คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1445/2542

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลแรงงานฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อโจทก์เดินทางมาถึงประเทศไทย และวันที่ 28 สิงหาคม 2538 โจทก์จำเลยทำสัญญาจ้างแรงงานขึ้นอีกฉบับหนึ่งและโจทก์เริ่มต้นทำงานกับจำเลยในวันนั้น โจทก์จึงเป็นลูกจ้างของจำเลยตั้งแต่วันดังกล่าว และเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2539ด.ผู้จัดการทั่วไปของจำเลยแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยต้องการจะเลิกจ้างโจทก์จึงให้โจทก์เลือกว่าจะลาออกหรือให้จำเลยเลิกจ้าง หลังจากเจรจากันแล้วโจทก์ได้ยื่นใบลาออกเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2539 จึงเป็น การที่โจทก์ลาออกโดยสมัครใจที่โจทก์อุทธรณ์ว่า คำเสนอ สนองระหว่างโจทก์จำเลยเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่เวลาที่โจทก์ เดินทางมาประเทศไทยเพื่อเข้ารับการสัมภาษณ์จาก ด. สัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์จำเลยจึงเกิดขึ้นตั้งแต่ วันที่ 30 มิถุนายน 2538 โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่ วันดังกล่าวและเมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2539 ก่อนที่จำเลยจะเรียกโจทก์ไปพบ จำเลยมีเจตนาจะเลิกจ้างโจทก์และ จัดทำหนังสือเลิกจ้างไว้แล้ว เมื่อโจทก์จำเลยเจรจากันแล้ว จำเลยจึงยื่นหนังสือดังกล่าวให้โจทก์ แสดงให้เห็นเจตนาอัน แท้จริงของจำเลยว่าเป็นการเลิกจ้างโจทก์นั้นอุทธรณ์ ของโจทก์ทั้งสองข้อล้วนเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการ รับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ ในข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2538จำเลยตกลงจ้างโจทก์ทำงานกับจำเลย และจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยโจทก์ไม่ได้กระทำความผิดและเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์ทำงานกับจำเลยเป็นเวลาเกินกว่า 120 วัน ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน เป็นเงิน 4,500 ดอลลาร์สหรัฐค่าจ้างเต็มจำนวนเป็นระยะเวลา 6 เดือน ตามสัญญาเป็นเงิน27,000 ดอลลาร์สหรัฐ โจทก์มีวันลาหยุดพักผ่อนประจำปี 3 สัปดาห์ขอคิดค่าเสียหายเป็นเงิน 3,375 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมเท่ากับค่าจ้าง 12 เดือนเป็นเงิน 54,000 ดอลลาร์สหรัฐ ค่าเดินทางและค่าขนส่งทรัพย์สินของโจทก์กลับไปยังภูมิลำเนาของโจทก์เมื่อการจ้างสิ้นสุดลงเป็นเงิน 2,531.20 ดอลลาร์สหรัฐ และภาษีมูลค่าเพิ่มอีกร้อยละสิบ คิดเป็นเงินค่าเสียหาย 2,784.32 ดอลลาร์สหรัฐรวมเป็นค่าเสียหายทั้งสิ้น 91,659.32 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างจนกว่าจะจ่ายเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งและแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งว่าจำเลยไม่ได้จ้างโจทก์ทำงานกับจำเลยเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2538(ที่ถูก กรกฎาคม) โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาจ้างแรงงานเมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2538 จำเลยมิได้เลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์ยื่นใบลาออกต่อจำเลยและการยื่นหนังสือลาออกดังกล่าวเป็นความประสงค์ของโจทก์เอง เมื่อโจทก์ลาออกด้วยความสมัครใจ สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยสิ้นสุดลง จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยค่าเสียหายอื่น ๆ ตามฟ้องให้โจทก์ และจำเลยไม่ต้องรับผิดเงินค่าขนส่งทรัพย์สินของโจทก์กลับภูมิลำเนา โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายเนื่องจากไม่ได้รับการลาหยุดพักผ่อนประจำปี3 สัปดาห์ เพราะโจทก์ได้สละสิทธิการหยุดพักผ่อนประจำปีโดยแจ้งจำเลยเป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว นอกจากนี้ตามข้อตกลงในสัญญาจ้างในกรณีที่พนักงานลาออกไม่บอกกล่าวล่วงหน้า 3 เดือนจำเลยมีสิทธิเรียกค่าเสียหายเท่ากับอัตราเงินเดือนของพนักงาน3 เดือน พร้อมค่าใช้จ่ายที่จำเลยได้รับความเสียหาย โจทก์ลาออกโดยบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ครบ 3 เดือน โจทก์จึงต้องชำระค่าเสียหายให้จำเลยเป็นการบอกกล่าวล่วงหน้าไม่ครบสามเดือนเท่ากับค่าจ้างที่จำเลยจ้างโจทก์สามเดือน รวมเป็นเงิน344,250 บาท โจทก์ต้องชำระค่าใช้จ่ายที่จำเลยต้องเสียไปในการจ้างโจทก์เนื่องจากโจทก์ลาออกก่อนครบกำหนด 1 ปีนับแต่วันที่เริ่มทำงานตามสัญญาจ้างและข้อตกลงการทำงานคิดเป็นเงินทั้งสิ้นเท่ากับค่าจ้างที่จำเลยจ่ายให้โจทก์จำนวน 12 เดือนเป็นเงิน 1,377,000 บาท รวมเป็นเงินที่โจทก์ต้องรับผิดชำระให้จำเลยทั้งสิ้น 1,721,250 บาท ขอให้ยกฟ้อง และบังคับให้โจทก์ชำระเงินจำนวน 1,721,250 บาท ตามฟ้องแย้งให้แก่โจทก์ (ที่ถูกจำเลย)
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามสัญญาจ้างเพราะโจทก์ไม่ได้ลาออก แต่ได้ถูกจำเลยเลิกจ้างทั้งโจทก์สิ้นสุดสภาพการเป็นพนักงานเมื่อพ้นกำหนด 1 ปีแล้วเพราะโจทก์ตกลงทำสัญญาจ้างกับจำเลยเมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2538และโจทก์ถูกเลิกจ้างโดยมีผลให้สิ้นสุดสภาพพนักงานเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2539 ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า ก่อนโจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยโจทก์อยู่ที่ประเทศแคนาดา นายแดเนียล แม็คคาฟเฟอร์ตี้ผู้จัดการทั่วไปของจำเลยติดต่อโจทก์ให้ทำงานกับจำเลย วันที่ 30 มิถุนายน 2538 โจทก์เดินทางถึงประเทศไทยและนายแดเนียลได้สัมภาษณ์โจทก์ ในวันรุ่งขึ้นนายแดเนียลเสนอรับโจทก์เข้าทำงานกับจำเลย ต่อมาวันที่ 17 กรกฎาคม 2538นายแดเนียลมีหนังสือถึงโจทก์เสนอจ้างโจทก์มาทำงานกับจำเลยในประเทศไทย ทำหน้าที่ผู้อำนวยการฝ่ายขายและการตลาดค่าจ้างเดือนละ 4,500 ดอลลาร์สหรัฐ มีกำหนด 2 ปี โดยโจทก์ต้องเริ่มทำงานวันที่ 28 สิงหาคม 2538 โจทก์ตกลงและวันที่19 กรกฎาคม 2538 โจทก์ลงลายมือชื่อรับข้อเสนอดังกล่าวตามเอกสารหมาย จ.1 แต่พยานหลักฐานของโจทก์ฟังไม่ได้ว่าโจทก์ส่งหรือแสดงเจตนาสนองรับไปยังจำเลยโดยวิธีใดและโจทก์ส่งเอกสารหมาย จ.1 ให้จำเลยตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2538 จริงหรือไม่ ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าสัญญาจ้างมีผลตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2538 ต่อมาวันที่ 25 สิงหาคม 2538โจทก์เดินทางถึงประเทศไทย และวันที่ 28 สิงหาคม 2538โจทก์ทำงานกับจำเลยเป็นวันแรกและโจทก์จำเลยทำสัญญาจ้างตามเอกสารหมาย จ.2 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าสัญญาจ้างเกิดขึ้นตั้งแต่วันดังกล่าว โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่ 28 สิงหาคม 2538 ต่อมาวันที่ 18 พฤษภาคม 2539 นายแดเนียลกับโจทก์เจรจากันว่าจำเลยต้องการเลิกจ้างโจทก์จึงให้โจทก์เลือกว่าจะลาออกหรือให้จำเลยเลิกจ้าง หลังจากเจรจากันแล้วโจทก์ตกลงลาออก วันนั้นนายแดเนียลมอบหนังสือส่วนบุคคลลับเฉพาะฉบับลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2539 เอกสารหมาย จ.3 ให้โจทก์ครั้นวันที่ 