คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8801/2559

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของ บ. คู่สมรสของจำเลยที่ 1 ย่อมมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรม ทั้งยังเป็นผู้จัดการมรดกของ บ. ตามคำสั่งศาล การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 5 มีผลกระทบต่อสิทธิในครอบครัวและสิทธิในการรับมรดกของโจทก์หรือทายาทโดยธรรมอื่นของ บ. โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะกล่าวอ้างหรือร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 เป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1497 และมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมซึ่งเป็นการจัดการสินสมรสที่จำเลยที่ 1 ทำไปโดยปราศจากความยินยอมของ บ. มารดาโจทก์ได้
จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 5 ในขณะที่จำเลยที่ 1 มี บ. เป็นคู่สมรสแล้ว การสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 จึงเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 1497 ประกอบมาตรา 1452 ซึ่งศาลมีอำนาจพิพากษาได้ แม้ศาลชั้นต้นจะไม่ได้กล่าวไว้ในประเด็นว่า การสมรสดังกล่าวเป็นโมฆะหรือไม่ก็ตาม เพราะเมื่อศาลเห็นว่าจำเลยที่ 1 กับ บ. จดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ย่อมวินิจฉัยต่อไปได้ว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 ในภายหลังเป็นโมฆะ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 เป็นโมฆะนั้น จึงเป็นการวินิจฉัยที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นข้อพิพาท ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็น
การที่ บ. ยินยอมให้ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินอันเป็นสินสมรสทุกแปลงย่อมแสดงให้เห็นว่า บ. มอบให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจในการจัดการสินสมรสโดยเฉพาะที่ดินได้โดยลำพัง ไม่จำต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจาก บ. อีก ดังจะเห็นได้จากจำเลยที่ 1 เคยยกที่ดินให้แก่บุตรที่เกิดจาก บ. และ ส. และเคยซื้อบ้านและที่ดินให้แก่โจทก์ก็ไม่ปรากฏว่า บ. โต้แย้งคัดค้านการจัดการสินสมรสของจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกับที่ดินพิพาททั้งสามแปลง จำเลยที่ 1 โอนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 5 ไปโดยลำพังในระหว่างที่ บ. ยังมีชีวิตอยู่ น่าเชื่อว่า บ. ยินยอมในการจัดการสินสมรสของจำเลยที่ 1 แล้วจึงไม่ได้โต้แย้งคัดค้านจนกระทั่งถึงแก่ความตายไปนานกว่า 13 ปี สำหรับการโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 12348 และนานกว่า 4 ปี สำหรับการโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 27458 และ 6999 พฤติการณ์ดังกล่าวของ บ. จึงเป็นการให้ความยินยอมในจัดการสินสมรสที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 ไว้ล่วงหน้าโดยปริยายแล้ว ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาททั้งสามแปลงซึ่งเป็นสินสมรสให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 5 โดยปราศจากความยินยอมของ บ. โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาททั้งสามแปลง

ย่อยาว

คดีทั้งสามสำนวนนี้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้รวมการพิจารณาโดยให้เรียกโจทก์ทั้งสามสำนวนว่า โจทก์เรียกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 เรียกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนที่สองว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 เรียกจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 ในสำนวนที่สามว่า จำเลยที่ 1 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7
โจทก์ฟ้องทั้งสามสำนวนและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนการให้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และเพิกถอนการจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินและขายระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในที่ดินโฉนดเลขที่ 27458, 224300, 224301, 224302, 224303, 224304, 224808, 224809 และ 224810 ตำบลในเมือง (ปรุใหญ่) อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา และให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันจดทะเบียนใส่ชื่อนางบุญมีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยที่ 1 หากจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน และให้ที่ดินทั้ง 9 แปลง