คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3866/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ความผิดฐานลักทรัพย์และรับของโจรนั้นเป็นความผิดคนละฐานะจะลงโทษคนคนเดียวในเรื่องเดียวกันทั้งสองฐานะด้วยกันไม่ได้คำรับของจำเลยไม่ชัดเจนพอที่จะชี้ขาดว่าได้ทำผิดฐานใดเป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องนำสืบให้ได้ความถึงการทำผิดของจำเลยเมื่อโจทก์ไม่สืบพยานก็ลงโทษจำเลยไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อระหว่างวันที่ 4 พฤศจิกายน 2530 เวลากลางวันถึงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2530 เวลากลางคืนหลังเที่ยง ต่อเนื่องกันวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ได้มีคนร้ายบังอาจเช้าไปในบ้านอันเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของนายเกษม กัณหานนท์ ผู้เสียหายโดยมิได้รับอนุญาต โดยเข้าทางหน้าต่างอันเป็นช่องทางซึ่งได้ทำขึ้นโดยไม่ได้จำนงให้เป็นทางคนเข้า แล้วลักเอาพระเครื่องจำนวน9 องค์ ราคา 15,000 บาท ของผู้เสียหายซึ่งเก็บรักษาไว้ภายในเคหสถานดังกล่าวนั้นไปโดยทุจริตต่อมาวันที่ 7 พฤศจิกายน 2530 เวลากลางวัน เจ้าพนักงานจับจำเลยได้พร้อมพระเครื่องจำนวน 8 องค์ซึ่งเป็นทรัพย์ส่วนหนึ่งของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักเอาไปดังกล่าวเป็นของกลาง ทั้งนี้โดยตามวันเวลาและสถานที่ดังกล่าวจำเลยได้เป็นคนร้ายเข้าไปลักเอาทรัพย์ดังกล่าวของผู้เสียหายไปโดยทุจริต หรือมิฉะนั้นจำเลยได้รับของโจรโดยรับเอาพระเครื่องจำนวน 8 องค์ ราคา 7,500 บาท อันเป็นทรัพย์สินส่วนหนึ่งของผู้เสียหายที่ถูกคนร้ายลักเอาไปไว้จากคนร้ายโดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าเป็นทรัพย์อันได้มาโดยการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์เหตุลักทรัพย์และรับของโจรเกิดที่ตำบลบึงน้ำรักษ์ อำเภอธัญบุรีจังหวัดปทุมธานี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(4)(8),357 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5)พ.ศ. 2525 มาตรา 11 ให้จำเลยคืนพระสมเด็จวัดปากน้ำหรือใช้ราคา7,500 บาท แก่ผู้เสียหายด้วย
จำเลยให้การรับสารภาพว่ากระทำผิดตามฟ้องโจทก์ทุกประการ
โจทก์จำเลยไม่ติดใจสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานรับของโจรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 357 พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2525 มาตรา 11 จำเลยอายุไม่เกิน14 ปี ให้ส่งตัวไปฝึกอบรมที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กกลาง มีกำหนด2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 74 คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ความผิดฐานลักทรัพย์และรับของโจรนั้นเป็นความผิดคนละฐานะ จะลงโทษคนคนเดียวในเรื่องเดียวกันทั้งสองฐานะด้วยกันไม่ได้ คำรับของจำเลยไม่ชัดเจนพอที่จะชี้ขาดว่าได้ทำผิดฐานใด เป็นหน้าที่ของโจทก์จะต้องนำสืบต่อไปให้ได้ความถึงการทำผิดของจำเลย เมื่อโจทก์ไม่สืบพยานก็ลงโทษจำเลยไม่ได้ตามนับคำพิพากษาฎีกาที่ 819/2513 ระหว่างพนักงานอัยการจังหวัดชลบุรี โจทก์ นายสังเวียน แซ่อึ้ง กับพวก จำเลย”
พิพากษายืน

Share