คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3480/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 3 ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่งรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุ จึงต้องใช้รถสำหรับทำการขนส่งเพื่อการค้าหรือธุรกิจของจำเลยที่ 3 เท่านั้น เพราะเป็นสิทธิเฉพาะตัว ดังนั้นแม้จำเลยที่ 3 จะได้โอนสิทธิการเช่าซื้อรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุให้จำเลยที่ 2 ไปแล้ว ก็เป็นเรื่องกรรมสิทธิ์ของรถเมื่อจำเลยที่ 3 ไม่ได้บอกเลิกประกอบการขนส่ง แต่กลับยินยอมให้จำเลยที่ 2 นำรถไปประกอบการขนส่งตามใบอนุญาตให้ประกอบการขนส่งของจำเลยที่ 3 ได้อีกต่อไป พฤติการณ์ดังกล่าวถือได้ว่าจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันประกอบการขนส่ง และถือว่าจำเลยที่ 1 ผู้ขับรถซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ด้วย จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในทางการที่จ้าง.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ได้ขับรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ไปในทางการที่จ้าง โดยประมาท เฉี่ยวชนรถยนต์บรรทุกคันอื่นจนรถยนต์บรรทุกคันนั้นเสียหลักแฉลบพุ่งเข้าชนราวสะพานของโจทก์เสียหาย ขอให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหาย
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ ๓ ให้การว่า ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ ๓ ไม่ได้เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุ เพราะได้ขายและโอนสิทธิครองครองให้จำเลยที่ ๒ ไปแล้ว จำเลยที่ ๑ ไม่ใช่ลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ และไม่ได้ขับรถในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๓ ทั้งจำเลยที่ ๑ ไม่ได้เป็นฝ่ายขับรถประมาทด้วย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระค่าเสียหาย
จำเลยที่ ๓ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องทั้งหมด
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ ๑ ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุโดยประมาทแซงเบียดกระแทกชนรถคันที่ถูกแซงไปชนราวสะพานของโจทก์เสียหายตามฟ้อง โดยจำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๒ และขับรถไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ ๒ ด้วย
ข้อที่จะวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยที่ ๓ จะต้องร่วมรับผิดด้วยหรือไม่ ได้ความจากนายสุรศักดิ์ บุรภัทร์ นายช่างตรวจสภาพรถประจำสำนักงานขนส่งจังหวัดขอนแก่นเบิกความว่า จำเลยที่ ๓ ได้ยื่นคำขอประกอบการขนส่งรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุหมายเลขทะเบียน ๘๐ – ๓๒๑๑ ขอนแก่น ที่เช่าซื้อมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัดชีวินยนต์ ตั้งแต่วันที่ ๒๕ ธันวาคม ๒๕๒๓ ซึ่งหากไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบการขนส่ง ก็จะนำรถออกประกอบการขนส่งไม่ได้ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.๔, จ.๕, จ.๗ และ จ.๘ และจำเลยที่ ๓ ต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ.๒๕๒๒ กฎกระทรวง เงื่อนไข ประกาศ คำสั่ง และระเบียบตามที่ใบอนุญาตประกอบการขนส่งได้ระบุไว้ โดยเฉพาะตามเอกสารหมาย จ.๔ ข้อ ๘ ระบุไว้ชัดแจ้งว่าผู้ขอจะใช้รถสำหรับทำการขนส่งเพื่อการค้าหรือธุรกิจของผู้ขอเท่านั้น จะไม่นำรถหรือยินยอมให้บุคคลอื่นนำรถไปทำการรับจ้างขนส่งสินค้าหรือบุคคลแต่ประการใด แม้จำเลยที่ ๓ ได้โอนสิทธิการเช่าซื้อรถดังกล่าวให้จำเลยที่ ๒ ไปแล้ว ก็เป็นเรื่องกรรมสิทธิ์ของรถเท่านั้น จำเลยที่ ๓ หาได้บอกเลิกการประกอบการขนส่งที่เป็นสิทธิเฉพาะตัวของจำเลยที่ ๓ แก่ทางราชการไม่ กลับยินยอมให้จำเลยที่ ๒ นำรถยนต์ไปประกอบการขนส่งในชื่อจำเลยที่ ๓ ได้อีกต่อไป พฤติการณ์ดังกล่าวถือว่าจำเลยที่ ๓ และที่ ๒ ร่วมกันประกอบการขนส่งและถือว่าจำเลยที่ ๑ เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ ๓ ที่ปฏิบัติการไปในทางที่จ้างของจำเลยที่ ๓ ด้วย จำเลยที่ ๓ จึงต้องร่วมรับผิดในผลแห่งการละเมิดกับจำเลยที่ ๑ เช่นเดียวกัน
พิพากษากลับ ให้บังคับตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น

Share