แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การขายอสังหาริมทรัพย์ของเด็ก ผู้ใช้อำนาจปกครองจะทำมิได้เว้นแต่ศาลจะอนุญาต และผู้ใช้อำนาจจะให้ความยินยอมแก่เด็กโดยมิได้รับอนุญาตจากศาล ก็ไม่อาจทำได้เช่นเดียวกัน ทั้งการขายนั้นหมายความรวมถึงสัญญาจะขายอสังหาริมทรัพย์ของเด็กด้วย เมื่อผู้ใช้อำนาจปกครองไม่มีอำนาจที่จะทำได้ สัญญาจะขายอสังหาริมทรัพย์ของเด็กย่อมไม่ผูกพันเด็ก เด็กจะอ้างว่าผู้จะซื้อผิดสัญญาและจะริบมัดจำหาได้ไม่(อ้างคำพิพากษาฎีกาที่ 816-817/2494)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาจะขายที่ดินให้โจทก์โดยจำเลยที่ ๑ ในฐานะบิดา ทำสัญญาแทนจำเลยที่ ๒ บุตรซึ่งเป็นผู้เยาว์โดยมิได้รับอนุญาตจากศาลจำเลยทั้งสองได้รับเงินมัดจำไปแล้ว ต่อมาโจทก์บอกให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามสัญญาหรือมิฉะนั้นให้คืนเงินมัดจำพร้อมทั้งค่าเสียหายให้โจทก์ จำเลยที่ ๒ ว่าโจทก์ผิดสัญญาบอกเลิกสัญญากับโจทก์และริบเงินมัดจำ ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยร่วมกันคืนเงินค่ามัดจำกับดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
จำเลยที่ ๑ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๒ ให้การว่าขณะทำสัญญา จำเลยที่ ๒ อายุ ๑๙ ปี โจทก์เต็มใจทำสัญญาโดยมีข้อตกลงว่า เมื่อโจทก์ชำระราคาที่ดินงวดที่ ๒ จำเลยที่ ๒ก็จะบรรลุนิติภาวะจำเลยที่ ๒ จะจัดการโอนที่ดินให้เรียบร้อย โจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาโดยไม่ชำระราคาที่ดินงวดที่ ๒ จำเลยที่ ๒ มีสิทธิริบมัดจำได้
ศาลชั้นต้นสอบข้อเท็จจริงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๒ แล้ว ให้งดสืบพยานโจทก์จำเลย วินิจฉัยว่าสัญญาจะซื้อขาย ผู้เยาว์มีอำนาจทำเองได้โดยได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม ไม่ต้องขออนุญาตศาลโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยจึงริบเงินมัดจำได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า สัญญาจะซื้อขายเป็นโมฆะ โจทก์มิได้สืบพยานจำเลยที่ ๑ จึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินให้โจทก์ พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า ให้จำเลยที่ ๒ คืนเงินมัดจำกับดอกเบี้ยให้แก่โจทก์
จำเลยที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๕๔๖(๑) การขายอสังหาริมทรัพย์ของเด็ก ผู้ใช้อำนาจปกครองจะทำมิได้ เว้นแต่ศาลจะอนุญาต ทั้งนี้ หมายความรวมถึงสัญญาจะขายอสังหาริมทรัพย์ของเด็กด้วย เพราะการที่ผู้ใช้อำนาจปกครองทำสัญญาจะขายอสังหาริมทรัพย์ของเด็ก ย่อมมีผลผูกมัดไปถึงการขายด้วยทั้งผู้ใช้อำนาจปกครองจะให้ความยินยอมแก่เด็กโดยมิได้รับอนุญาตจากศาลก็ไม่อาจทำได้เช่นเดียวกัน ถึงแม้จะมีการตกลงกันว่าจะทำการโอนกรรมสิทธิ์กันในเมื่อเด็กมีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะทำการจดทะเบียนโอนให้แก่โจทก์ได้ตามสัญญาก็ตาม ในเมื่อการขาย ตามกฎหมายผู้ใช้อำนาจปกครองไม่มีอำนาจทำได้นอกจากได้รับอนุญาตจากศาลแล้ว สัญญาจะซื้อขายรายพิพาท ย่อมไม่ผูกพันจำเลยที่ ๑ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๘๑๖-๘๑๗/๒๔๙๔ ดังนั้น จำเลยที่ ๒จะอ้างว่า โจทก์ผิดสัญญาและจะริบเงินมัดจำหาได้ไม่
พิพากษายืน