กลับมาเป็นสินสมรสโดยให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันชำระค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนเพิกถอน หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันชำระราคาที่ดินส่วนที่เป็นของนางบุญมี เนื้อที่ 3 ไร่ 2 งาน เป็นเงิน 21,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระค่าเสียหายจากการไม่ได้รับผลประโยชน์ในที่ดินตั้งแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2549 ถึงวันฟ้องเป็นเงิน 12,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์และให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 พร้อมทั้งบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ให้เพิกถอนนิติกรรมจดทะเบียนการให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 6999 ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 กลับมาเป็นสินสมรส ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ดำเนินการใส่ชื่อนางบุญมีเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 6999 หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนโดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนเพิกถอน หากไม่สามารถดำเนินการได้ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระราคาที่ดินเฉพาะส่วนของนางบุญมี เป็นเงิน 9,600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ชำระค่าเสียหายจากการไม่ได้รับผลประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวถึงวันฟ้องเป็นเงิน 1,200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันทำละเมิดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 พร้อมทั้งบริวารออกไปจากที่ดินโฉนดเลขที่ 6999 ให้เพิกถอนการจดทะเบียนสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 หากจำเลยที่ 1 และที่ 5 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน ให้เพิกถอนการจดทะเบียนให้จำเลยที่ 5 ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 12348 ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ กับเพิกถอนการขายที่ดินเฉพาะส่วนระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 เพิกถอนการแบ่งแยกที่ดินในนามเดิมเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2544 เพิกถอนการจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 12348, 271706, 271707 ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างจำเลยที่ 5 กับจำเลยที่ 7 เพิกถอนการโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 271708 ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างจำเลยที่ 5 กับจำเลยที่ 6 และเพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมทั้งหมดในที่ดินโฉนดเลขที่ 271707 และ 271708 ให้จำเลยที่ 1 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ร่วมกันจดทะเบียนใส่ชื่อนางบุญมีถือกรรมสิทธิ์ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในโฉนดที่ดินดังกล่าว หากจำเลยที่ 1 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทน โดยให้จำเลยที่ 1 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ชำระค่าธรรมเนียมในการเพิกถอนการจดทะเบียนทั้งหมด หากจำเลยที่ 1 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ไม่สามารถดำเนินการได้ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ร่วมกันชำระราคาที่ดินเฉพาะส่วนที่เป็นทรัพย์มรดกของนางบุญมีกึ่งหนึ่ง เป็นเงิน 7,480,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ร่วมกันชำระค่าเสียหายจากการไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนในที่ดินเป็นเวลา 7 ปี คิดค่าเสียหายเป็นเงิน 8,400,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 5 และที่ 6 พร้อมทั้งบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท
จำเลยที่ 1 ให้การทั้งสามสำนวน และจำเลยที่ 2 ให้การสำนวนแรกกับสำนวนที่สองขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 4 ให้การสำนวนแรกขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 5 ที่ 6 และที่ 7 ให้การสำนวนที่สามขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระราคาที่ดินโฉนดเลขที่ 27458 ตำบลในเมือง (ปรุใหญ่) อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ในส่วนของนางบุญมี หนึ่งในสี่ เป็นเงิน 10,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 6999 ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมือง สมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2549 เฉพาะส่วนของนางบุญมี และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อนางบุญมีเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินดังกล่าวหนึ่งในสี่ หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียน หากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับได้ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระราคาที่ดินโฉนดเลขที่ 6999 ในส่วนของนางบุญมี เป็นเงิน 4,800,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้การสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 เป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1452 ประกอบมาตรา 1497 ให้เพิกถอนการจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 5 และนิติกรรมโอนขายที่ดินเฉพาะส่วนระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 ในที่ดินโฉนดเลขที่ 12348 ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2540 เฉพาะส่วนของนางบุญมีหนึ่งในสี่ ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 271708 ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างจำเลยที่ 5 กับจำเลยที่ 6 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2544 เฉพาะส่วนของนางบุญมีหนึ่งในสี่ กับเพิกถอนการจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 271707 และ 271708 ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เฉพาะส่วนของนางบุญมีหนึ่งในสี่ และให้จำเลยที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อนางบุญมีเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในโฉนดที่ดินเลขที่ 12348, 271706, 271707 และ 271708 หนึ่งในสี่ หากจำเลยที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา โดยให้จำเลยที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 ชำระค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนตามส่วนของตน แต่ให้คงนิติกรรมจำนองไว้ หากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับได้ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 5 ร่วมกันชำระราคาที่ดินในส่วนของนางบุญมีเป็นเงิน 3,740,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องสำนวนที่สามเป็นต้นไป (ฟ้องวันที่ 17 พฤศจิกายน 2553) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในสำนวนแรกและสำนวนที่สอง กับให้จำเลยที่ 1 ที่ 5 และที่ 6 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในสำนวนที่สามแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความสำนวนละ 10,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีแต่ละสำนวน คำขออื่นให้ยก ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 และที่ 4 ในสำนวนแรก และยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 7 ในสำนวนที่สาม ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 ที่ 4 และที่ 7 ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 แผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระราคาที่ดินโฉนดเลขที่ 27458 ตำบลในเมือง (ปรุใหญ่) อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ในส่วนของนางบุญมี กึ่งหนึ่งเป็นเงิน 21,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 27 ตุลาคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนขายที่ดินโฉนดเลขที่ 6999 ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2549 เฉพาะส่วนของนางบุญมี และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อนางบุญมีเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมกึ่งหนึ่ง หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ดำเนินการ ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียน หากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับได้ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระราคาที่ดินโฉนดเลขที่ 6999 ในส่วนของนางบุญมี เป็นเงิน 9,600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 26 ตุลาคม 2549 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้เพิกถอนการจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 5 และนิติกรรมโอนขายที่ดินเฉพาะส่วนระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 ในที่ดินโฉนดเลขที่ 12348 ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2540 เฉพาะส่วนของนางบุญมีกึ่งหนึ่ง และให้จำเลยที่ 1 และที่ 5 ดำเนินการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงชื่อนางบุญมีเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 12348, 271706, 271707 และ 271708 กึ่งหนึ่ง หากจำเลยที่ 1 และที่ 5 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา โดยให้จำเลยที่ 1 และที่ 5 ชำระค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนตามส่วนของตน หากสภาพแห่งหนี้ไม่เปิดช่องให้บังคับได้ ให้จำเลยที่ 1 และที่ 5 ร่วมกันชำระราคาที่ดินในส่วนของนางบุญมีเป็นเงิน 7,480,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องสำนวนที่สาม (ฟ้องวันที่ 17 พฤศจิกายน 2553) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้ยกคำขอที่ให้เพิกถอนนิติกรรมการซื้อขายที่ดินโฉนดเลขที่ 271708 ระหว่างจำเลยที่ 5 และที่ 6 นิติกรรมจดทะเบียนภาระจำยอมในที่ดินโฉนดเลขที่ 271707 และ 271708 และนิติกรรมการจดทะเบียนจำนองที่ดินโฉนดเลขที่ 12348, 271706 และ 271708 ต่อจำเลยที่ 7 เสีย ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 6 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ในสำนวนแรกและสำนวนที่สอง ให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้แทนโจทก์ สำหรับสำนวนที่สามให้จำเลยที่ 1 และที่ 5 ร่วมกันชำระแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความสำนวนละ 10,000 บาท ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 6 ให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 5 และที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 กับนางสาวบุญมี อยู่กินฉันสามีภริยาตั้งแต่ปี 2489 ระหว่างอยู่กินด้วยกัน มีบุตร 7 คน คือนายศุภชัย นางจันทนา นายจรูญ นางมาลี นางสาวมาลัย ตัวโจทก์ และนายประสิทธิ์ ต่อมาหลังจากนั้นไม่นาน จำเลยที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยากับนางสุวิมล ระหว่างอยู่กินมีบุตรด้วยกัน 5 คน คือ นางวนิดาหรือพัชรพิมล นางสาวกวีอร ร้อยเอกนายแพทย์ปัญญา นางสาวกาญจนา และนางสาวนิตยา ต่อมาในวันที่ 6 มีนาคม 2505 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 5 ระหว่างสมรสมีบุตรด้วยกัน 3 คน คือ แพทย์หญิงสุขมาส ร้อยเอกหญิงดลยา และจำเลยที่ 2 โดยจำเลยที่ 1 อยู่กินกับภริยาทั้งสาม ที่ตรอกวัดมหาพฤฒาราม อำเภอบางรัก จังหวัดพระนคร (กรุงเทพมหานคร) โดยมีบ้านห่างกัน 50 เมตร ในปี 2506 จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 ย้ายไปอยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ เดิมจำเลยที่ 1 ค้าขายสินค้าผลิตภัณฑ์หนังสัตว์ เช่น หนังงู ก่อนที่จะประกอบกิจการฟาร์มจระเข้ โดยตั้งห้างหุ้นส่วนสามัญไทยมิตรพัฒนาที่บ้านของนางสุวิมล เมื่อกิจการขยายตัว จำเลยที่ 1 ตั้งบริษัทฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์สมุทรปราการ จำกัด บริษัทฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์บางปะกง จำกัด บริษัทจำเลยที่ 6 และบริษัทยูเค อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด โดยทุกบริษัทมีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้จัดการ ส่วนกรรมการจะให้ภริยาทั้งสามและบุตรร่วมเป็นกรรมการ ต่อมาวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2551 นางบุญมีถึงแก่ความตาย
คดีนี้ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 6 จึงไม่มีคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 1 ในส่วนที่จำเลยที่ 6 จะฎีกาโต้แย้งได้ แม้จำเลยที่ 6 จะฎีกาขึ้นมา ศาลฎีกาก็ไม่รับวินิจฉัย มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ประการแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ฎีกาในประเด็นนี้ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอเพิกถอนการจดทะเบียนสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 เนื่องจากเป็นสิทธิเฉพาะตัวของนางบุญมี คู่สมรสของจำเลยที่ 1 เห็นว่า โจทก์เป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนางบุญมี ย่อมมีฐานะเป็นทายาทโดยธรรม ทั้งยังเป็นผู้จัดการมรดกของนางบุญมีตามคำสั่งศาล การที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 5 มีผลกระทบต่อสิทธิในครอบครัวและสิทธิในการรับมรดกของโจทก์หรือทายาทโดยธรรมอื่นของนางบุญมี โจทก์จึงเป็นผู้มีส่วนได้เสียที่จะกล่าวอ้างหรือร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 เป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1497 และมีอำนาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมซึ่งเป็นการจัดการสินสมรสที่จำเลยที่ 1 ทำไปโดยปราศจากความยินยอมของนางบุญมีมารดาโจทก์ได้ หาเป็นสิทธิเฉพาะตัวของนางบุญมีแต่ผู้เดียวดังที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ฎีกาไม่
