คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1554/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9,11 กำหนดให้พนักงานรัฐวิสาหกิจต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์และให้พนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์พ้นจากตำแหน่งนั้น เป็นการกำหนดคุณสมบัติของพนักงานรัฐวิสาหกิจโดยทั่ว ๆ ไป เมื่อพนักงานรัฐวิสาหกิจคนใดอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ซึ่งขาดคุณสมบัติที่จะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจต่อไป รัฐวิสาหกิจผู้เป็นนายจ้างก็ต้องดำเนินการให้พนักงานรัฐวิสาหกิจเช่นว่านั้นพ้นจากตำแหน่งซึ่งเรียกกันว่าให้พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุดังที่จำเลยปฏิบัติต่อโจทก์ทั้งยี่สิบสาม ซึ่งการที่จำเลยให้โจทก์ทั้งยี่สิบสามพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุดังกล่าวจะเป็นการเลิกจ้างหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณาตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 45ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยให้โจทก์ทั้งยี่สิบสามพ้นจากตำแหน่งซึ่งได้ให้ความหมายของการเลิกจ้างไว้ว่าหมายถึงการที่รัฐวิสาหกิจให้ออกจากงาน ปลดออกจากงานหรือไล่ออกจากงาน โดยที่พนักงานไม่ได้กระทำความผิดตามข้อ 46 ดังนั้น การที่จำเลยให้โจทก์ทั้งยี่สิบสาม พ้น จากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุโดยที่โจทก์ทั้งสี่สิบสามไม่ได้กระทำความผิดตามข้อ 56 แห่งระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงาน รัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 จึงเป็นการเลิกจ้าง ส่วนที่ระเบียบ คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐาน ของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 47 กำหนดว่าพนักงานที่ต้องต้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุ ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามข้อ 45 ซึ่งกำหนดให้รัฐวิสาหกิจ จ่ายค่าชดเชยแก่พนักงานซึ่งเลิกจ้างนั้น ก็เป็นเพียงข้อกำหนด ให้พนักงานที่เกษียณอายุไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชยโดยให้ได้รับเงิน เพื่อตอบแทนความชอบในการทำงาน หากปฏิบัติงานก่อนครบเกษียณมาครบห้าปีขึ้นไป มิใช่เป็นข้อกำหนดว่าการที่รัฐวิสาหกิจให้พนักงานออกจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุไม่เป็นการเลิกจ้าง

ย่อยาว

โจทก์ทั้งยี่สิบสามสำนวนฟ้องทำนองเดียวกันว่าโจทก์ทั้งยี่สิบสามเป็นลูกจ้างของจำเลย จำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 1โจทก์ที่ 8 ถึงโจทก์ที่ 23 และเลิกจ้างโจทก์ที่ 23 ถึงโจทก์ที่ 7ตามลำดับเนื่องจากเกษียณอายุในการทำงานจำเลยมีระเบียบเกี่ยวกับวันหยุดพักผ่อนประจำปีว่า พนักงานที่ทำงานติดต่อกันเกินกว่า10 ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีได้ปีละ 12 วัน และมีสิทธินำวันหยุดพักผ่อนประจำปีสะสมไปหยุดในปีถัดไปได้ แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 20 วันก่อนถูกเลิกจ้างจำเลยไม่ได้ให้โจทก์ทั้งยี่สิบสามหยุดพักผ่อนประจำปีครบตามสิทธิ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบสาม จึงต้องจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ทั้งยี่สิบสามตามคำขอท้ายฟ้อง
จำเลยทั้งยี่สิบสามสำนวนให้การว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจจัดขึ้นตามพระราชบัญญัติการท่าเรือแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2494 โจทก์ทั้งยี่สิบสามพ้นจากตำแหน่งเนื่องจากเกษียณอายุ เป็นการขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามพระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9(2), 11 ไม่ใช่การเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบสามไม่มีสิทธิได้รับเงินค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี นอกจากนี้โจทก์ทั้งยี่สิบสามไม่ใช้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีด้วยความสมัครใจเอง ทั้งที่รู้ตัวล่วงหน้าว่าจะเกษียณอายุ การมาฟ้องเรียกค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต โจทก์ทั้งยี่สิบสามไม่มีอำนาจฟ้อง เนื่องจากระเบียบคณะกรรมการการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 50 กำหนดให้รัฐวิสาหกิจที่มีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรฐานของสิทธิประโยชน์เสนอปัญหาให้คณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เป็นผู้พิจารณาวินิจฉัย และศาลแรงงานไม่มีอำนาจจะวินิจฉัยชี้ขาดคดีนี้เนื่องจากฟ้องโจทก์ไม่ต้องด้วยบทบัญญัติตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522 มาตรา 8 ขอให้ยกฟ้อง
อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางมีคำวินิจฉัยว่า ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 จัดได้ว่าเป็นกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน คดีระหว่างโจทก์ทั้งยี่สิบสามกับจำเลยจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวด้วยสิทธิหรือหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานหรือกฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 8(2)อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ทั้งยี่สิบสาม
จำเลยทั้งยี่สิบสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมและพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 9, 11 กำหนดให้พนักงานรัฐวิสาหกิจต้องมีอายุไม่เกิน 60 ปีบริบูรณ์ และให้พนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์พ้นจากตำแหน่งนั้นเป็นการกำหนดคุณสมบัติของพนักงานรัฐวิสาหกิจโดยทั้ง ๆ ไปเมื่อพนักงานรัฐวิสาหกิจคนใดอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ ซึ่งขาดคุณสมบัติที่จะเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจต่อไป รัฐวิสาหกิจผู้เป็นนายจ้างก็ต้องดำเนินการให้พนักงานรัฐวิสาหกิจเช่นว่านั้นพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งเรียกกันว่าให้พ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุดังที่จำเลยปฏิบัติต่อโจทก์ทั้งยี่สิบสาม ซึ่งการที่จำเลยให้โจทก์ทั้งยี่สิบสามพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุดังกล่าวจะเป็นการเลิกจ้างหรือไม่นั้นจะต้องพิจารณาตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534ข้อ 45 ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่จำเลยให้โจทก์ทั้งยี่สิบสามพ้นจากตำแหน่งซึ่งได้ให้ความหมายของการเลิกจ้างไว้ว่า หมายถึงการที่รัฐวิสาหกิจให้ออกจากงาน ปลดออกจากงาน หรือไล่ออกจากงาน โดยที่พนักงานไม่ได้กระทำความผิดตามข้อ 46 ดังนั้น การที่จำเลยให้โจทก์ทั้งยี่สิบสามพ้นตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุโดยที่โจทก์ทั้งยี่สิบสามไม่ได้กระทำความผิดตามข้อ 46 แห่งระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 จึงเป็นการเลิกจ้าง ส่วนที่ระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่องมาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 47 กำหนดว่า พนักงานที่ต้องพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุ ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามข้อ 45 ซึ่งกำหนดให้รัฐวิสาหกิจจ่ายค่าชดเชยแก่พนักงานซึ่งเลิกจ้างนั้น ก็เป็นเพียงข้อกำหนดให้พนักงานที่เกษียณอายุไม่มีสิทธิได้ค่าชดเชยโดยให้ได้รับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงาน หากปฏิบัติงานก่อนครบเกษียณมาครบห้าปีขึ้นไป มิใช่เป็นข้อกำหนดว่าการที่รัฐวิสาหกิจให้พนักงานออกจากตำแหน่งเพราะอายุไม่เป็นการเลิกจ้าง… แต่ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีของโจทก์ที่ 12 นั้น ตามที่โจทก์จำเลยรับข้อเท็จจริงกันฟังได้ว่า โจทก์ที่ 12 มีสิทธิได้ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี 9,496 บาท ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ที่ 12 เป็นเงิน 9,906 บาท จึงผิดพลาด เห็นควรแก้ไขให้ถูกต้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่โจทก์ที่ 12 เป็นเงิน 9,496 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share