไป ภาระจำยอมก็ต้องคงอยู่เพื่อประโยชน์แก่สามยทรัพย์นั้นตลอดไป โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ใดจะเป็นเจ้าของสามยทรัพย์ ดังนั้น เมื่อที่ดินภารยทรัพย์ของจำเลยตกเป็นภาระจำยอมสำหรับที่ดินสามยทรัพย์ของโจทก์ที่ 1 และต่อมาผู้ร้องได้รับโอนที่ดินสามยทรัพย์จากโจทก์ที่ 1 ภาระจำยอมดังกล่าวจึงตกติดไปกับสามยทรัพย์ด้วย ผู้ร้องจึงใช้สิทธิภาระจำยอมเหนือที่ดินภารยทรัพย์ของจำเลยในฐานะที่เป็นเจ้าของสามยทรัพย์ได้ โดยจำเลยไม่มีอำนาจมาขัดขวางหรือหวงห้ามแต่ประการใด กรณีไม่มีเหตุที่จะอนุญาตตามคำร้อง จึงมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่าเดิมโจทก์ที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 22177 และ 20634 แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546 ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 14407 และ 40690 กับที่ดินทั้งแปลงของที่ดินโฉนดเลขที่ 26037 แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร ของจำเลยตกเป็นภาระจำยอมโดยอายุความสำหรับที่ดินของโจทก์ที่ 1โฉนดเลขที่ 22177 และ 20634 วันที่ 1 สิงหาคม 2550 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืน ต่อมาวันที่ 26 พฤศจิกายน 2550 ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ก่อนศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษาวันที่ 12 เมษายน 2549 ผู้ร้องซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 22177 และ 20634 ดังกล่าวจากโจทก์ที่ 1 ตามสำเนาหนังสือสัญญาขาย และสำเนาใบแทนโฉนดที่ดินเอกสารท้ายคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ที่ดินพิพาทเฉพาะส่วนของที่ดินโฉนดเลขที่ 14407 และ 40690 กับที่ดินทั้งแปลงของที่ดินโฉนดเลขที่ 26037 ของจำเลยตกเป็นภาระจำยอมสำหรับที่ดินโฉนดเลขที่ 22177 และ 20634 ของผู้ร้องแทนโจทก์ที่ 1 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องหรือไม่เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1393 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในนิติกรรมอันก่อให้เกิดภาระจำยอมไซร้ ท่านว่าภาระจำยอมย่อมติดไปกับสามยทรัพย์ซึ่งได้จำหน่ายหรือตกไปในบังคับแห่งสิทธิอื่น ซึ่งหมายความว่า ภาระจำยอมย่อมตกติดไปกับสามยทรัพย์เสมอ ไม่ว่าจะโอนสามยทรัพย์ให้ผู้ใด เว้นแต่กรณีภาระจำยอมได้มาโดยนิติกรรมและนิติกรรมที่ก่อตั้งภาระจำยอมได้จำกัดไว้ว่าให้ภาระจำยอมระงับไปเมื่อมีการโอนสามยทรัพย์ไปยังบุคคลอื่น ก็ต้องเป็นไปตามข้อตกลงนั้น ดังนั้น หากจะฟังตามคำร้องว่าผู้ร้องได้รับโอนที่ดินสามยทรัพย์โฉนดเลขที่ 22177 และ 20634 มาจากโจทก์ที่ 1 โดยมิใช่เป็นนิติกรรมอำพราง ภาระจำยอมที่มีอยู่ในที่ดินพิพาทของจำเลยก็ติดไปกับที่ดินสามยทรัพย์ที่โอนด้วย ผู้ร้องจึงมีสิทธิใช้ประโยชน์ในทางภาระจำยอมได้ ในกรณีเช่นนี้กฎหมายไม่เปิดช่องให้ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับโอนสามยทรัพย์ สามารถยื่นคำร้องต่อศาลขอให้รับรองสิทธิในภาระจำยอมได้ เพราะการเสนอคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 นั้น ต้องมีกฎหมายสนับสนุนด้วย ที่จำเลยฎีกาว่า คดีมีประเด็นตามคำร้องและคำคัดค้านเพียงว่า นิติกรรมการซื้อขายที่ดินสามยทรัพย์ระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายและผู้ร้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวหรือไม่ แต่ศาลล่างทั้งสองไม่วินิจฉัยให้จึงเป็นการไม่ชอบ เห็นว่า ปัญหาเรื่องอำนาจในการเสนอคำร้องเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นอ้าง ศาลฎีกาก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และ 247 เมื่อยกคำร้องของผู้ร้องตามมาตราดังกล่าวแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยข้อที่จำเลยต่อสู้อีก เพราะไม่เป็นสาระแก่คดีและไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share