คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 546/2537

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

การแปลงหนี้ใหม่ต้องปรากฏว่าคู่กรณีมีเจตนาแปลงหนี้ใหม่ด้วย การที่จำเลยให้คำรับรองหรือรับสภาพหนี้เก่าว่าจะชำระหนี้ให้นั้น ยังไม่ถือว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้าศูนย์สาธิตและการฝึกอบรมไทย-เยอรมันจำเลยที่ 2 เป็นหน่วยราชการสังกัดกรมประชาสงเคราะห์จำเลยที่ 3 เป็นต้นสังกัดของจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ตั้งแต่ปี 2520 ถึงปี 2525 จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ได้สั่งซื้อสินค้าประเภทยาปราบศัตรูพืชจากโจทก์ไปจำหน่ายให้สมาชิกของจำเลยที่ 2หลายครั้ง และค้างชำระค่าสินค้าคำนวณถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2525เป็นเงิน 2,013,741.50 บาท ต่อมาวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2526จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้โดยกำหนดจะชำระหนี้ทั้งหมดภายในเดือนมิถุนายน 2526 ครั้นถึงกำหนดชำระหนี้จำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 ได้ชำระหนี้เพียง 112,202 บาท ยังค้างชำระ 1,901,139.50 บาท เมื่อโจทก์ทวงถาม จำเลยที่ 3 ได้ให้จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ แต่แล้วก็ไม่ชำระการที่จำเลยผิดนัดโจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่สิ้นปี 2525 อันเป็นวันกำหนดชำระหนี้ถึงวันฟ้องเป็นเวลา3 ปี 6 เดือน เป็นดอกเบี้ย 499,049 บาท ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 2,400,188.50 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีจากต้นเงิน 1,901,139.50 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ก่อนจำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การ โจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 2ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 1 ให้การว่า นายฮอร์สท์ แบร์นฮาร์ด ฮินเลเคนและนายโยฮันเนส ชมิดท์ ไม่ใช่กรรมการของโจทก์ หนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีจึงไม่มีผลตามกฎหมาย จำเลยที่ 1 เป็นหัวหน้าศูนย์สาธิตและการฝึกอบรมไทย-เยอรมัน สังกัดจำเลยที่ 3 การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการปฏิบัติราชการและกระทำในฐานะตัวแทนจำเลยที่ 3เมื่อจำเลยที่ 1 ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าศูนย์สาธิตดังกล่าวนายคณิต ภาสะฐิติ หัวหน้าศูนย์คนเดิมได้เป็นหนี้ค่ายาปราบศัตรูพืชโจทก์อยู่ 574,340.50 บาท หลังจากจำเลยที่ 1 รับหน้าที่หัวหน้าศูนย์โจทก์ได้ให้สินเชื่อยาปราบศัตรูพืชและเครื่องพ่นยาแก่ศูนย์ตลอดมาเช่นเดียวกับที่เคยให้แก่หัวหน้าศูนย์คนเดิม จำเลยที่ 1 ได้นำยาปราบศัตรูพืชและเครื่องพ่นยาไปจำหน่ายจ่ายแจกให้แก่เกษตรกรตามโครงการที่ได้เสนออธิบดีกรมจำเลยที่ 3 ไปแล้ว การรับสินเชื่อจากโจทก์ จำเลยที่ 1 ได้ปฏิบัติตามหน้าที่ราชการที่ได้รับแต่งตั้ง หนี้สินต่าง ๆ จำเลยที่ 1ได้ชำระให้โจทก์หมดสิ้นแล้ว จำเลยที่ 1 ไม่เคยทำหนังสือรับสภาพหนี้ตามเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 อย่างไรก็ตามจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนตัว และหนี้ตามฟ้องเกิดจากการซื้อขายมีอายุความ 2 ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว และหากมีการรับสภาพหนี้ก็ขาดอายุความฟ้องร้องแล้วเช่นกัน อีกทั้งจำเลยที่ 1ไม่ต้องรับผิดในหนี้ 574,340.50 บาท ซึ่งหัวหน้าศูนย์คนเดิมทำไว้เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 5 ปลอม และไม่ใช่หนังสือรับสภาพหนี้เพราะเป็นหนี้ที่ขาดอายุความแล้ว อนึ่ง โจทก์ได้ให้จำเลยชำระหนี้ภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2529 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้โจทก์ โจทก์จึงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยได้ตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม2529 อันเป็นวันที่จำเลยที่ 1 ผิดนัดเป็นต้นไป ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ให้การว่า ไม่เคยติดต่อขอซื้อยาปราบศัตรูพืชหรือสินค้าจากโจทก์ ทั้งไม่เคยมอบให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2จัดซื้อหรือติดต่อซื้อยาปราบศัตรูพืชจากโจทก์ จำเลยที่ 3 ไม่เคยมอบให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ทำเอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3และหมายเลข 5 จำเลยที่ 3 จึงไม่ต้องรับผิดในการกระทำของจำเลยที่ 1และที่ 2 โจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีภายในกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ส่งมอบของคดีโจทก์ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 1,707,189.50บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 1กรกฎาคม 2529 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จสิ้นให้ยกฟ้องจำเลยที่ 3
โจทก์และจำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์อัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงิน 1,707,189.50 บาทนับแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2529 ไปจนกว่าจะชำระหนี้แก่โจทก์เสร็จสิ้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ประการแรกว่า เอกสารหมาย จ.35 และ จ.1 เป็นหนังสือรับสภาพหนี้หรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือเอกสารหมาย จ.35 ลงวันที่ 4กุมภาพันธ์ 2526 มีใจความสำคัญพอสรุปว่า ศูนย์สาธิตและการฝึกอบรมไทย-เยอรมัน ได้สั่งซื้อเคมีภัณฑ์ปราบศัตรูพืช จากโจทก์และเป็นหนี้โจทก์ 2,013,741.50 บาท ยังไม่สามารถชำระหนี้ได้เพราะโครงการไม่ประสบความสำเร็จทางศูนย์สาธิตและฝึกอบรมไทย-เยอรมัน ได้เร่งรัดจากสมาชิกที่ซื้อไปจากศูนย์สาธิตและการฝึกอบรมไทย-เยอรมัน คาดว่าสามารถชำระค่าสินค้าให้โจทก์ได้ภายในเดือน มิถุนายน 2526 และหนังสือเอกสารหมาย จ.1ลงวันที่ 31 มกราคม 2528 มีข้อความสำคัญพอสรุปได้ว่าหนี้ตามเอกสารหมาย ล.35 นั้น ทางศูนย์สาธิตและการฝึกอบรมไทย-เยอรมันได้ชำระให้โจทก์เพียง 112,202 บาท คงค้างอยู่อีก 1,901,139.50บาท ขอผ่อนผันการชำระภายในเดือนมิถุนายน 2529 หนังสือ 2 ฉบับดังกล่าวเป็นการยอมรับว่าเป็นหนี้อยู่จริง จึงเป็นหนังสือรับสภาพหนี้แล้ว จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าหนี้ตามฟ้องโจทก์ถึงกำหนดชำระตั้งแต่วันที่ 19 พฤศจิกายน 2524 ซึ่งจะครบกำหนดอายุความ2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34(1) ในวันที่ 19พฤศจิกายน 2526 แต่จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ตามเอกสารหมาย ล.35 เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2526 จึงทำให้อายุความสะดุดหยุดลง ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นย่อมไม่นับเข้าในอายุความและให้เริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 4กุมภาพันธ์ 2526 สืบไปอีก 2 ปี ต่อมาเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2528จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1ย่อมทำให้อายุความสะดุดหยุดลงอีกครั้งหนึ่ง ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นย่อมไม่นับเข้าในอายุความจึงต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม 2528 สืบไปอีก 2 ปี จะครบกำหนดอายุความ2 ปี ในวันที่ 31 มกราคม 2530 โจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่4 สิงหาคม 2529 จึงยังไม่ล่วงพ้นกำหนด 2 ปี คดีของโจทก์หาขาดอายุความไม่ ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 1 ในข้อที่ว่าเอกสารหมาย จ.35 และ จ.1 ทำขึ้นในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะตัวแทนของจำเลยที่ 2 โจทก์มีส่วนรับรู้และเห็นชอบด้วยหรือไม่ และฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่นั้นจำเลยที่ 1 มิได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การ แม้จำเลยที่ 1 ยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ก็ตาม ก็ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ทั้งไม่ใช่ข้อปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ สำหรับฎีกาของโจทก์ที่ว่าจำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นส่วนตัวหรือไม่เพียงไร และจำเลยที่ 3 จะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์หรือไม่นั้น ได้ความจากคำเบิกความของนายมนัส ลิมปพยอม ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 3ถามค้านว่า การที่หน่วยราชการจะซื้อสินค้าจากบุคคลภายนอกนั้นจะต้องซื้อโดยวิธีประกวดราคาหรือสืบราคา แต่กรณีที่ศูนย์สาธิตและการฝึกอบรมไทย-เยอรมัน ซื้อสินค้าจากโจทก์เป็นการติดต่อซื้อขายโดยตรง ไม่เคยเห็นมีหนังสือมอบหมายจากจำเลยที่ 3 ให้ทางศูนย์สาธิตและการอบรมไทย-เยอรมัน ติดต่อซื้อสินค้าจากโจทก์ และไม่มีหลักฐานที่ปรากฏว่าศูนย์สาธิตและการฝึกอบรมไทย-เยอรมันติดต่อกับโจทก์ในนามของจำเลยที่ 3 เพียงแต่มีข้อความระบุว่าติดต่อในนามศูนย์สาธิตและการฝึกอบรมไทย-เยอรมัน ซึ่งเจือสมกับคำเบิกความของนายสมวงศ์ วงศ์วอนแสง พยานจำเลยที่ 3ที่เบิกความว่า ในการสั่งซื้อสินค้าจากบุคคลภายนอกจะต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ การสั่งซื้อเมล็ดพันธุ์พืช ยาปราบศัตรูพืช ปุ๋ยเคมีต่าง ๆ ทางศูนย์สาธิตและการฝึกอบรมไทย-เยอรมัน จะต้องสั่งซื้อจากสหกรณ์การเกษตรซึ่งอยู่ที่นิคมสร้างตนเองพระพุทธบาท จำเลยที่ 1 ไม่เคยขออนุมัติหรือได้รับอนุมัติให้ซื้อปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชและจำเลยที่ 3 ไม่เคยมอบอำนาจให้หัวหน้าศูนย์สาธิตและการฝึกอบรมไทย-เยอรมัน ซื้อปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชจากโจทก์ อีกทั้งจำเลยที่ 1 เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยที่ 3 ยอมรับว่าตามระเบียบเอกสารหมาย ล.5 หัวหน้าศูนย์สาธิตและการฝึกอบรมไทย-เยอรมัน ไม่มีหน้าที่สั่งซื้อสินค้าเชื่อให้แก่สมาชิก ปกติการจัดซื้อจะต้องเป็นไปตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วย ในการซื้อเชื่อสินค้าจากโจทก์ไม่ได้ดำเนินการตามระเบียบดังกล่าว ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ได้สั่งซื้อสินค้าประเภทปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชจากโจทก์โดยตรง โดยอ้างว่าซื้อสินค้าในนามของศูนย์ โดยไม่ได้รับมอบอำนาจหรือได้รับอนุมัติจากจำเลยที่ 3 จึงเป็นการกระทำโดยปราศจากอำนาจ ถือไม่ได้ว่าเป็นการซื้อแทนจำเลยที่ 3 จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดเป็นส่วนตัวจำเลยที่ 3 หาจำต้องร่วมรับผิดด้วยแต่อย่างใดไม่ คดีมีข้อวินิจฉัยต่อไปว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนเชิดของจำเลยที่ 3 ดังที่โจทก์กล่าวอ้างหรือไม่ ศาลฎีกาได้พิจารณาแล้ว ตามบิลและใบเสร็จรับเงินเอกสารหมาย จ.21 ถึง จ.30 คงปรากฏข้อความว่าขายให้แก่ศูนย์สาธิตและการฝึกอบรมไทย-เยอรมัน เท่านั้น ไม่มีข้อความอย่างใดที่แสดงว่าจำเลยที่ 3 ได้เชิดจำเลยที่ 1 ให้เป็นตัวแทนหรือรู้แล้วยอมให้จำเลยที่ 1 เชิดตัวเองออกแสดงเป็นตัวแทนของจำเลยที่ 3 แต่อย่างใด ทั้งโจทก์ไม่ได้สืบแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 3 ได้ตกลงยินยอมหรือเห็นชอบกับจำเลยที่ 1 ในการสั่งซื้อสินค้ารายนี้โดยตรงหรือโดยปริยายแต่อย่างใด ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า นายประมูล จันทรจำนงค์ อดีตอธิบดีกรมจำเลยที่ 3 หลังจากทราบว่าศูนย์เป็นหนี้ค่ายาปราบศัตรูพืชก็มิได้คัดค้านหรือปฏิเสธแต่กลับให้จำเลยที่ 1 มาทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์นั้นย่อมแสดงอยู่ในตัวแล้วว่า จำเลยที่ 3 มิได้เป็นหนี้ จึงให้จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ เพราะถ้าจำเลยที่ 3เป็นหนี้จริงจำเลยที่ 3 ก็คงจะทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้โจทก์ มิใช่ให้จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้ มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ต่อไปว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดในหนี้จำนวนเงิน 193,950 บาท ที่นายคณิต ภาสะฐิติ หัวหน้าศูนย์สาธิตและการฝึกอบรมไทย-เยอรมัน คนก่อนจำเลยที่ 1ได้ก่อไว้ ตามที่จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้กับโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 เบิกความประกอบเอกสารหมาย จ.19 ว่าขณะที่นายคณิตพ้นจากตำแหน่งหัวหน้าศูนย์สาธิตและการฝึกอบรมไทย-เยอรมัน เป็นหนี้ค่าสินค้าโจทก์อยู่ 193,950 บาท ซึ่งนายคณิตเบิกความยอมรับเป็นหนี้อยู่ตามจำนวนนั้นจริง ดังนั้นการที่จำเลยที่ 1 ทำหนังสือรับสภาพหนี้ตามเอกสารหมาย จ.35และ จ.1 นั้น ซึ่งรวมหนี้ของนายคณิตเข้าไปด้วย โดยจำเลยที่ 1มิได้มีส่วนรับผิดชอบด้วย จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์และที่โจทก์ฎีกาว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่โดยเปลี่ยนตัวลูกหนี้นั้นศาลฎีกาเห็นว่า การแปลงหนี้ใหม่ต้องปรากฏว่าคู่กรณีมีเจตนาแปลงหนี้ใหม่ด้วย การที่จำเลยที่ 1 ให้คำรับรองหรือรับสภาพหนี้เก่าว่าจะชำระหนี้ให้นั้น ยังไม่ถือว่าเป็นการแปลงหนี้ใหม่ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่โจทก์ฎีกาในเรื่องดอกเบี้ยโดยโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยนับตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2526 จนถึงวันฟ้อง ตามที่จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไว้อีกตามเอกสารหมาย จ.1 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อจำเลยที่ 1ทำหนังสือรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 ขอผัดผ่อนชำระหนี้ไปภายในเดือนมิถุนายน 2529 โจทก์ได้มีหนังสือตามเอกสารหมาย จ.2 แจ้งให้จำเลยชำระหนี้ให้โจทก์เสร็จสิ้นภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2529 แสดงว่าโจทก์ยอมผ่อนเวลาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ไปจนถึงวันที่ 15 กรกฎาคม 2529 เมื่อถึงกำหนดเวลาดังกล่าวจำเลยที่ 1 ไม่ชำระจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับตั้งแต่วันที่ 16 กรกฎาคม 2529 โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยนับแต่นั้นเป็นต้นไป ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามาศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน

Share