ปัญหาตามฎีกาข้อต่อไปมีว่า การสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 เป็นการสมรสซ้อนซึ่งตกเป็นโมฆะ เนื่องจากจำเลยที่ 1 มีนางบุญมีเป็นคู่สมรสอยู่แล้วหรือไม่ เห็นว่า ในข้อนี้โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 เฉพาะสำนวนที่สาม แต่จำเลยที่ 5 ซึ่งถูกฟ้องในสำนวนดังกล่าวไม่ได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ จึงไม่มีสิทธิฎีกาเพราะไม่ใช่ข้อที่จำเลยที่ 5 ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 สำหรับจำเลยที่ 2 ก็ถูกฟ้องเฉพาะสำนวนแรกและสำนวนที่สองซึ่งไม่มีประเด็นเรื่องการสมรสเป็นโมฆะ ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิฎีกาว่าการสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 เป็นโมฆะเช่นกัน เพราะเป็นข้อที่จำเลยที่ 2 มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาในประเด็นนี้ของจำเลยที่ 2 และที่ 5 คงวินิจฉัยเฉพาะฎีกาของจำเลยที่ 1 เท่านั้น ซึ่งศาลฎีกาพิเคราะห์พยานหลักฐานในสำนวนแล้ว เห็นว่า สำเนาทะเบียนสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับนางบุญมี เป็นเอกสารมหาชนที่มีเจ้าหน้าที่รับรองความถูกต้องซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 ในสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง เป็นหน้าที่ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่ถูกอ้างเอกสารนั้นมายันต้องนำสืบความไม่บริสุทธิ์หรือความไม่ถูกต้องแห่งเอกสาร แต่จำเลยที่ 1 มีเพียงจำเลยที่ 2 บุตรของจำเลยที่ 1 ที่เกิดกับจำเลยที่ 5 เบิกความลอย ๆ ว่า สำเนาทะเบียนสมรส ไม่มีอยู่จริง และพยานไม่เคยตรวจสอบสำเนาเอกสารดังกล่าวว่าเป็นเอกสารที่แท้จริงหรือไม่ ส่วนตัวจำเลยที่ 1 นอกจากไม่ปฏิเสธให้ชัดแจ้งว่าไม่มีทะเบียนสมรสต้นฉบับตามที่ปรากฏเป็นสำเนาทะเบียนสมรสแล้วตามคำคัดค้าน ที่จำเลยที่ 1 คัดค้านในคดีที่โจทก์ขอเป็นผู้จัดการมรดกของนางบุญมีว่าโจทก์ไม่สมควรเป็นผู้จัดการมรดก จำเลยที่ 1 ก็ยอมรับว่านางบุญมีเป็นภริยาของจำเลยที่ 1 ข้อนำสืบของจำเลยที่ 1 จึงไม่อาจหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่า สำเนาทะเบียนสมรสดังกล่าวเป็นเอกสารที่ถูกต้องแท้จริงได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสกับจำเลยที่ 5 ในขณะที่จำเลยที่ 1 มีนางบุญมีเป็นคู่สมรสแล้ว การสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 จึงเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1497 ประกอบมาตรา 1452 ซึ่งศาลมีอำนาจพิพากษาได้ แม้ศาลชั้นต้นจะไม่ได้กล่าวไว้ในประเด็นว่า การสมรสดังกล่าวเป็นโมฆะหรือไม่ก็ตาม เพราะเมื่อศาลเห็นว่าจำเลยที่ 1 กับนางบุญมีจดทะเบียนสมรสกันโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ย่อมวินิจฉัยต่อไปได้ว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 ในภายหลังเป็นโมฆะ ที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่าการสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 เป็นโมฆะนั้น จึงเป็นการวินิจฉัยที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นข้อพิพาท ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นดังที่จำเลยที่ 1 ฎีกา
ปัญหาข้อต่อไปตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 มีว่า ที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเป็นสินสมรสของจำเลยที่ 1 กับนางบุญมีหรือเป็นสินสมรสของจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 เห็นว่า โฉนดที่ดินเป็นเอกสารมหาชนที่รัฐออกให้แก่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ ย่อมสันนิษฐานได้ว่าที่ดินพิพาททั้งสามแปลงดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 การที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ให้การว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของจำเลยที่ 1 แต่เป็นของจำเลยที่ 5 ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 ไว้แทน จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ต้องมีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว แต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 มีเพียงจำเลยที่ 2 เบิกความว่า ที่ดินพิพาททั้งสามแปลง จำเลยที่ 1 และที่ 5 ซื้อมาด้วยทรัพย์สินส่วนตัวของตนเองเท่านั้น ส่วนจำเลยที่ 5 ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้เสียในที่ดินพิพาทโดยตรงกลับไม่มาเบิกความให้เห็นว่าที่ดินพิพาททั้งสามแปลงเป็นของตน เมื่อการสมรสระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 เป็นโมฆะแล้ว ก็ต้องฟังว่าที่ดินพิพาททั้งสามแปลงซึ่งมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และได้มาหลังจากจำเลยที่ 1 สมรสกับนางบุญมีแล้ว เป็นสินสมรสของจำเลยที่ 1 กับนางบุญมี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474 (1)
