คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 534/2536

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 169 เดิม (มาตรา 193/12)ที่กำหนดให้เริ่มนับอายุความตั้งแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปนั้น เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการเริ่มนับอายุความสำหรับการบังคับสิทธิเรียกร้องทั่ว ๆ ไป แต่การเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิด มาตรา 448 วรรคแรก บัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้นเป็นอันขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิด เมื่อคดีได้ความว่าจำเลยจงใจหรือประมาทเลินเล่อปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง เรียกเก็บค่าธรรมเนียมล่วงเวลาไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย ทำให้โจทก์ขาดรายได้ เหตุเกิดตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน2521 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2523 ดังนั้นมูลละเมิดคดีนี้ย่อมเกิดขึ้นอย่างช้าที่สุดวันที่ 30 เมษายน 2523 แต่โจทก์ฟ้องจำเลยในวันที่15 เมษายน 2534 ซึ่งล่วงพ้นสิบปี นับแต่วันทำละเมิดแล้ว คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก จำเลยยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นเป็นข้อต่อสู้ฟ้องโจทก์ว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายนี้ได้ตามที่เห็นสมควรตาม ป.วิ.พ. มาตรา 24โดยไม่จำเป็นต้องให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอเสียก่อน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสี่รับราชการอยู่ที่ด่านศุลกากรท่าอากาศยานกรุงเทพฯ ภายใต้บังคับบัญชาของโจทก์โดยจำเลยทั้งสี่มีหน้าที่ควบคุมดูแลและเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมล่วงเวลาให้เป็นไปโดยถูกต้องครบถ้วน ตามกฎหมายกฎกระทรวง ประกาศและระเบียบต่าง ๆ ที่วางไว้ ตลอดจนการเก็บค่าภาษี ค่าอากรค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ในการเติมน้ำมันของอากาศยานด้วย เมื่อระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2521 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2523 ได้มีบริษัทผู้ค้าน้ำมัน รวม 3 บริษัท ยื่นคำขอทำการล่วงเวลาเพื่อเติมน้ำมันแก่อากาศยาน ซึ่งจำเลยทั้งสี่มีหน้าที่ควบคุมดูแลเรียกเก็บค่าธรรมเนียมให้ครบถ้วน แต่จำเลยทั้งสี่จงใจหรือประมาทเลินเล่อปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง หรือละเว้นไม่ปฏิบัติตามระเบียบ กฎกระทรวงและประกาศต่าง ๆ ของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายซึ่งจำเลยทั้งสี่ต้องร่วมกันและหรือแยกกันรับผิดต่อโจทก์ตามระยะเวลาที่ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องผิดพลาด พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันทำละเมิด กล่าวคือ จำเลยที่ 1 และที่ 4ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์จำนวน 812,607.79 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 4 ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์จำนวน 590,833.08 บาท จำเลยที่ 3และที่ 4 ต้องร่วมกันรับผิดต่อโจทก์จำนวน 174,491.34 บาท โจทก์ไม่ทราบถึงมูลละเมิดดังกล่าว ต่อมาในปี พ.ศ. 2531 โจทก์ได้ทราบถึงมูลละเมิดแต่ยังไม่รู้ตัวผู้กระทำละเมิดโจทก์จึงตั้งคณะกรรมการขึ้นเพื่อสอบสวนหาตัวผู้กระทำละเมิดและจะต้องรับผิดต่อโจทก์ จนกระทั่งวันที่ 17 เมษายน 2533 โจทก์จึงทราบว่าจำเลยทั้งสี่กระทำละเมิดต่อโจทก์และจะต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 1,577,932.21 บาท แก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 4ร่วมกันรับผิดจำนวน 812,607.79 บาท จำเลยที่ 2 และที่ 4 ร่วมกันรับผิดจำนวน 590,833.08 บาท จำเลยที่ 3 และที่ 4 ร่วมกันรับผิดจำนวน 174,491.34 บาท ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินจำนวน 1,577,932.21 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจเรียกเก็บค่าธรรมเนียมทำการล่วงเวลาเติมน้ำมันอากาศยานจากบริษัทผู้ค้าน้ำมัน การที่บริษัทผู้ค้าน้ำมันชำระค่าธรรมเนียมทำการล่วงเวลาให้แก่โจทก์ตามฟ้องนั้น มิใช่เป็นการชำระตามกฎกระทรวง ประกาศหรือกฎหมายที่โจทก์อ้าง แต่เป็นการเก็บตามข้อตกลงพิเศษระหว่างนายด่านท่าอากาศยานกรุงเทพฯ กับบริษัทผู้ค้าน้ำมันเป็นค่าอำนวยความสะดวกที่บริษัทผู้ค้าน้ำมันจะขอคืนอากรน้ำมันที่เติมอากาศยานไปต่างประเทศที่บริษัทผู้ค้าน้ำมันได้ชำระไว้ก่อนและการเก็บก็เก็บตามแบบอย่างกฎกระทรวงฉบับที่ 66 (พ.ศ. 2517) ส่วนการเก็บค่าธรรมเนียมล่วงเวลาตามฟ้องเป็นการเรียกเก็บเกินโดยมิชอบ โจทก์ไม่เสียหายเพราะค่าธรรมเนียมทำการล่วงเวลาตามฟ้อง นายเรือหรือตัวแทนนายเรือได้ชำระไว้ครบถ้วนถูกต้องแล้ว และตัดฟ้องว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความขอให้ยกฟ้อง
ในวันชี้สองสถาน จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24 ศาลชั้นต้นเห็นว่า หากได้วินิจฉัยชี้ขาดข้อกฎหมายเบื้องต้นจะทำให้คดีเสร็จไป จึงงดสืบพยานโจทก์และจำเลย
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่าจำเลยทั้งสี่กระทำละเมิดต่อโจทก์ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2521 ถึงวันที่ 30เมษายน 2523 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2534 เป็นระยะเวลาพ้นสิบปี นับแต่วันทำละเมิดแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความฟ้องร้อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว คดีมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์เพิ่งรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2533 เท่ากับว่าโจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้ตั้งแต่วันดังกล่าว อายุความสิบปีจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันนั้น ทั้งนี้เพราะการเริ่มนับอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 ก็ต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 169 เดิม (มาตรา 193/12) คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความนั้นเห็นว่า ตาม มาตรา 169 เดิม (มาตรา 193/12) ที่กำหนดให้เริ่มนับอายุความตั้งแต่ขณะที่จะอาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปนั้นเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการเริ่มนับอายุความสำหรับการบังคับสิทธิเรียกร้องทั่ว ๆ ไป แต่การเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้น มาตรา 448 วรรคแรก บัญญัติไว้โดยเฉพาะว่าสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดแต่มูลละเมิดนั้นเป็นอันขาดอายุความเมื่อพ้นปีหนึ่งนับแต่วันที่ผู้ต้องเสียหายรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้พึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันทำละเมิดคดีนี้ได้ความตามคำฟ้องของโจทก์ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายจากการที่จำเลยทั้งสี่จงใจหรือประมาทเลินเล่อปฏิบัติหน้าที่บกพร่อง เรียกเก็บค่าธรรมเนียมล่วงเวลาจากบริษัทผู้ค้าน้ำมันไม่ครบถ้วนตามกฎหมาย ทำให้โจทก์เสียหายขาดรายได้เหตุเกิดตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2521 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2523ดังนั้น มูลละเมิดคดีนี้ย่อมเกิดขึ้นอย่างช้าที่สุดในวันที่ 30เมษายน 2523 แต่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสี่ในวันที่ 15 เมษายน 2534ซึ่งล่วงพ้นสิบปี นับแต่วันทำละเมิดแล้ว คดีโจทก์ย่อมขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 448 วรรคแรก
ที่โจทก์อุทธรณ์ต่อไปว่าเฉพาะจำเลยที่ 1 เท่านั้นที่ขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมาย ส่วนจำเลยที่ 2 ที่ 3และที่ 4 มิได้ขอให้ศาลวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายด้วยศาลจะวินิจฉัยว่าคดีโจทก์ขาดอายุความและยกฟ้องไปถึงจำเลยที่ 2ที่ 3 และที่ 4 ด้วยไม่ได้นั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยทั้งสี่ต่างยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นเป็นข้อต่อสู้ฟ้องโจทก์ว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ ศาลย่อมมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหานั้นได้ตามที่เห็นสมควร ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 24โดยไม่จำเป็นต้องให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งร้องขอเสียก่อนจึงจะยกปัญหาข้อกฎหมายขึ้นวินิจฉัยได้ดังที่โจทก์อุทธรณ์เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าคดีที่โจทก์ฟ้องขาดอายุความแล้วก็ย่อมพิพากษายกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยทั้งสี่เสียได้
พิพากษายืน

Share