คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2184/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้ยืมจำนวนหนึ่งและเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีอีกจำนวนหนึ่งพร้อมด้วยดอกเบี้ยทั้งสองจำนวน มิฉะนั้นให้บังคับจำนองทรัพย์สินที่นำมาเป็นประกัน จำเลยให้การต่อสู้เกี่ยวกับอำนาจฟ้องโดยอ้างเหตุหลายประการด้วยกัน และยังต่อสู้เกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยด้วยเหตุหลายประการเช่นกันดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ และจำเลยต้องรับผิดดอกเบี้ยหรือไม่เพียงใดโดยให้โจทก์นำสืบก่อน ย่อมครอบคลุมข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งหมดแล้วหาจำต้องแยกแยะประเด็นเป็นข้อย่อยดังที่จำเลยยื่นคำแถลงเสนอประเด็นข้อพิพาทแต่อย่างใดอีกไม่ การกำหนดประเด็นข้อพิพาทของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ มาตรา 183ที่แก้ไขใหม่ ที่ใช้บังคับขณะศาลชั้นต้นชี้สองสถานแล้ว จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 183 วรรคสี่โดยระบุไว้ด้วยว่า เพื่อใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาต่อไป การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำคัดค้านเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดว่ารวมสำนวนไว้ ย่อมมีความหมายอยู่ในตัวว่า ประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ถูกต้องแล้ว ไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งดังคำคัดค้านของจำเลยกรณีพอถือได้ว่า ศาลชั้นต้นได้ชี้ขาดคำคัดค้านเกี่ยวกับการกำหนดประเด็นข้อพิพาทของจำเลยแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบริษัทจำกัด มีนายบัณฑูร ล่ำซำเป็นกรรมการผู้จัดการ มีอำนาจทำการแทนโจทก์ โจทก์มอบอำนาจให้นายสมชาย วงษ์หงษ์กุล ผู้จัดการสาขาของโจทก์ดำเนินคดีแทนเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2532 จำเลยกู้เงินโจทก์จำนวน 700,000บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ตกลงให้โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้ทันทีตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย และยอมให้โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระไม่น้อยกว่า 1 ปี มาทบเข้ากับต้นเงิน แล้วคิดดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ทบเข้ากันนั้นได้ ต่อมาวันที่ 24 สิงหาคม 2533 จำเลยทำสัญญากู้เงินเบิกเกินบัญชีกับโจทก์ในวงเงิน 700,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 16.5ต่อปี ตกลงให้โจทก์เปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยได้ทันทีตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นการประกันหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงินและสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี จำเลยได้จดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างรวม 6 แปลง ไว้แก่โจทก์ โดยตกลงว่าหากโจทก์บังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้จำเลยยอมรับผิดชำระส่วนที่เหลือจนครบ เมื่อคิดถึงวันฟ้อง จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้ยืมเงินจำนวน 1,028,641.39 บาท และดอกเบี้ยที่ค้างชำระอีก 153,753.30 บาทตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวน 830,886.19 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,013,280.80 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน2,013,280.80 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปีของต้นเงิน 1,859,527.50 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จหากไม่ชำระให้ยึดทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดนำเงินชำระหนี้โจทก์ ถ้าไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยชำระหนี้โจทก์จนครบ
จำเลยให้การว่า ในวันยื่นคำฟ้องนายบัณฑูร ล่ำซำ ไม่ใช่กรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องหนังสือมอบอำนาจไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องจำเลยตามสัญญากู้ยืมเงินเพราะหนี้ยังไม่ถึงกำหนดชำระเงิน สัญญากู้ยืมเงินกับสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีเป็นโมฆะ เพราะเกินอำนาจของผู้จัดการสาขาของโจทก์ โจทก์นำดอกเบี้ยที่ค้างชำระทบเข้ากับต้นเงินแล้วคิดดอกเบี้ยทบต้นอีกเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะทั้งหมดสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีสิ้นสุดลงในวันที่ 24 สิงหาคม 2534 หลังจากนี้โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้น