แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 49 บัญญัติให้นายจ้างซึ่งนำส่งเงินสมทบไม่ครบจำนวนภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรา 47 ต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ของจำนวนเงินสมทบที่ยังขาดอยู่ เป็นการบัญญัติหน้าที่และจำนวนเงินที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มไว้โดยชัดแจ้งและเคร่งครัด สามารถคำนวณเงินเพิ่มได้แน่นอน และไม่มีข้อยกเว้นไม่ว่านายจ้างจะมีเหตุผลอันสมควรหรือไม่
โจทก์ (นายจ้าง) ไม่นำค่าเที่ยวซึ่งเป็นค่าจ้างของลูกจ้างรวมเข้าเป็นฐานคำนวณเงินสมทบ จึงนำส่งเงินสมทบให้แก่จำเลยไม่ครบจำนวน โจทก์ต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ของจำนวนเงินสมทบที่ยังขาดอยู่
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ประกอบกิจการขนส่งสินค้าทางบก โจทก์จ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นพนักงานขับรถเป็นเงินเดือนและเงินค่าทำงานเกินเวลาทำงานปกติแบบเหมาจ่ายเรียกว่าค่าเที่ยว ค่าเที่ยวลูกจ้างจะได้รับมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับลูกจ้างทำงานเกินเวลาทำงานปกติซึ่งเทียบกับระยะทางในการขับรถแต่ละเที่ยว ค่าเที่ยวที่โจทก์จ่ายให้แก่ลูกจ้างจึงไม่ใช่ค่าจ้าง แต่โจทก์และลูกจ้างสำคัญผิดจึงหักค่าเที่ยวในส่วนของลูกจ้างและเงินสมทบในส่วนของนายจ้างส่งเป็นเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ให้แก่จำเลย ต่อมาลูกจ้างของโจทก์บางส่วนจำนวน 42 คน ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลแรงงานกลางเรียกเงินค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติต่างหากจากค่าเที่ยว ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โดยวินิจฉัยว่าโจทก์ใช้วิธีการกำหนดค่าเที่ยวเพื่อตอบแทนการทำงานให้แก่ลูกจ้างเปรียบเสมือนการจ่ายค่าทำงานเกินเวลาทำงานปกติให้แก่ลูกจ้างโจทก์มาโดยตลอดจึงไม่มีค่าเที่ยวหรือค่าทำงานเกินเวลาทำงานปกติค้าง หลังจากศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาโจทก์จะทำการหักค่าเที่ยวในส่วนของลูกจ้างเพื่อนำมารวมกับเงินสมทบในส่วนของนายจ้างนำส่งเป็นเงินสมทบให้แก่จำเลย ปรากฏว่าลูกจ้างไม่ยินยอมและโต้แย้งว่าค่าเที่ยวไม่ใช่ค่าจ้างและหากโจทก์หักเงินดังกล่าวถือว่าโจทก์ปฏิบัติผิดกฎหมาย ประกอบกับโจทก์เห็นด้วยกับเหตุผลของลูกจ้างและเกรงว่าหากไม่ปฏิบัติตามอาจถูกลูกจ้างดำเนินคดีได้ โจทก์จึงไม่หักค่าเที่ยวในส่วนของลูกจ้างและไม่ได้นำเงินสมทบในส่วนของนายจ้างส่งเป็นเงินสมทบให้แก่จำเลย ลูกจ้างของโจทก์ 42 คน อุทธรณ์ ต่อมาศาลฎีกามีคำพิพากษาว่า ค่าเที่ยวเป็นค่าจ้าง จำเลยโดยสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 3 ทำการตรวจบัญชีค่าจ้างของลูกจ้างโจทก์และมีคำสั่งเป็นหนังสือ 2 ฉบับ ให้โจทก์ชำระเงินสมทบเพิ่มเติมแก่กองทุนประกันสังคมโดยรวมค่าเที่ยวเป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบ เป็นเงิน 5,900,234 บาท และ 5,088,464 บาท ตามลำดับ พร้อมเงินเพิ่มตามกฎหมายร้อยละ 2 ต่อเดือน โจทก์จึงชำระเงินสมทบเพิ่มเติมให้แก่จำเลยไปภายในกำหนด เนื่องจากหากไม่ชำระจะต้องชำระเงินเพิ่มตามกฎหมาย แต่โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งดังกล่าวจึงยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ คณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยที่ 2679/2553 