คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1486/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีจำนวนเงินตรงกับจำนวนภาษีที่หักไว้ ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้ที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ โดยอ้างมูลเหตุในคำร้องขอคืนภาษีว่า โจทก์เข้าโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดแต่ได้นำเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปรวมคำนวณภาษี แสดงว่าโจทก์มุ่งประสงค์ที่จะขอคืนเงินภาษีสำหรับเงินได้ที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มิใช่เงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานตามที่จำเลยอุทธรณ์
แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะขอคืนภาษีเป็นจำนวนเกินกว่าที่ได้ยื่นคำร้องขอคืน แต่ก็เป็นการบรรยายฟ้องโดยคำนวณหาจำนวนภาษีที่โจทก์มีสิทธิได้รับคืนที่ถูกต้อง กรณีมิใช่เป็นการตั้งประเด็นขึ้นใหม่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องและชอบที่จะขอคืนภาษีได้ตามจำนวนที่ถูกต้อง
ประกาศเรื่องโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดประจำปี 2550 ที่ให้พนักงานออกจากงานก่อนอายุ ครบ60 ปีบริบูรณ์โดยความสมัครใจร่วมกัน คือข้อกำหนดส่วนหนึ่งในหลักเกณฑ์การเกษียณอายุงาน โดยเพิ่มเติมจากเดิมที่กำหนดให้เกษียณเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ การที่โจทก์ใช้สิทธิตามประกาศฉบับนี้แม้จะเป็นเวลาที่ยังไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเดิม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการเกษียณอายุโดยการออกจากงานเมื่อสิ้นกำหนดเวลาการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ขณะออกจากงานโจทก์มีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ทั้งโจทก์เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี จึงต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่มีผลให้เงินได้ที่โจทก์ได้จากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 738,784.97 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน ของต้นเงิน 486,951.10 บาท นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 477,686.31 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน ของต้นเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนจำนวน 407,755.92 บาท นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2551 และของต้นเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนจำนวน 69,930.39 บาท นับแต่วันที่ 9 มีนาคม 2554 เป็นต้นไป โดยไม่คิดทบต้น จนถึงวันที่ลงในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน ดอกเบี้ยคำนวณรวมกันถึงวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 1 ธันวาคม 2554) ไม่เกิน 251,833.87 บาท ทั้งนี้ ดอกเบี้ยของแต่ละต้นเงินภาษีไม่เกินแต่ละจำนวนเงินภาษีอากรที่ได้รับคืน ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังว่า โจทก์เคยเป็นพนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรตั้งแต่วันที่ 13 กันยายน 2514 จนถึงวันที่ 1 ตุลาคม 2550 จึงพ้นสภาพจากการเป็นพนักงาน เนื่องจากเกษียณอายุก่อนกำหนด เดิมข้อบังคับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ฉบับที่ 4 ว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การเรียกประกัน การเลื่อนเงินเดือน และการถอดถอน สำหรับพนักงาน ข้อ 16 (4) กำหนดว่า พนักงานออกจากงานเมื่อ…(4) เกษียณอายุตามที่กำหนดในข้อ 19 ซึ่งข้อ 19 กำหนดว่า พนักงานคนใดมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ให้ออกจากงานเมื่อสิ้นปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณของปีที่พนักงานผู้นั้นมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ต่อมาธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ออกประกาศเรื่องโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดประจำปี 2550 โจทก์เข้าร่วมโครงการและได้รับอนุญาตให้ลาออกตามคำสั่งที่ 3997/2550 มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2550 ขณะนั้นโจทก์มีอายุ 58 ปี และเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี โจทก์ได้รับเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเงิน 1,069,078.01 บาท หักภาษี ณ ที่จ่าย 138,598.40 บาท และเงินได้ที่นายจ้างจ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุที่ออกจากงาน 2,023,129.82 บาท หักภาษี ณ ที่จ่าย 122,112.98 บาท และเงินได้ที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 3,260,865.45 บาท หักภาษี ณ ที่จ่าย 296,329.82 บาท โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีภาษี 2550 แสดงเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) จำนวน 1,069,078.01 บาท พร้อมใบแนบที่คำนวณเงินได้ที่จ่ายให้ครั้งเดียวเพราะเหตุออกจากงาน 2,023,129.82 บาท และเงินได้ที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 3,260,865.45 บาท โดยชำระภาษีเพิ่มเติม 168,813.36 บาท ต่อมาโจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีจำนวน 296,329.82 บาท อ้างมูลเหตุว่าโจทก์เข้าโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด แต่ได้นำเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปรวมคำนวณภาษี เจ้าพนักงานของจำเลยมีหนังสือแจ้งไม่คืนเงินภาษีอากรให้แก่โจทก์ โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว โจทก์ได้รับแจ้งผลการพิจารณาอุทธรณ์จากสำนักงานสรรพากรภาค 7 ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากรว่า การออกจากงานของโจทก์มิใช่เป็นการออกเพราะเกษียณอายุตามข้อบังคับธนาคาร เงินที่ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามข้อ 2 (36) ของกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร จึงไม่มีภาษีต้องคืนให้แก่โจทก์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีอากรจำนวน 296,329.82 บาท แต่กลับมาฟ้องขอคืน 585,833.71 บาท หรือ 486,951.10 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเงินที่รวมภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงานจำนวน 122,112.98 บาท ฟ้องโจทก์จึงขัดต่อพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 7 (3) ประกอบมาตรา 9 ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีจำนวนเงิน 296,329.82 บาท ซึ่งจำนวนเงินที่ขอคืนตรงกับจำนวนภาษีที่หักไว้ ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้ที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามหนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่จ่าย โดยโจทก์อ้างมูลเหตุในคำร้องขอคืนภาษีว่า โจทก์เข้าโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนด แต่ได้นำเงินที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพไปรวมคำนวณภาษี แสดงว่าโจทก์มุ่งประสงค์ที่จะขอคืนเงินภาษีสำหรับเงินได้ที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มิใช่เงินภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากเงินชดเชยตามกฎหมายแรงงาน จำนวน 122,112.98 บาท ตามที่จำเลยอุทธรณ์ แม้ตามคำฟ้องของโจทก์จะขอคืนภาษีเป็นจำนวนเกินกว่าที่ได้ยื่นคำร้องขอคืน แต่ก็เป็นการบรรยายฟ้องโดยคำนวณหาจำนวนภาษีที่โจทก์มีสิทธิได้รับคืนที่ถูกต้อง กรณีมิใช่เป็นการตั้งประเด็นขึ้นใหม่ต่างหากจากเงินค่าภาษีที่โจทก์เคยยื่นคำร้องขอคืน โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการสุดท้ายว่า เงินที่โจทก์ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพพนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรเป็นเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาหรือไม่ จำเลยอุทธรณ์ว่า การออกจากงานของโจทก์ไม่เป็นการออกจากงานเพราะครบกำหนดหรือสิ้นกำหนดเวลาการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษรตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 158) ซึ่งต้องเป็นกรณีที่ธนาคารมีระเบียบข้อบังคับกำหนดให้เกษียณอายุก่อนกำหนดไว้ขณะที่โจทก์ยื่นขอเกษียณอายุก่อนกำหนด แต่ข้อบังคับของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ฉบับที่ 4 ว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การเรียกประกัน การเลื่อนเงินเดือน และการถอดถอน สำหรับพนักงาน ข้อ 16 (4) ประกอบข้อ 19 กำหนดให้พนักงานเกษียณอายุเมื่อมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ แม้ต่อมามีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับให้การเกษียณอายุก่อนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ได้ แต่ก็มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2553 อันเป็นเวลาภายหลังจากที่โจทก์ออกจากงานไปแล้ว เงินที่โจทก์ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพจึงไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 บัญญัติถึงเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษี โดยเงินได้ตาม (17) คือเงินได้ตามที่จะได้กำหนดยกเว้นโดยกฎกระทรวงและตามข้อ 2 (36) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากรกำหนดว่า เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เมื่อลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (17) ซึ่งตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ สำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151) และฉบับที่ (158) ตามลำดับ ข้อ 1 (1) กำหนดว่า (1) กรณีเกษียณอายุ ลูกจ้างผู้นั้นต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ซึ่งออกจากงานเพราะครบกำหนดหรือสิ้นกำหนดเวลาทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่เป็นลายลักษณ์อักษรและเข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี แสดงให้เห็นถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการยกเว้นภาษีเงินได้ประเภทนี้ประสงค์จะให้มีการเข้าเป็นสมาชิกกองทุนเป็นระยะยาวไม่น้อยกว่า 5 ปี และต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ทั้งไม่ให้ประโยชน์ในการยกเว้นภาษีในกรณีสมาชิกลาออกจากงานหรือออกเพราะเหตุที่กระทำความผิด กรณีของโจทก์มีข้อบังคับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ฉบับที่ 4 ว่าด้วยการบรรจุ การแต่งตั้ง การเรียกประกัน การเลื่อนเงินเดือน และการถอดถอน สำหรับพนักงาน กำหนดเวลาการจ้างแรงงานไว้ในข้อ 16 (4) ประกอบข้อ 19 ให้พนักงานออกจากงานกรณีเกษียณอายุไว้เพียงกรณีเดียวว่า พนักงานคนใดมีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ให้ออกจากงานเมื่อสิ้นปีงบประมาณ ต่อมามีการประกาศเรื่องโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดประจำปี 2550 โดยมีหลักการตามประกาศ ข้อ 1 ให้เป็นความสมัครใจระหว่างพนักงานกับธนาคาร ผู้จัดการมีสิทธิในการพิจารณาผู้เข้าโครงการและสามารถบริหารวงเงินและจำนวนได้ตามความเหมาะสมภายใต้ภาพรวม ธนาคารมีสิทธิจะพิจารณาไม่อนุญาตได้ตามที่เห็นสมควรและข้อ 5 ยังมีการจ่ายผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษแก่ผู้ออกจากงานตามประกาศนี้ด้วย โดยประกาศฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ให้เป็นทางเลือกสำหรับพนักงานที่ปฏิบัติงานมานานและต้องการพักผ่อนหรือมีปัญหาด้านสุขภาพ ปัญหาด้านการปรับตัวในการรองรับภารกิจ รวมทั้งเป็นการปรับเปลี่ยนสภาพกำลังคนให้เหมาะสม เห็นได้ว่าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรใช้ประกาศนี้เพื่อจูงใจพนักงานให้ขอออกจากงาน เนื่องจากต้องการลดกำลังคนขององค์กรให้มีขนาดเหมาะสม และลดค่าใช้จ่ายจากการมีพนักงานมากเกินความจำเป็น ซึ่งแตกต่างจากกรณีการลาออกของพนักงานตามปกติธรรมดา ที่เกิดจากความต้องการของพนักงานฝ่ายเดียวและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรก็ไม่ต้องจ่ายเงินตอบแทนพิเศษหรือให้สิทธิประโยชน์อื่นใดนอกเหนือจากสิทธิของลูกจ้างที่จะได้รับเพราะการลาออกตามปกติ จึงถือว่าการออกจากงานตามเงื่อนไขแห่งประกาศเรื่อง โครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดประจำปี 2550 ไม่ใช่การลาออกจากงานตามปกติ แต่มีลักษณะอันเกิดจากความประสงค์ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ที่กำหนดหลักเกณฑ์และเงื่อนไขให้พนักงานเกษียณอายุออกจากงานก่อนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ได้ เพื่อให้ยืดหยุ่นเหมาะสมกับเหตุผลและความจำเป็นในขณะนั้น โดยยังคงหลักการให้พนักงานทำงานได้จนถึงอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ตามข้อบังคับเดิม ขณะเดียวกันก็ให้พนักงานบางส่วนเกษียณอายุก่อนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ได้โดยได้รับอนุญาตจากธนาคาร ดังนั้น ประกาศเรื่องโครงการเกษียณอายุก่อนกำหนดประจำปี 2550 ที่ให้พนักงานออกจากงานก่อนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ โดยความสมัครใจร่วมกันนี้ก็คือ ข้อกำหนดส่วนหนึ่งในหลักเกณฑ์การเกษียณอายุงาน โดยเพิ่มเติมจากเดิมที่กำหนดให้เกษียณเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ เป็นให้เกษียณอายุเมื่ออายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ หรือเกษียณอายุงานก่อนอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ตามประกาศฉบับนี้ได้ การที่โจทก์ใช้สิทธิตามประกาศฉบับนี้แม้จะเป็นเวลาที่ยังไม่มีการแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับเดิมก็ตาม แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการเกษียณอายุโดยการออกจากงานเมื่อสิ้นกำหนดเวลาการทำงานตามสัญญาจ้างแรงงานที่กำหนดไว้เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว นอกจากนี้ขณะออกจากงานโจทก์ก็มีอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปีบริบูรณ์ ทั้งโจทก์เข้าเป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปีแล้ว จึงต้องด้วยหลักเกณฑ์ที่มีผลให้เงินได้ที่โจทก์ได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 (17) ประกอบด้วยกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ข้อ 2 (36) และประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการ สำหรับกรณีลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 151) และ (ฉบับที่ 158) ตามลำดับ ส่วนที่โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีจำนวน 296,329.82 บาท แต่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินค่าภาษีอากรคืนแก่โจทก์จำนวน 477,686.31 บาท นั้น เป็นกรณีสืบเนื่องมาจากโจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีสำหรับเงินได้ที่จ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอันเป็นมูลเหตุเดียวกันกับที่โจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้ แม้โจทก์จะระบุจำนวนเงินที่ขอคืนเพียงเท่ากับจำนวนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่าย ก็อาจเกิดจากการคำนวณจำนวนเงินภาษีที่มีสิทธิได้รับคืนผิดพลาดโดยเข้าใจว่าตนมีสิทธิได้รับคืนภาษีทั้งหมดเท่าจำนวนภาษีที่ถูกหัก ณ ที่จ่ายดังกล่าว โจทก์จึงชอบที่จะฟ้องขอคืนภาษีได้ตามจำนวนที่ถูกต้อง ซึ่งจำเลยก็ยังมีสิทธิโต้แย้งการคำนวณของโจทก์ในคดีนี้ได้ ที่ศาลภาษีอากรกลางวินิจฉัยข้อนี้มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน แต่ที่ศาลภาษีอากรกลางกำหนดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน ของต้นเงิน 407,755.92 บาท นับแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2551 และของต้นเงิน 69,930.39 บาท นับแต่วันที่ 9 มีนาคม 2554 นั้น เห็นว่า โจทก์ยื่นแบบแสดงรายการและชำระค่าภาษีเพิ่มเติมให้แก่จำเลย โดยขณะนั้นโจทก์ยังไม่ได้ยื่นคำร้องขอคืนภาษี การที่ศาลภาษีอากรกลางกำหนดดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือนนับแต่วันสิ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการจึงไม่ถูกต้อง โจทก์เพิ่งจะยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2553 โจทก์จึงมีสิทธิได้รับดอกเบี้ยตั้งแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือนนับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรจนถึงวันที่จำเลยมีหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงินภาษีอากร ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 161 (พ.ศ.2526) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการให้ดอกเบี้ยแก่ผู้ได้รับเงินคืนภาษีอากร ข้อ 1 (2) ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรมีอำนาจแก้ไขให้ถูกต้องได้
พิพากษาแก้เป็นว่า ในส่วนดอกเบี้ยที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์ ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน ของต้นเงิน 477,686.31 บาท นับแต่วันที่ 9 มีนาคม 2554 จนถึงวันที่จำเลยมีหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงินภาษีอากร นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share