ปัญหาสำคัญมีว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาททั้งสามแปลงตามฟ้องหรือไม่ โจทก์เบิกความว่า นางบุญมีมารดาตกลงยินยอมให้ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินแทนเพื่อความคล่องตัวในการดำเนินธุรกิจการค้า และเบิกความตอบทนายจำเลยที่ 3 และที่ 4 ถามค้านว่า การโอนที่ดินพิพาทหรือที่ดินแปลงอื่น จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการแต่ผู้เดียวไม่ว่าจะซื้อมาหรือขายไปหรือโอนด้วยวิธีใด ๆ ก็ตาม นางบุญมีไม่เคยให้ความยินยอมแต่อย่างใด นายจรูญ พยานโจทก์ซึ่งเป็นบุตรคนหนึ่งของนางบุญมีกับจำเลยที่ 1 ก็เบิกความตอบทนายจำเลยที่ 7 ถามค้านว่า พยานเคยติดตามจำเลยที่ 1 ไปบ่อยครั้ง แต่ก็ไม่เคยเห็นนางบุญมีได้ให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรในการที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 นำสืบว่า ที่ดินที่จำเลยที่ 1 ซื้อมาจะใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ซึ่งนางบุญมีก็ทราบดีและไม่เข้ามาเกี่ยวข้อง จำเลยที่ 1 เคยยกที่ดินให้แก่บุตรเนื่องในโอกาสสำคัญหลายคน เช่น โจทก์แต่งงาน จำเลยที่ 1 ซื้อบ้านและที่ดินให้ นางสาวกวีอร พยานจำเลยซึ่งเป็นผู้ดูแลทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 เบิกความตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า การแบ่งทรัพย์สินหรือโอนที่ดินให้แก่บุตร จำเลยที่ 1 ไม่เคยขออนุญาตจากนางบุญมี เห็นว่า การที่นางบุญมียินยอมให้ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินอันเป็นสินสมรสทุกแปลงย่อมแสดงให้เห็นว่านางบุญมีมอบให้จำเลยที่ 1 มีอำนาจในการจัดการสินสมรสโดยเฉพาะที่ดินได้โดยลำพัง ไม่จำต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากนางบุญมีอีก ดังจะเห็นจากสำเนาโฉนดที่ดิน จำเลยที่ 1 เคยยกที่ดินให้แก่นายจรูญ นางสาวกาญจนา นางสาวนิตยา และนางสาวกวีอร บุตรที่เกิดทั้งจากนางบุญมีและนางสุวิมล และเคยซื้อบ้านและที่ดินให้แก่โจทก์ก็ไม่ปรากฏว่านางบุญมีโต้แย้งคัดค้านการจัดการสินสมรสของจำเลยที่ 1 เช่นเดียวกับที่ดินพิพาททั้งสามแปลง จำเลยที่ 1 โอนให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 5 ไปโดยลำพังในระหว่างที่นางบุญมียังมีชีวิตอยู่ น่าเชื่อว่านางบุญมียินยอมในการจัดการสินสมรสของจำเลยที่ 1 แล้วจึงไม่ได้โต้แย้งคัดค้านจนกระทั่งถึงแก่ความตายไปนานกว่า 13 ปี สำหรับการโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 12348 และนานกว่า 4 ปี สำหรับการโอนที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 27458 และ 6999 พฤติการณ์ดังกล่าวของนางบุญมีจึงเป็นการให้ความยินยอมในจัดการสินสมรสที่ดินพิพาทของจำเลยที่ 1 ไว้ล่วงหน้าโดยปริยายแล้ว ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาททั้งสามแปลงซึ่งเป็นสินสมรสให้แก่จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 5 โดยปราศจากความยินยอมของนางบุญมีดังที่โจทก์กล่าวอ้างในคำฟ้อง โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินพิพาททั้งสามแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 ดำเนินการเกี่ยวกับที่ดินพิพาทแก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยข้อฎีกาอื่น ๆ ของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 5 อีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำขอเพิกถอนนิติกรรมการโอนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 27458 ตำบลในเมือง (ปรุใหญ่) อำเภอเมืองนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2549 นิติกรรมการโอนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 6999 ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2549 และนิติกรรมการจดทะเบียนใส่ชื่อจำเลยที่ 5 และนิติกรรมการโอนขายที่ดินเฉพาะส่วนระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 5 ในที่ดินโฉนดเลขที่ 12348 ตำบลท้ายบ้าน อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2540 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาทั้งสามสำนวนให้เป็นพับ

Share