ให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัย การที่โจทก์ไม่หักค่าเที่ยวในส่วนของลูกจ้างและไม่ได้นำเงินสมทบในส่วนของนายจ้างส่งเป็นเงินสมทบให้แก่จำเลย เนื่องจากโจทก์ถือปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่วินิจฉัยว่า ค่าเที่ยวไม่ใช่ค่าจ้างเป็นกรณีมีเหตุผลอันสมควร โจทก์ไม่ได้เจตนาฝ่าฝืนกฎหมาย กรณีของโจทก์ไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 49 โจทก์จึงไม่ต้องจ่ายเงินเพิ่ม คำพิพากษาศาลฎีกาที่วินิจฉัยว่า ค่าเที่ยวเป็นค่าจ้างมีผลผูกพันเฉพาะคู่ความในคดี คือ ลูกจ้าง 42 คน ที่ฟ้องโจทก์ข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวแตกต่างจากข้อเท็จจริงในกรณีลูกจ้างรายอื่น ๆ ของโจทก์ที่มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างอยู่ในระเบียบข้อบังคับการทำงานว่าค่าเที่ยวเป็นการจ่ายค่าทำงานเกินเวลาทำงานปกติแบบเหมาจ่าย ค่าเที่ยวจึงไม่ใช่ค่าจ้างที่ต้องหักเป็นเงินสมทบตามคำสั่งของจำเลย จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ชำระเงินสมทบเพิ่มเติมได้เฉพาะในส่วนของลูกจ้าง 42 คน ที่ฟ้องโจทก์เท่านั้น แต่จำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ชำระเงินสมทบเพิ่มเติมทั้งในส่วนของลูกจ้าง 42 คน และลูกจ้างรายอื่น ๆ ของโจทก์ทั้งหมดด้วย จึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้เพิกถอนหรือยกเลิกหรือแก้ไขคำสั่งหรือคำวินิจฉัยดังกล่าวเป็นว่าโจทก์ไม่ต้องชำระเงินสมทบเพิ่มเติมและเงินเพิ่มตามกฎหมาย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์ประกอบกิจการขนส่งสินค้าทางบกโดยใช้รถยนต์บรรทุกส่งสินค้าให้แก่ห้างโลตัสตามสาขาทั่วประเทศ มีลูกจ้างซึ่งเป็นพนักงานขับรถแผนกขนส่งทำหน้าที่ขับรถบรรทุกส่งสินค้าได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนและค่าเที่ยว โดยจ่ายค่าเที่ยวตามผลงานที่ทำคำนวณตามระยะทางที่ขับรถไปส่งสินค้าไม่ได้คำนึงถึงระยะเวลาในการขับรถ และจ่ายค่าเที่ยวให้เป็นรายเที่ยวในลักษณะเป็นหน่วยการทำงานในแต่ละหน่วย เดิมโจทก์นำเงินเดือนและค่าเที่ยวของลูกจ้างรวมคำนวณเงินสมทบนำส่งจำเลย แต่เมื่อศาลแรงงานกลางมีคำพิพากษาในคราวที่มีลูกจ้าง 42 คน ฟ้องเรียกค่าล่วงเวลาหรือค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติว่าโจทก์จ่ายค่าเที่ยวเป็นค่าตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติ ลูกจ้าง 42 คน ไม่ยินยอมให้โจทก์นำค่าเที่ยวไปรวมเป็นค่าจ้างเพื่อคำนวณเงินสมทบนำส่งจำเลยอีกต่อไป ซึ่งโจทก์เห็นด้วยว่าค่าเที่ยวไม่ใช่ค่าจ้างจึงไม่นำค่าเที่ยวมารวมคำนวณเงินสมทบ ต่อมาลูกจ้าง 42 คน อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ศาลฎีกามีคำพิพากษาที่ 3631 – 3667/2552 ว่า ค่าเที่ยว เป็นเงินที่โจทก์จ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างโดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานจึงเป็นค่าจ้าง และจำเลยโดยสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 3 ได้อาศัยหลักเกณฑ์จากคำพิพากษาศาลฎีกาทำการตรวจบัญชีค่าจ้างของลูกจ้างโจทก์และมีคำสั่งเป็นหนังสือ 2 ฉบับ ฉบับแรก ให้โจทก์ชำระเงินสมทบเพิ่มเติมแก่กองทุนประกันสังคมโดยนำค่าเที่ยวรวมเป็นฐานในการคำนวณเงินสมทบตั้งแต่เดือนมกราคม 2551 ถึงเดือนธันวาคม 2551 คิดเป็นเงินสมทบเพิ่มเติม 5,900,234 บาท พร้อมเงินเพิ่มตามกฎหมายร้อยละ 2 ต่อเดือน ให้ชำระภายในวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 ฉบับที่สอง ให้โจทก์ชำระเงินสมทบเพิ่มเติม คำนวณตั้งแต่เดือนมกราคม 2552 ถึงเดือนธันวาคม 2552 คิดเป็นเงินสมทบเพิ่มเติม 5,088,464 บาท พร้อมเงินเพิ่มตามกฎหมายร้อยละ 2 ต่อเดือน ให้ชำระภายในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 โจทก์ชำระเงินสมทบเพิ่มเติมตามกำหนดในคำสั่งทั้งสองฉบับแล้ว แต่ไม่ชำระเงินเพิ่มและใช้สิทธิอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการอุทธรณ์อ้างว่าโจทก์ไม่ต้องนำค่าเที่ยวมารวมคำนวณเพื่อส่งเงินสมทบเพราะโจทก์ยึดถือตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ซึ่งต่อมาคณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ โดยยืนยันว่าค่าเที่ยวเป็นค่าจ้าง ต้องนำมารวมเป็นฐานคำนวณเงินสมทบนำส่งสำนักงานประกันสังคมด้วย แล้ววินิจฉัยว่า แม้หลักเกณฑ์การจ่ายค่าเที่ยวจะไม่มีกำหนดไว้ในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของโจทก์ แต่มีการตกลงกันต่างหากและปฏิบัติต่อกันมาตลอด ต่อมามีการแก้ไขข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานในหมวดที่ 5 ข้อ 5.1 ว่า โจทก์จะจ่ายค่าตอบแทนเรียกว่าค่าเที่ยวเป็นการเหมาจ่ายโดยรวมค่าตอบแทนการทำงานล่วงเวลาและการทำงานเกินเวลาทำงานปกติรวมอยู่ในค่าเที่ยว แสดงให้เห็นว่าค่าเที่ยวจ่ายให้โดยเหมารวมระยะเวลาทำงานในเวลาทำงานปกติและนอกเวลาทำงานปกติเข้าด้วยกัน โดยกำหนดจากระยะทางการขับรถเป็นหลักในการจ่ายค่าเที่ยว ซึ่งหลักเกณฑ์ใช้กับลูกจ้างโจทก์ที่ทำหน้าที่ขับรถขนส่งและได้รับค่าเที่ยวภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกับลูกจ้าง 42 คน ที่ฟ้องโจทก์ด้วยกันทุกคน ค่าเที่ยวเป็นเงินที่โจทก์จ่ายเป็นค่าตอบแทนในการทำงานตามสัญญาจ้างโดยคำนวณตามผลงานที่ลูกจ้างทำได้ในเวลาทำงานปกติของวันทำงานถือเป็นการคิดคำนวณค่าจ้างเป็นหน่วยการทำงาน โดยอาศัยการจ่ายค่าเที่ยวให้เป็นหน่วยการทำงานในแต่ละหน่วย เงินเดือนและค่าเที่ยวที่โจทก์จ่ายให้แก่ลูกจ้างซึ่งเป็นพนักงานขับรถจึงเป็นค่าจ้างตามความหมายของมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 คำสั่งของจำเลยทั้งสองฉบับและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ชอบแล้ว ไม่มีเหตุแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิกถอน ส่วนเรื่องเงินเพิ่มนั้นจำเลยยังไม่ได้มีคำสั่งให้โจทก์ชำระเงินเพิ่มเป็นจำนวนเท่าใด กรณีจึงยังไม่มีเหตุที่จะมีคำพิพากษาในส่วนนี้
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์กับลูกจ้างซึ่งเป็นพนักงานขับรถคนอื่น ๆ นอกจากลูกจ้าง 42 คน ผู้เป็นโจทก์ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3631 – 3667/2552 มีข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างในข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานฉบับใหม่และข้อตกลงในสัญญาจ้างใหม่แตกต่างไปจากสภาพการจ้างเดิมของลูกจ้าง 42 คน โดยมีข้อตกลงเกี่ยวกับค่าเที่ยวในช่วงปี 2551 และ 2552 ระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นเงินที่โจทก์จ่ายให้ลูกจ้างตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติแบบเหมาจ่าย ค่าเที่ยวในช่วงปีดังกล่าวจึงไม่ใช่ค่าจ้าง การที่จำเลยโดยสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่ 3 นำค่าเที่ยวทั้งหมดเป็นฐานคำนวณเงินสมทบโดยไม่แยกค่าเที่ยวตามข้อตกลงดังกล่าวออกจึงไม่ชอบนั้น