คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 13947/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ทั้งนี้ ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา” ซึ่งคำว่า “ทั้งนี้” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า ตามที่กล่าวมานี้ ดังนี้ คำว่า ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงครอบคลุมถึงเสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ซึ่งเป็นข้อความที่กล่าวไว้ก่อนคำว่าตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย มิใช่ครอบคลุมเฉพาะกรณีวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทเท่านั้น เมื่ออธิบดีกรมตำรวจออกข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพแอมเฟตามีนและเมทแอมเฟตามีน ตามข้อกำหนดกรมตำรวจ เรื่อง กำหนดชื่อและประเภทของวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทและประเภทของรถที่ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจตรวจสอบผู้ขับขี่ ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2537 โดยยังไม่ได้ออกข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพเฮโรอีนซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 67, 91, 102 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ, 157/1 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 42, 64 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 58, 91 ริบของกลาง และบวกโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 260/2555 ของศาลชั้นต้นเข้ากับโทษของจำเลยในคดีนี้
จำเลยให้การรับสารภาพและรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 57, 67, 91 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ.2522 มาตรา 64 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานขับรถโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 600 บาท ฐานมีเฮโรอีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุก 1 ปี และปรับ 20,000 บาท ฐานเสพเฮโรอีนและฐานเป็นผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง ประกอบพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 8 เดือน และปรับ 30,000 บาท รวมจำคุก 1 ปี 8 เดือน และปรับ 50,600 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 10 เดือน และปรับ 25,300 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 2 ปี โดยให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ 3 เดือนต่อครั้งภายในระยะเวลา 1 ปี และให้จำเลยกระทำกิจกรรมบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์ตามที่พนักงานคุมประพฤติและจำเลยเห็นสมควรเป็นเวลา 20 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบของกลาง ยกคำขอที่ให้บวกโทษ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องข้อหาตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง ฐานเสพเฮโรอีนลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 91 จำคุก 8 เดือน และปรับ 20,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุก 4 เดือน และปรับ 10,000 บาท เมื่อรวมกับโทษฐานอื่นที่ศาลชั้นต้นกำหนดแล้ว เป็นจำคุก 10 เดือน และปรับ 20,300 บาท การรอการลงโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง ชอบหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า เฮโรอีนเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษแล้ว โดยไม่ต้องพิจารณาว่าต้องเป็นไปตามที่อธิบดีกรมตำรวจประกาศข้อกำหนดดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง ตอนท้าย เพราะกฎหมายใช้คำว่า หรือ ในระหว่างข้อความว่า ยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ และข้อความว่า วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท และคำว่า ทั้งนี้ อยู่ต่อท้ายข้อความว่า วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทเท่านั้น หาได้รวมข้อความ ยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ เข้าไปอยู่ในข้อกำหนดของอธิบดีกรมตำรวจด้วยไม่นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ หรือเสพวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ทั้งนี้ ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา” ซึ่งคำว่า “ทั้งนี้” ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ให้ความหมายไว้ว่า ตามที่กล่าวมานี้ ดังนี้ คำว่า ตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษา จึงครอบคลุมถึงเสพยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ซึ่งเป็นข้อความที่กล่าวไว้ก่อนคำว่าตามที่อธิบดีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาด้วย มิใช่ครอบคลุมเฉพาะกรณีวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทดังที่โจทก์ฎีกาเท่านั้น เมื่ออธิบดีกรมตำรวจออกข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพแอมเฟตามีนและเมทแอมเฟตามีน ตามข้อกำหนดกรมตำรวจ เรื่อง กำหนดชื่อและประเภทของวัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาทและประเภทของรถที่ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจตรวจสอบผู้ขับขี่ ลงวันที่ 13 กรกฎาคม 2537 โดยยังไม่ได้ออกข้อกำหนดห้ามมิให้ผู้ขับขี่เสพเฮโรอีนซึ่งเป็นยาเสพติดให้โทษตามกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานเป็นผู้ขับขี่เสพยาเสพติดให้โทษตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 มาตรา 43 ทวิ วรรคหนึ่ง, 157/1 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน

Share