แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
บทบัญญัติมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพุทธศักราช 2474 บัญญัติไว้ตอนต้นว่า “ภายใต้บังคับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้” ซึ่งรับกับมาตรา 41(1) ที่ให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วได้ หากผู้มีส่วนได้เสียได้ยื่นคำร้องและแสดงได้ว่าตนมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าผู้ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของ ฉะนั้นเมื่อจำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าพิพาทที่แท้จริงและได้ส่งสินค้าซึ่งมีเครื่องหมายการค้าพิพาทเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นเวลานานก่อนที่โจทก์จะได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทดังกล่าวแม้จำเลยจะยังไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทในประเทศไทยจำเลยก็มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทของโจทก์ได้ตามมาตรา 41(1) การที่โนตารีปับลิก รับรองการมีอยู่ของหนังสือรับรองการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทของจำเลยในประเทศต่าง ๆซึ่งมีนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เกี่ยวข้องรับรองความถูกต้องไว้แล้วนั้น เทียบเคียงได้กับกรณีการเป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจที่ได้ทำในเมืองต่างประเทศตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 47 วรรคสาม คือไม่จำต้องมีเจ้าพนักงานสถานกงสุลไทยหรือสถานทูตไทยรับรองอีกชั้นว่าผู้รับรองเอกสารดังกล่าวเป็นโนตารีปับลิกจริง ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของบุคคลที่ลงลายมือชื่อรับรองในฐานะโนตารีปับลิก ดังกล่าว ทั้งโจทก์ก็มิได้นำสืบหักล้างหรือโต้แย้งอย่างใดแล้ว ศาลก็รับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามหนังสือรับรองการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิพาทนั้นได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้พิพากษาว่าโจทก์มีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า THORN ดีกว่าจำเลยในสินค้าจำพวก 13 ห้ามมิให้จำเลยจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า THORN จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้าคำว่า THORN ดีกว่าโจทก์ขอให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้า คำว่า THORN ดีกว่าโจทก์ ให้เพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “โจทก์ฎีกาประการที่สองว่า โจทก์ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าโดยมีคำว่า THORN เป็นภาษาอังกฤษระคนปนอยู่ในรูปแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์แล้วตามเอกสารหมาย จ.1 จึงต้องถือว่าโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้านั้นโจทก์เป็นผู้มีสิทธิแต่ผู้เดียวที่จะใช้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวสำหรับสินค้าในจำพวกที่โจทก์ได้จดทะเบียนไว้ตามความในพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้ามาตรา 27 เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 27 ก็บัญญัติไว้ตอนต้นว่า “ภายในบังคับบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้…”ซึ่งรับกับมาตรา 41 ที่บัญญัติว่า “ทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้นศาลอาจมีคำสั่งให้เพิกถอนได้ เมื่อผู้มีส่วนได้เสียได้ยื่นคำร้องและแสดงได้ว่า (1) ผู้ร้องมีสิทธิในเครื่องหมายการค้านั้นดีกว่าผู้ที่ได้จดทะเบียนเป็นเจ้าของหรือ (2) ฯลฯ” ดังนั้น แม้โจทก์จะได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนไว้แล้วก็ตาม เมื่อพยานหลักฐานของจำเลยฟังได้ชัดว่า จำเลยได้ใช้เครื่องหมายการค้า คำว่าTHORN มาก่อนโจทก์เป็นเวลานานมาก ทั้งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ที่ประเทศอังกฤษ ตั้งแต่ปี 2489 ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.13นอกจากนี้จำเลยยังได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวไว้ในประเทศต่าง ๆ ประมาณ 35 ประเทศ เช่น ประเทศฝรั่งเศสเยอรมนีตะวันตก สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และได้ส่งสินค้าซึ่งมีเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยก่อนที่โจทก์จะได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามเอกสารหมาย จ.1เป็นเวลานาน จำเลยจึงเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงแต่ยังไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย เช่นนี้จำเลยย่อมมีอำนาจที่จะฟ้องขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนทะเบียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ได้ส่วนที่โจทก์ฎีกาถึงรูปร่างลักษณะของเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้ตามเอกสารหมาย จ.1 ว่า มีตัวอักษรภาษาอังกฤษคำว่า T ประดิษฐ์เป็นรูปปากแตรหงายรองรับคำว่า THORN และมีเสี้ยววงกลมทึบ อันหมายถึงลักษณะของโคมไฟ ทั้งหมดบรรจุอยู่ในรูปวงกลมซ้อนอยู่ในรูปสี่เหลี่ยมอีกชั้นหนึ่งส่วนของจำเลยที่อ้างว่าจดทะเบียนยังเมืองต่างประเทศ มีแต่คำว่า THORN เป็นภาษาอังกฤษโดด ๆ นั้น เห็นว่า เครื่องหมายการค้าที่พิพาทกันในคดีนี้คือ คำว่า “THORN” มิได้พิพาทกันว่ารูปร่างลักษณะเครื่องหมายการค้าของโจทก์กับของจำเลยเหมือนกันหรือไม่ ฎีกาข้อนี้ของโจทก์จึงฟังไม่ขึ้นโจทก์ฎีกาประการต่อไปว่า จำเลยอ้างว่าได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า THORN ไว้ยังเมืองต่างประเทศตามเอกสารหมาย ล.13 เอกสารดังกล่าวไม่มีการรับรองโดยเจ้าพนักงานในสถานกงสุลไทย หรือเจ้าพนักงานในสถานทูตไทยว่าผู้ที่ลงชื่อรับรองในเอกสารหมาย ล.13 นั้น เป็นเจ้าพนักงานโนตารีปับลิกจริงเอกสารหมาย ล.13 จึงรับฟังไม่ได้ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า หนังสือรับรองการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยในประเทศต่าง ๆ ตามเอกสารหมาย ล.13 ล้วนแต่มีนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่เกี่ยวข้องลงลายมือชื่อรับรองความถูกต้องไว้ทั้งสิ้น ส่วนการที่โนตารีปับลิกลงลายมือชื่อรับรองการมีอยู่ของเอกสารหมาย ล.13 นั้น กรณีเทียบเคียงได้กับการเป็นพยานในหนังสือมอบอำนาจที่ได้ทำในเมืองต่างประเทศตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 วรรคสามกล่าวคือ ถ้าเจ้าพนักงานโนตารีปับลิกเป็นพยานในการมอบอำนาจแล้วก็ไม่จำต้องมีเจ้าพนักงานในสถานกงสุลไทยหรือเจ้าพนักงานในสถานทูตไทยรับรองอีกชั้นหนึ่งว่า ผู้ที่ลงลายมือชื่อรับรองเอกสารเป็นเจ้าพนักงานโนตารีปับลิกจริง ดังนั้น เมื่อไม่ปรากฏเหตุอันควรสงสัยเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของบุคคลที่ลงลายมือชื่อรับรองในฐานะโนตารีปับลิกดังกล่าว ทั้งโจทก์ก็มิได้นำสืบโต้แย้งหรือหักล้างอย่างใดแล้วศาลก็รับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามเอกสารหมายล.13 ได้ ที่โจทก์ฎีกาประการสุดท้ายว่า จำเลยยังไม่ได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า THORN ไว้ตามกฎหมายไทย และเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่อ้างว่าจดทะเบียนไว้ในต่างประเทศตามเอกสารหมาย ล.13 ก็มีรูปลักษณะแตกต่างกับเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่จำเลยขอจดทะเบียนตามกฎหมายไทย คำว่า THORN เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชื่อบริษัทจำเลยจะฟังว่าจำเลยใช้คำว่า THORN เป็นเครื่องหมายการค้าในประเทศไทยยังไม่ถนัดนั้น เห็นว่า ศาลฎีกาได้วินิจฉัยไว้ในฎีกาประการสองแล้วว่าเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ยังไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทยก็มีสิทธิที่จะได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าฯ ของไทยทั้งได้วินิจฉัยไว้ด้วยแล้วว่า จำเลยเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่พิพาทกันในคดีนี้คือ คำว่า”THORN” จึงไม่จำต้องกล่าวละเอียดอีก สรุปแล้วเห็นว่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาต้องกันว่าจำเลยมีสิทธิในเครื่องหมายการค้า คำว่าTHORN ดีกว่าโจทก์ ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน