คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1952/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เช็คระบุชื่อ ช.เป็นผู้รับเงินแม้ช. จะได้ลงลายมือชื่อไว้ด้านหลังเช็คแต่ปรากฏว่าโจทก์ได้รับเช็คจากลูกจ้างของโจทก์ทั้งโจทก์ฎีกาว่าโจทก์รับเช็คดังกล่าวในฐานะผู้รับเงินมิใช่ในฐานะผู้รับสลักหลัง เพราะยาที่ขายเป็นของโจทก์ไม่ใช่ของ ช. ดังนี้โจทก์ไม่สามารถแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสายจึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็ค โจทก์ไม่ใช่เจ้าหนี้จำเลย จึงไม่อาจฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่า จำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์มอบอำนาจให้นายชัยยศ ฐิติรัตน์สานนท์ฟ้องคดีแทนโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คโดยชอบด้วยกฎหมายของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด สาขาบางเขน ลงวันที่ต่าง ๆ ในเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน พฤษภาคม พ.ศ. 2533 จำนวน 10 ฉบับรวมเป็นเงิน 860,981 บาท โดยจำเลยเป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายเช็คดังกล่าวมอบให้โจทก์เพื่อชำระหนี้ เมื่อเช็คถึงกำหนดโจทก์ได้นำเช็คดังกล่าวไปเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารเพื่อเรียกเก็บเงิน ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้ง 10 ฉบับ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยมีหน้าที่ต้องชำระเงินตามเช็คทั้ง 10 ฉบับเป็นเงิน 860,981 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากยอดเงินตามเช็คแต่ละฉบับ นับจากวันที่ธนาคารตามเช็คแต่ละฉบับได้ปฏิเสธการจ่ายเงิน จนถึงวันฟ้อง เป็นเงินดอกเบี้ยจำนวน 57,183 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 918,164 บาท จำเลยได้แจ้งแก่โจทก์ว่าจำเลยไม่สามารถชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้ และยังได้ขอประนอมหนี้กับโจทก์ จำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว ขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดและพิพากษาให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้ทรงเช็คโดยชอบ แต่คบคิดกันฉ้อฉลกับนายชัยยศ ฐิติรัตน์สานนท์ จำเลยได้ออกเช็คพิพาทตามฟ้องจริง แต่เป็นเช็คระบุชื่อนายชัยยศ ฐิติรัตน์สานนท์ ขีดฆ่าผู้ถือไม่ได้ลงวันที่ ขีดคร่อมเข้าบัญชี ทั้งนี้เจตนาห้ามโอนไปยังบุคคลอื่นหรือห้ามเปลี่ยนมือ เพื่อการค้ำประกัน หาได้เพื่อชำระหนี้ไม่โจทก์ได้ร่วมกับนายชัยยศประทับตราวันที่ เดือน ปีลงในเช็คพิพาททั้งที่ไม่มีมูลหนี้อันจะอ้างกฎหมายได้ เช็คพิพาทตามฟ้องไม่มีมูลหนี้ จึงเป็นหนี้ที่ไม่อาจกำหนดจำนวนได้แน่นอน ที่จะนำเป็นมูลในการฟ้องคดีล้มละลายหาได้ไม่ จำเลยไม่ใช่บุคคลมีหนี้สินล้นพ้นตัว
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า จำเลยเป็นผู้ลงชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทโดยระบุชื่อนายชัยยศ ฐิติรัตน์สานนท์เป็นผู้รับเงินและขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก จำนวน 10 ฉบับเป็นเงิน 860,981 บาท ตามภาพถ่ายเช็คเอกสารหมาย จ.2 จ.3 จ.4 จ.8จ.10 จ.12 จ.14 จ.16 จ.18 และ จ.20 เมื่อเช็คถึงกำหนดชำระเงินโจทก์นำไปเข้าบัญชีของโจทก์ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาศิริราช9 ฉบับ และธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาบางเขน 1 ฉบับ เพื่อเรียกเก็บเงิน ปรากฏว่าธนาคารตามเช็คทุกฉบับปฏิเสธการจ่ายเงินตามภาพถ่ายใบคืนเช็คเอกสารหมาย จ.5 จ.6 จ.7 จ.9 จ.11 จ.13 จ.15จ.17 จ.19 และ จ.21…
พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหาว่า จำเลยเป็นหนี้โจทก์ตามเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับหรือไม่ และจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ โจทก์บรรยายฟ้องโดยกล่าวอ้างว่า โจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาทจำนวน 10 ฉบับซึ่งจำเลยลงชื่อเป็นผู้สั่งจ่ายจำนวนเงิน 860,981 บาท โดยชอบด้วยกฎหมาย ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับดังกล่าว ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยไม่สามารถชำระหนี้ตามเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับ ซึ่งเป็นหนี้ที่มีจำนวนแน่นอนแก่โจทก์ ศาลฎีกาเห็นว่า เช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับ เป็นเช็คสั่งจ่ายเงินแก่นายชัยยศฐิติรัตน์สานนท์ โดยขีดฆ่าคำว่า “หรือผู้ถือ” ออก แม้นายชัยยศจะได้ลงลายมือชื่อว่า “ชัยยศ ฐิติรัตน์สานนท์” ไว้ด้านหลังเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับ แต่ตามคำฟ้องและคำเบิกความของโจทก์กับนายชัยยศก็ไม่ปรากฏว่านายชัยยศได้ลงชื่อในฐานะผู้สลักหลังเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับและส่งมอบให้โจทก์ ดังนั้นพยานโจทก์ จึงไม่ได้ความว่า นายชัยยศได้ลงชื่อไว้ด้านหลังเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับในฐานะอะไร ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 904 บัญญัติว่า อันผู้ทรงนั้น หมายความว่า บุคคลผู้มีตั๋วเงินไว้ในครอบครองโดยฐานะเป็นผู้รับเงินหรือเป็นผู้รับสลักหลัง ถ้าและเป็นตั๋วเงินสั่งจ่ายให้แก่ผู้ถือ ผู้ถือก็นับว่าเป็นผู้ทรงเหมือนกัน เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับ เป็นเช็คระบุชื่อนายชัยยศเป็นผู้รับเงินการโอนจะต้องกระทำโดยนายชัยยศซึ่งเป็นผู้ทรงสลักหลัง และส่งมอบเช็คแก่โจทก์ โจทก์เบิกความว่าได้รับเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับซึ่งนายชัยยศได้รับจากจำเลย จากลูกจ้างคนหนึ่งของโจทก์เมื่อพ.ศ. 2533 และฎีกาว่าโจทก์รับเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับ ในฐานะผู้รับเงินไม่ใช่ในฐานะผู้รับสลักหลังเพราะยาที่ขายเป็นของโจทก์ไม่ใช่ของนายชัยยศ ดังนี้ แม้โจทก์จะมีเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับไว้ในครอบครอง แต่โจทก์ก็ไม่สามารถแสดงให้ปรากฏสิทธิด้วยการสลักหลังไม่ขาดสาย จึงถือไม่ได้ว่าโจทก์เป็นผู้ทรงเช็คพิพาททั้ง10 ฉบับ โดยชอบด้วยกฎหมาย แม้ธนาคารตามเช็คจะปฏิเสธการจ่ายเงินโจทก์ก็ไม่มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยผู้สั่งจ่ายใช้เงินตามเช็คได้โจทก์จึงไม่ใช่เจ้าหนี้จำเลยตามเช็คพิพาททั้ง 10 ฉบับ จึงไม่อาจฟ้องจำเลยให้ล้มละลายได้ ไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยว่าจำเลยเป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share