เป็นการหยิบยกข้อเท็จจริงเพียงบางส่วนขึ้นเป็นเหตุอ้างว่าศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงไม่ถูกต้อง เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลแรงงานกลาง เพื่อให้ฟังข้อเท็จจริงใหม่ว่า ค่าเที่ยวเป็นเงินที่โจทก์จ่ายตอบแทนการทำงานเกินเวลาทำงานปกติของลูกจ้างแบบเหมาจ่าย จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 54 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คำพิพากษาของศาลแรงงานกลางที่ไม่วินิจฉัยว่าโจทก์ต้องจ่ายเงินเพิ่มตามคำสั่งของจำเลยหรือไม่ เป็นคำพิพากษาที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้องด้วยว่าโจทก์ไม่ต้องชำระเงินเพิ่มตามกฎหมายร้อยละ 2 ต่อเดือน เพราะโจทก์ถือปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในคดีที่ถูกลูกจ้าง 42 คน ฟ้อง โจทก์ไม่ได้จงใจหรือมีเจตนาไม่นำส่งเงินสมทบ กรณีไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 49 และมีคำขอให้เพิกถอนหรือยกเลิกหรือแก้ไขคำสั่งของจำเลยและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์เป็นว่าโจทก์ไม่ต้องชำระเงินสมทบเพิ่มเติมและเงินเพิ่มตามกฎหมาย จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับยกเว้นให้ไม่ต้องชำระเงินเพิ่มตามกฎหมาย คดีจึงมีประเด็นแห่งคดีด้วยว่า โจทก์ต้องจ่ายเงินเพิ่มตามคำสั่งของจำเลยและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์หรือไม่ ศาลแรงงานกลางต้องวินิจฉัยในประเด็นแห่งคดีดังกล่าว พร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัย ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาในส่วนเงินเพิ่มว่าจำเลยยังไม่ได้มีคำสั่งให้โจทก์ชำระเงินเพิ่มเป็นจำนวนเท่าใด กรณีจึงยังไม่มีเหตุที่จะมีคำพิพากษาในส่วนนี้ จึงไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง อุทธรณ์ข้อนี้ของโจทก์ฟังขึ้น แต่อย่างไรก็ตามแม้ข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังเป็นยุติมาแล้วว่า โจทก์ไม่นำค่าเที่ยวมารวมเป็นค่าจ้างเพื่อคำนวณเงินสมทบนำส่งจำเลยเพราะศาลแรงงานกลางเคยมีคำพิพากษาว่าค่าเที่ยวไม่ใช่ค่าจ้าง และโจทก์เห็นด้วยกับคำพิพากษาดังกล่าว ครั้นจำเลยมีคำสั่งให้โจทก์ชำระเงินสมทบเพิ่ม โจทก์ได้จ่ายเงินสมทบเพิ่มภายในกำหนดเวลาตามคำสั่งของจำเลยพร้อมกับใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการอุทธรณ์ว่า โจทก์ไม่เห็นด้วยกับคำสั่งของจำเลยอันแสดงถึงการไม่จงใจไม่จ่ายเงินสมทบโดยปราศจากเหตุผลอันสมควรก็ตาม แต่พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 49 บัญญัติให้นายจ้างซึ่งนำส่งเงินสมทบไม่ครบจำนวนภายในเวลาที่กำหนดตามมาตรา 47 ต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ของจำนวนเงินสมทบที่ยังขาดอยู่นับแต่วันถัดจากวันที่ต้องนำส่งเงินสมทบ สำหรับเศษของเดือนถ้าถึง 15 วัน หรือกว่านั้นให้นับเป็น 1 เดือน ถ้าน้อยกว่านั้นให้ปัดทิ้ง เป็นการบัญญัติหน้าที่และจำนวนเงินที่ต้องจ่ายเงินเพิ่มไว้โดยชัดแจ้งและเคร่งครัด สามารถคำนวณเงินเพิ่มได้แน่นอนและไม่มีข้อยกเว้นไม่ว่านายจ้างจะมีเหตุผลอันสมควรหรือไม่ โจทก์จึงต้องจ่ายเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน ตามคำสั่งของจำเลยและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 2679/2553 ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียทั้งหมดมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน