คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2163/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ให้ที่ดินมีโฉนดแก่จำเลยที่ 1 เพื่อประโยชน์ใช้ปลูกสร้างสถานีตำรวจ ต่อมาจำเลยทั้งสองยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่าที่ดินดังกล่าวเป็นที่ราชพัสดุ จึงขอเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์เป็นกระทรวงการคลังจำเลยที่ 2 เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 มาตรา 5 แม้จะระบุในสารบัญจดทะเบียนว่าสงวนไว้เพื่อประโยชน์ใช้ปลูกสร้างสถานีตำรวจ แต่เวลาล่วงเลยมานับตั้งแต่โจทก์ให้ที่ดินถึงวันฟ้องคดีนี้เป็นเวลา 27 ปีเศษแล้ว ทางราชการยังไม่มีการปลูกสร้างสถานีตำรวจในที่ดินโจทก์ จึงฟังได้ว่า ทางราชการไม่ประสงค์จะใช้ประโยชน์ในที่ดินราชพัสดุนั้นตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ อีกทั้งมิได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ภายในสิบปีนับแต่วันที่โจทก์ให้ที่ดินแก่ทางราชการตามกฎกระทรวงฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2537) ออกตามความใน พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 ข้อ 8 (2) ซึ่งจำเลยทั้งสองตกอยู่ในฐานะผู้ที่จะต้องคืนที่ดินนับแต่เวลาที่ถูกโจทก์เรียกคืน เมื่อโจทก์ใช้สิทธิเสนอคดีฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลในวันที่ยังอยู่ในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่ทางราชการแจ้งความประสงค์ที่จะไม่ใช้ประโยชน์ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2537) ข้อ 3 จำเลยทั้งสองจึงต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินคืนให้แก่โจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองไปดำเนินการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์เปลี่ยนแปลงให้โจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติ ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองไปดำเนินการจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติ ให้ถือเอาตามคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังว่า โจทก์โอนทรัพย์สินของโจทก์ให้จำเลยที่ 1 โดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2512 เพื่อประโยชน์ใช้ปลูกสร้างสถานีตำรวจภูธร ต่อมาวันที่ 29 พฤศจิกายน 2522 จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ยื่นคำขอต่อเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสมุทรสาครว่า ที่ดินเป็นที่ราชพัสดุจึงขอเปลี่ยนชื่อผู้ถือกรรมสิทธิ์เป็นจำเลยที่ 2 เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 มาตรา 5 คงระบุไว้ในสารบัญจดทะเบียนว่าสงวนไว้เพื่อประโยชน์ใช้ปลูกสร้างสถานีตำรวจภูธร ในปี 2518 ทางสถานีตำรวจภูธรอำเภอกระทุ่มแบนขออนุมัติงบประมาณปี 2520 เพื่อปลูกสร้างสถานีตำรวจภูธร แต่ไม่ได้รับอนุมัติ นับตั้งแต่โจทก์ให้ที่ดินถึงวันฟ้องเป็นเวลา 27 ปีเศษแล้ว ทางราชการยังไม่มีการปลูกสร้างสถานีตำรวจภูธรในที่ดินที่โจทก์ให้ โจทก์มีหนังสือลงวันที่ 12 ตุลาคม 2538 และวันที่ 18 ธันวาคม 2538 ให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 1 จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทคืนโจทก์ภายใน 30 วัน ต่อมาจำเลยที่ 2 มีหนังสือตอบโจทก์เรื่องขอคืนที่ดินโดยอ้างกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2537) ส่วนจำเลยที่ 1 มีหนังสือตอบโจทก์เรื่องขอคืนที่ดินว่า การจัดตั้งสถานีตำรวจตามความประสงค์โจทก์นั้น เนื่องจากเนื้อที่ดินไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่ทางจำเลยที่ 1 กำหนดไว้ แต่ทางสถานีตำรวจภูธรอำเภอกระทุ่มแบนมีโครงการจะจัดตั้งเป็นที่พักสายตรวจและอาคารที่พักของข้าราชการตำรวจ คดีมีปัญหาว่า คำชี้ขาดของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ไม่ถูกต้องตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาหรือไม่ เห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สร้างสถานีตำรวจเนื่องจากที่ดินที่โจทก์ให้สร้างสถานีตำรวจมีเนื้อที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามที่จำเลยที่ 1 กำหนดไว้และจำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ขอเปลี่ยนนามเพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 ก็จดทะเบียนไว้ว่า “เพื่อประโยชน์ใช้ปลูกสร้างสถานีตำรวจภูธร” ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2537) ออกตามความใน พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ พ.ศ. 2518 ข้อ 8 แสดงให้เห็นว่า เมื่อทางราชการไม่ประสงค์จะใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุนั้นตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ อีกทั้งมิได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ภายในสิบปีนับแต่วันที่โจทก์ให้ที่ดินแก่ทางราชการ การที่ทางราชการไม่คืนที่ดินที่ได้มาจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่เป็นไปตามเงื่อนไขและไม่เป็นไปตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2537) ข้อ 8 (2) ซึ่งจำเลยทั้งสองตกอยู่ในฐานะผู้ที่จะต้องคืนที่ดินนับแต่เวลาที่ถูกโจทก์เรียกคืนจากทางราชการ และการที่ทางราชการมีหนังสือตอบโจทก์ลงวันที่ 12 มกราคม 2539 ว่าเนื้อที่ดินที่ทางราชการได้มาไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะสร้างสถานีตำรวจภูธรได้ตามที่จำเลยที่ 1 กำหนดไว้และโจทก์ใช้สิทธิเสนอคดีฟ้องจำเลยทั้งสองต่อศาลวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2539 ซึ่งยังอยู่ในระยะเวลาสองปีนับแต่วันที่ทางราชการแจ้งความประสงค์ที่จะไม่ใช้ประโยชน์ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 11 (พ.ศ. 2537) ข้อ 3 จำเลยทั้งสองจึงต้องจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามโฉนดที่ดินเลขที่ 20254 คืนให้แก่โจทก์ คำวินิจฉัยชี้ขาดของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ถูกต้องแล้ว
พิพากษายืน.

Share