25 พฤษภาคม 2539 โจทก์ทำหนังสือลาออกและหนังสือสละสิทธิการหยุดพักผ่อนประจำปี เอกสารหมาย จ.4 และ ล.8มอบให้จำเลย ต่อมาโจทก์ทำหนังสือแจ้งลูกค้าของจำเลยว่าโจทก์ลาออกจากงานตามเอกสารหมาย ล.2 คดีฟังได้ว่าโจทก์ลาออกโดยสมัครใจเนื่องจากการตกลงของโจทก์จำเลยมิใช่เป็นการเลิกจ้างสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยย่อมระงับไปโจทก์ไม่มีสิทธิได้รับเงินต่าง ๆ ตามฟ้องและจำเลยไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายตามฟ้องแย้ง พิพากษายกฟ้องและยกฟ้องแย้ง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ประการแรกว่าเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2538 นายแดเนียล แม็คคาฟเฟอร์ตี้ติดต่อโจทก์ให้ทำงานกับจำเลยต่อมาวันที่ 30 มิถุนายน 2538 โจทก์เดินทางจากประเทศแคนาดามาประเทศไทยไปพบนายแดเนียลและโจทก์ได้รับการสัมภาษณ์ วันรุ่งขึ้นนายแดเนียลเสนอรับโจทก์เข้าทำงานกับจำเลย เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2538 นายแดเนียลมีหนังสือถึงโจทก์เสนอจ้างโจทก์ให้ทำงานกับจำเลยในประเทศไทยเอกสารหมาย จ.1 คำเสนอสนองระหว่างโจทก์จำเลยเกิดขึ้นแล้วตั้งแต่เวลาที่โจทก์เดินทางมาประเทศไทยเพื่อเข้ารับการสัมภาษณ์จากนายแดเนียล ดังนั้นสัญญาจ้างแรงงานระหว่างโจทก์จำเลยเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2538 โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันดังกล่าวนั้น เห็นว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า หลังจากนายแดเนียลได้สัมภาษณ์โจทก์วันที่ 30 มิถุนายน 2538 แล้วต่อมาวันที่ 17 กรกฎาคม 2538 นายแดเนียลมีหนังสือถึงโจทก์เสนอจ้างโจทก์มาทำงานกับจำเลยในประเทศไทยเอกสารหมาย จ.1 โจทก์ลงลายมือชื่อในเอกสารหมาย จ.1แต่ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ส่งหรือแสดงเจตนาสนองรับไปยังจำเลยโดยวิธีใดและโจทก์ส่งเอกสารหมาย จ.1 ให้จำเลยหรือไม่คดีฟังไม่ได้ว่าสัญญาจ้างระหว่างโจทก์จำเลยมีผลตั้งแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2538 ต่อมาวันที่ 25 สิงหาคม 2538 โจทก์เดินทางมาถึงประเทศไทยและวันที่ 28 สิงหาคม 2538 โจทก์จำเลยทำสัญญาจ้างแรงงานตามเอกสารหมาย จ.2 และวันนั้นโจทก์ทำงานกับจำเลยเป็นวันแรก ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยตั้งแต่วันที่28 สิงหาคม 2538 เช่นนี้ อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยข้อกฎหมาย จึงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ที่โจทก์อุทธรณ์ประการสุดท้ายว่า เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2539ก่อนที่จำเลยจะเรียกโจทก์ไปพบ จำเลยมีเจตนาจะเลิกจ้างโจทก์และจัดทำหนังสือเอกสารหมาย จ.3 ไว้แล้ว เมื่อโจทก์จำเลยเจรจากันแล้วจำเลยจึงยื่นหนังสือดังกล่าวให้โจทก์ แสดงให้เห็นเจตนาอันแท้จริงของจำเลยว่าเป็นการเลิกจ้างโจทก์นั้น เห็นว่าศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2539นายแดเนียลกับโจทก์เจรจากันนายแดเนียลแจ้งให้โจทก์ทราบว่าจำเลยต้องการเลิกจ้างโจทก์จึงให้โจทก์เลือกว่าจะลาออกหรือให้จำเลยเลิกจ้าง หลังจากเจรจากันแล้วโจทก์ตกลงลาออกต่อมาวันที่ 25 พฤษภาคม 2539 โจทก์ทำหนังสือลาออกมอบให้จำเลยคดีฟังว่าโจทก์ลาออกโดยสมัครใจ อุทธรณ์ของโจทก์เป็นอุทธรณ์โต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลางเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริงต้องห้ามอุทธรณ์ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นเดียวกัน”
พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์

Share