คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1907/2537

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 ออกเช็คตามฟ้องให้โจทก์เป็นมัดจำในการว่าจ้างช่วงให้โจทก์ทำเฟอร์นิเจอร์แก่ อ. เช็คตามฟ้องจึงมีมูลหนี้ แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทำงานตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ไปแล้วหรือไม่เพียงใด อ. ก็ได้ตกลงว่าจ้างโจทก์ทำเฟอร์นิเจอร์แก่ อ. เสียเอง ซึ่งจำเลยที่ 1 มิได้ทักท้วงอย่างใด ถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้เลิกสัญญากันโดยปริยาย เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทำงานตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วหรือไม่ และฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงต้องคืนมัดจำแก่จำเลยที่ 1หนี้ที่จำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินจึงสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังเป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดมากกว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 5 ที่ใช้ในการกระทำความผิดจึงต้องใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. 2534 มาตรา 7 บังคับแก่กรณีนี้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3โดยถือว่าคดีเลิกกัน สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(3)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันออกเช็คจำนวน 3 ฉบับ โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายและประทับตราสำคัญของจำเลยที่ 1 มอบให้โจทก์เพื่อเป็นการชำระหนี้ต่อมาเมื่อเช็คทั้งสามฉบับถึงกำหนด โจทก์นำไปเข้าบัญชีของโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงิน แต่ธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงินทั้งสามฉบับการกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการออกเช็คโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ออกเช็คในขณะที่ออกไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ หรือออกเช็คให้ใช้เงินมีจำนวนสูงกว่าจำนวนเงินที่มีอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินได้ในขณะที่ออกเช็ค หรือถอนเงินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนออกจากบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คจนจำนวนเงินเหลือไม่เพียงพอที่จะใช้เงินตามเช็คนั้น หรือห้ามธนาคารมิให้ใช้เงินตามเช็คนั้นโดยเจตนาทุจริต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497มาตรา 3 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497มาตรา 3(1) เฉพาะเช็คเอกสารหมาย จ.3 ลงโทษปรับจำเลยที่ 1 เป็นเงิน10,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 7 เดือน หากจำเลยที่ 1ไม่ชำระค่าปรับให้ยึดทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ใช้ค่าปรับตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จำเลยที่ 2 ถึงแก่ความตายสิทธินำคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(1) จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 2 เสียจากสารบบความ
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นฎีกาเฉพาะจำเลยที่ 1 และที่เกี่ยวกับเช็คเอกสารหมาย จ.34เท่านั้น คดีฟังได้ว่าเช็คเอกสารหมาย จ.3 เป็นเช็คที่จำเลยที่ 1สั่งจ่ายเป็นมัดจำในการว่าจ้างช่วงให้โจทก์ทำเฟอร์นิเจอร์ให้แก่นางอรมณี เช็คเอกสารหมาย จ.3 จึงมีมูลหนี้ตามกฎหมาย แต่ไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทำงานตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1ไปแล้วหรือไม่เพียงใด นางอรมณีก็ได้ตกลงว่าจ้างโจทก์ทำงานเสียเอง ซึ่งจำเลยที่ 1 มิได้ทักท้วงแต่อย่างใด พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าโจทก์กับจำเลยที่ 1 ได้เลิกสัญญากันโดยปริยาย เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ทำงานตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 แล้วหรือไม่และฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดสัญญา โจทก์จึงต้องคืนมัดจำแก่จำเลยที่ 1ดังนั้น หนี้ที่จำเลยที่ 1 ได้ออกเช็คเพื่อใช้เงินจึงสิ้นผลผูกพันไปก่อนศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 ให้ถือว่าคดีเลิกกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังเป็นคุณแก่ผู้กระทำผิดมากกว่าพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497 มาตรา 5 ที่ใช้ในขณะกระทำความผิด จึงต้องใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 มาตรา 7 บังคับแก่กรณีนี้ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 3 โดยถือว่าคดีเลิกกัน สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(3)
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share