การที่โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นจนถึงวันฟ้องจึงไม่ถูกต้องอีกทั้งจำเลยเคยเสนอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์แล้วตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2534 แต่โจทก์ไม่ยอมรับชำระหนี้ โจทก์เป็นผู้ผิดนัดจึงคิดดอกเบี้ยจากจำเลยอีกไม่ได้ โจทก์คิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด และเกินกว่าอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศ โจทก์มีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยชำระหนี้และบังคับจำนองแล้วถือว่าสัญญากู้ยืมเงินสิ้นสุดลง หลังจากนี้โจทก์ไม่มีสิทธินำดอกเบี้ยทบเข้ากับต้นเงินในแต่ละเดือนดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะทั้งหมด จำเลยคงต้องรับผิดเฉพาะต้นเงินจำนวน 1,400,000บาท เท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
ชั้นชี้สองสถาน ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทว่า
ข้อ 1. โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่
ข้อ 2. จำเลยต้องรับผิดดอกเบี้ยหรือไม่ เพียงใด โดยกำหนดให้โจทก์นำสืบก่อน
จำเลยยื่นคำร้องฉบับลงวันที่ 28 มกราคม 2537 คัดค้านว่าศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไม่ถูกต้อง เพราะขาดไป 6 ประเด็นตามที่จำเลยเสนอประเด็นต่อศาลฉบับลงวันที่ 12 มกราคม 2537ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรวมสำนวนไว้
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญา
จำเลยอุทธรณ์คำสั่ง
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเป็นลำดับแรกว่า ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ครบถ้วนถูกต้องหรือไม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183วรรคสอง ที่ใช้บังคับขณะศาลชั้นต้นชี้สองสถาน บัญญัติว่าให้ศาลตรวจคำคู่ความและคำแถลงเสนอประเด็นข้อพิพาท แล้วนำข้ออ้างข้อเถียงที่ปรากฎในคำคู่ความและคำแถลงเสนอประเด็นข้อพิพาทเทียบกันดูและสอบถามคู่ความทุกฝ่ายถึงข้ออ้าง ข้อเถียงและพยานหลักฐานที่ยื่นต่อศาลว่าฝ่ายใดยอมรับหรือโต้แย้งข้ออ้าง ข้อเถียงนั้นอย่างไรข้อเท็จจริงใดทีคู่ความยอมรับกันก็เป็นอันยุติไปตามนั้น ส่วนข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงที่คู่ความฝ่ายหนึ่งยกขึ้นอ้าง แต่คู่ความฝ่ายอื่นไม่รับและเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับประเด็นข้อพิพาทตามคำคู่ความ ให้ศาลกำหนดไว้เป็นประเด็นข้อพิพาทและกำหนดให้คู่ความฝ่ายใดนำพยานหลักฐานมาสืบในประเด็นข้อใดก่อนหรือหลังก็ได้” เห็นว่าคดีนี้โจทก์ฟ้องเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้เงินกู้ยืมจำนวนหนึ่ง และเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีจำนวนหนึ่ง พร้อมด้วยดอกเบี้ยทั้งสองจำนวน มิฉะนั้นให้บังคับจำนองทรัพย์สินที่นำมาเป็นประกัน จำเลยให้การต่อสู้เกี่ยวกับอำนาจฟ้องโดยอ้างเหตุหลายประการด้วยกัน และยังต่อสู้เกี่ยวกับการคิดดอกเบี้ยด้วยเหตุหลายประการเช่นกัน ดังนั้น ที่ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทไว้ 2 ข้อดังกล่าวแล้วข้างต้นย่อมครอบคลุมข้อต่อสู้ของจำเลยทั้งหมดแล้วหาจำต้องแยกแยะประเด็นเป็นข้อย่อยดังที่จำเลยยื่นคำแถลงเสนอประเด็นข้อพิพาทแต่อย่างใดอีกไม่การกำหนดประเด็นข้อพิพาทของศาลชั้นต้นจึงชอบด้วยวิธีพิจารณาแล้ว
ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า ศาลชั้นต้นมิได้ชี้ขาดคำคัดค้านเกี่ยวกับการกำหนดประเด็นข้อพิพาทอันเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 183 วรรคสี่บัญญัติว่า “คู่ความมีสิทธิคัดค้านว่าประเด็นข้อพิพาทหรือหน้าที่นำสืบที่ศาลกำหนดไว้นั้นไม่ถูกต้อง โดยแถลงด้วยวาจาต่อศาลในขณะนั้นหรือยื่นคำร้องต่อศาลภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่ศาลสั่งกำหนดประเด็น ให้ศาลชี้ขาดคำคัดค้านนั้นก่อนวันสืบพยานคำชี้ขาดคำคัดค้านดังกล่าวให้อยู่ภายใต้บังคับมาตรา 226″เห็นว่า คดีนี้จำเลยยื่นคำร้องคัดค้านระบุไว้ด้วยว่า เพื่อใช้สิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาต่อไป ดังนั้น การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำคัดค้านเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดว่า รวมสำนวนไว้ย่อมมีความหมายอยู่ในตัวว่า ประเด็นข้อพิพาทที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ถูกต้องแล้วไม่มีเหตุที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งดังคำคัดค้านของจำเลย จึงให้รวมสำนวนไว้กรณีพอถือได้ว่า ศาลชั้นต้นได้ชี้ขาดคำคัดค้านของจำเลยแล้ว
พิพากษายืน

Share