แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ข้อความที่ระบุไว้ในสัญญาเช่าที่ดินว่าเมื่อสิ้นอายุสัญญาเช่าแล้วผู้เช่าต้องรื้อออกจากที่ดินของผู้ให้เช่าทันทีโดยไม่เรียกร้องค่ารื้อถอนหรือค่าเสียหายใดจากผู้ให้เช่าส่วนสิ่งที่ได้ปลูกสร้างลงไว้ในที่ดินของผู้ให้เช่าผู้เช่ายอมยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าทั้งสิ้นนั้นเป็นข้อความที่ระบุถึงสิ่งก่อสร้างไว้เป็นสองตอนตอนแรกระบุให้ผู้เช่าต้องรื้อเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงตอนหลังระบุถึงสิ่งที่ผู้เช่าปลูกสร้างว่าผู้เช่าต้องยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าข้อความทั้งสองตอนมีความหมายที่แตกต่างกันคือข้อความตอนแรกไม่ได้กล่าวถึงการปลูกสร้างแต่กล่าวถึงการรื้อถอนเลยแสดงว่าขณะทำสัญญาเช่าที่ดินในที่พิพาทมีสิ่งปลูกสร้างของผู้เช่าอยู่ก่อนแล้วซึ่งก็คือบ้านพิพาทเลขที่354และ356ของจำเลยเพราะบ้านทั้งสองหลังดังกล่าวจำเลยปลูกสร้างก่อนทำสัญญาเช่าที่ดินสำหรับข้อความในตอนหลังคู่สัญญาน่าจะหมายถึงสิ่งที่จะปลูกสร้างหลังจากทำสัญญาเช่าที่ดินแล้วดังนั้นบ้านพิพาททั้งสองหลังจึงยังไม่เป็นของโจทก์ตามสัญญาเช่าที่ดินโจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะหารายได้จากบ้านพิพาทดังกล่าวได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 320 และ 544 และบ้านเลขที่ 354และ 356 ให้ชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 16,666 บาท และค่าเสียหายอีกเดือนละ 10,000 บาท แก่โจทก์นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะขนย้ายทรัพย์สินออกไปจากที่ดินและบ้านของโจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยและพี่น้องได้ครอบครองที่พิพาทโดยเจตนาเป็นเจ้าของตลอดมาเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปี จำเลยจึงได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ขอให้ยกฟ้องและขอให้โจทก์ไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 320 และ 544 ให้แก่จำเลยภายใน 30 วันหากไม่ปฎิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของโจทก์
โจทก์ให้การและแก้ไขคำให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่พิพาทเป็นที่ดินของปู่โจทก์ไม่เคยขายให้แก่ใคร จำเลยอยู่อาศัยในฐานะบริวารของมารดาของจำเลย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า ที่พิพาทโฉนดเลขที่ 320และ 544 ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ตเป็นของโจทก์ ให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่พิพาท ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 6,666 บาท กับค่าเสียหายเดือนละ4,000 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะรื้อบ้านออกไปจากที่พิพาท ยกฟ้องแย้ง
โจทก์ และ จำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายืน
โจทก์ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยและโจทก์มิได้ฎีกาโต้เถียงเป็นอย่างอื่นว่า ที่พิพาทโฉนดเลขที่ 320 และ 544 ตำบลตลาดใหญ่อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต เป็นของโจทก์ จำเลยปลูกบ้านพิพาทเลขที่ 354 และ 356 บนที่พิพาท นางสาวเซ็วหรือเบ็ญจพร แซ่หงอน้องสาวของจำเลยเช่าที่พิพาทจากโจทก์ตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.4 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า บ้านพิพาทเลขที่ 354 และ 356 บนที่พิพาทเป็นของโจทก์ตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 4 หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า บ้านพิพาทเลขที่ 354 และ 356 บนที่พิพาท คือสิ่งปลูกสร้างที่นางสาวเซ็วหรือเบ็ญจพร แซ่หงอ ยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดิน เอกสารหมาย จ.4 ข้อ 4นั้น หนังสือสัญญาเช่าที่ดินตามเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 4 ระบุว่า”เมื่อสิ้นอายุแห่งสัญญาเช่านี้แล้ว ผู้เช่าต้องรื้อออกจากที่ดินของผู้ให้เช่าทันที โดยไม่เรียกร้องค่ารื้อขนหรือค่าเสียหายอย่างหนึ่งอย่างใดจากผู้ให้เช่าเป็นอันขาด ส่วนสิ่งที่ปลูกสร้างลงไว้ในที่ดินของผู้ให้เช่า ผู้เช่ายอมยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าทั้งสิ้น” เห็นว่า ข้อความดังกล่าวระบุถึงสิ่งก่อสร้างเป็นสองตอน ตอนแรกระบุให้ผู้เช่าต้องรื้อเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลงข้อความตอนหลังระบุถึงสิ่งที่ผู้เช่าปลูกสร้างว่า ผู้เช่าต้องยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ให้เช่าข้อความทั้งสองตอนมีความหมายที่แตกต่างกัน กล่าวคือ ข้อความตอนแรกไม่ได้กล่าวถึงการปลูกสร้าง แต่กล่าวถึงการรื้อถอนเลยแสดงว่าขณะทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดินตามเอกสารหมาย จ.4 ในที่พิพาทมีสิ่งปลูกสร้างของผู้เช่าอยู่ก่อนแล้ว ดังนี้ คู่สัญญาน่าจะหมายถึงบ้านพิพาทเลขที่ 354 และ 356 ของจำเลยเพราะบ้านทั้งสองหลังดังกล่าวจำเลยปลูกสร้างก่อนทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดินตามเอกสารหมาย จ.4 สำหรับข้อความในตอนหลังคู่สัญญาน่าจะหมายถึงสิ่งที่จะปลูกสร้างหลังจากทำหนังสือสัญญาเช่าที่ดินตามเอกสารหมาย จ.4 ดังนั้น บ้านพิพาททั้งสองหลังจึงยังไม่เป็นของโจทก์ตามหนังสือสัญญาเช่าที่ดินเอกสารหมาย จ.4 ข้อ 4
โจทก์ฎีกาต่อมาว่า ที่ศาลล่างทั้งสองศาลกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์เดือนละ 4,000 บาท นั้น เป็นค่าเสียหายเฉพาะค่าเช่าที่พิพาทเท่านั้น เมื่อฟังว่าบ้านพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ โจทก์ย่อมหารายได้จากบ้านพิพาทได้ด้วยนั้น เห็นว่าเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่วินิจฉัยมาแล้วว่า บ้านพิพาททั้งสองหลังมิได้เป็นของโจทก์ ดังนั้นโจทก์จึงไม่มีสิทธิที่จะหารายได้จากบ้านพิพาทดังกล่าว ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน