แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ก่อนเกิดเหตุคดีนี้ไม่นาน จำเลยเคยถูกนักเรียนโรงเรียนเดียวกับผู้เสียหายขู่บังคับเอาเข็มขัดไป การที่จำเลยขู่บังคับให้ผู้เสียหายถอดเข็มขัดให้จึงเป็นเพราะความโกรธแค้นไม่มีเจตนาเป็นอย่างอื่น จำเลยมิได้ขู่บังคับให้ผู้เสียหายส่งนาฬิกาข้อมือและแหวนนากที่ผู้เสียหายสวมใส่ในขณะเกิดเหตุให้ด้วย เข็มขัดที่จำเลยเอาไปมีราคาเพียง 50 บาท ถือว่าจำเลยไม่มีเจตนาลักเข็มขัดของผู้เสียหาย การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์
การที่จำเลยขู่บังคับให้ผู้เสียหายส่งเข็มขัดแก่จำเลยนั้น เป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายให้กระทำตามความประสงค์ของจำเลยโดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อร่างกายของผู้ เสียหายอันเป็นความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 309 วรรคแรก ศาลจึงมีอำนาจลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย
ข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่าตำรวจเรียกผู้เสียหายไปสอบปากคำ 2 ครั้ง ครั้งหลังตำรวจได้ไกล่เกลี่ยไม่ให้เอาเรื่อง ผู้เสียหายจึงบอกตำรวจว่าไม่ติดใจเอาเรื่องดังนี้ยังฟังไม่ได้ว่าผู้เสียหาย ได้ถอนคำร้องทุกข์หรือเป็นการยอมความกันตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(2) แล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไป
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๙
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๙ วรรคแรก จำเลยอายุไม่เกิน ๑๗ ปี ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่งตามมาตรา ๗๕ คงจำคุกไว้ ๖ เดือน
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๙ วรรคสอง ลดมาตราส่วนโทษกึ่งหนึ่งตามมาตรา ๗๕ คงจำคุก ๔ ปี คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ลดโทษให้หนึ่งในสามตามมาตรา ๗๘ คงจำคุก ๓ ปี ๔ เดือน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ก่อนเกิดเหตุคดีนี้โรงเรียนของผู้เสียหายและโรงเรียนของจำเลยมีเรื่องไม่ถูกกัน เคยยกพวกตีกันและมีการแย่งหัวเข็มขัดกันด้วยชั้นสอบสวนจำเลยให้การว่าจำเลยเคยถูกนักเรียนโรงเรียนเดียวกับผู้เสียหายขู่บังคับเอาเข็มขัดไปก่อนหน้าเกิดเหตุคดีนี้ไม่นานนัก จำเลยขู่บังคับให้ผู้เสียหายถอดเข็มขัดให้เพราะความโกรธแค้นที่นักเรียนโรงเรียนของผู้เสียหายเคยเอาเข็มขัดของ จำเลยไปดังกล่าวไม่มีเจตนาเป็นอย่างอื่น นอกจากนี้ได้ความว่าวันเกิดเหตุผู้เสียหายสวมนาฬิกาข้อมือ ๑ เรือน ราคาประมาณ ๗๐๐ บาท และแหวนนาก ๑ วง ราคาประมาณ ๒๐๐ บาท แต่จำเลยไม่ได้ขู่บังคับให้ผู้เสียหายส่งทรัพย์ดังกล่าวให้ เข็มขัดที่จำเลยเอาไปมีราคาเพียง ๕๐ บาท เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์ทั้งหมดแห่งคดีนี้แล้ว เห็นว่าหากจำเลยมีเจตนาประสงค์จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายอย่างแท้จริงแล้ว ก็น่าจะขู่บังคับเอาทรัพย์อื่นของผู้เสียหายไปเพราะมีราคามากกว่า กรณีจึงน่าจะเป็นเรื่องที่จำเลยกระทำไปด้วยอารมณ์โกรธแค้นที่เกิดขึ้นในขณะนั้นเพราะตนเคยถูกนักเรียนโรงเรียน เดียวกับผู้เสียหายบังคับเอาเข็มขัดไปก่อนโดยจำเลยหาได้มีเจตนาลักเข็มขัดของผู้เสียหายไม่ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่การที่จำเลยขู่บังคับผู้เสียหายให้ส่งเข็มขัดแก่จำเลยนั้น เป็นการข่มขืนใจผู้เสียหายให้กระทำตามความประสงค์ของจำเลย โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อร่างกายของผู้เสียหายเป็นความผิดต่อเสรีภาพตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๙ วรรคแรก ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๙๒ วรรคท้าย
ได้ความจากผู้เสียหายเพียงว่าตำรวจเรียกผู้เสียหายไปสอบปากคำ ๒ ครั้ง ครั้งหลังตำรวจได้ไกล่เกลี่ยไม่ให้เอาเรื่องเพราะทั้งสองฝ่ายเป็นนักเรียน ผู้เสียหายจึงบอกตำรวจว่าไม่ติดใจเอาเรื่อง ดังนี้กรณีจึงยังฟังไม่ได้ว่า ผู้เสียหายได้ถอนคำร้องทุกข์หรือมีการยอมความกันตามมาตรา ๓๙(๒) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงหาได้ระงับไปไม่
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๐๙ วรรคแรก ขณะกระทำความผิดจำเลยอายุไม่เกิน ๑๗ ปี ลดมาตราส่วนโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๕ แล้ว คงจำคุก ๖ เดือน และปรับ ๓,๐๐๐ บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด ๒ ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