คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1685/2500

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์กล่าวว่าจำเลยกับพวกได้สมคบกันมีอาวุธปืนและไม้ฆ้อนเป็นศาสตราวุธตียิงทำร้ายร่างกายนายกุ่นและนายมาเป็นบาดแผลถึงบาดเจ็บสาหัส ทั้งนี้โดยจำเลยประสงค์จะเอาทรัพย์แล้วจำเลยกับพวกได้ปล้นเอาทรัพย์ของนายกุ่นนายมาไป ฯลฯนายกุ่นได้ถึงแก่ความตายโดยพิษบาดแผลที่ถูกทำร้าย ฯลฯดังนี้เห็นได้ชัดว่าฟ้องโจทก์บรรยายถึงแต่เรื่องปล้นทรัพย์และเจ้าทรัพย์ถูกทำร้ายมีบาดเจ็บสาหัสและถึงตาย มิได้ระบุว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าเจ้าทรัพย์เลย จะอ้างว่าโจทก์ได้ใส่หัวเรื่องในข้อหาฐานความผิดว่าสมคบกันทำการปล้นทรัพย์และฆ่าคนตายโดยเจตนามาประกอบฟ้องให้เข้าเกณฑ์ความผิดตามมาตรา 250 ก็ไม่ได้ เพราะหัวเรื่องนั้นไม่เรียกว่าบรรยายฟ้อง ดังนี้แม้โจทก์จะอ้างบทมาตรา 250 มาด้วยก็ดี ก็ลงโทษจำเลยตาม มาตรา 250 ไม่ได้ เพราะจำเลยเข้าใจข้อหาแต่เพียงว่าการปล้นทรัพย์ของจำเลยได้ทำให้เจ้าทรัพย์มีบาดเจ็บสาหัส
เมื่อไม่ปรากฏในสำนวนเลยว่าจำเลยเป็นคนคนเดียวกับในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ทั้งไม่ปรากฏว่าได้ต้องโทษอยู่ในคดีดังกล่าว และจำเลยก็มิได้ให้การรับ ดังนี้จึงนับโทษต่อให้ไม่ได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกับพวกที่หลบหนีมีอาวุธปืนและไม้ฆ้อนเป็นอาวุธ สมคบกันทำการปล้นทรัพย์นายกุ่นและนายมา โดยใช้ไม้ตีและใช้ปืนยิงนายกุ่น นายมา กระสุนปืนถูกนายกุ่นและนายมาเป็นบาดเจ็บสาหัสโดยจำเลยประสงค์จะเอาทรัพย์ แล้วปล้นเอาทรัพย์ของเจ้าทรัพย์ทั้ง 2 ไป นายกุ่นได้ถึงแก่ความตายโดยพิษบาดแผลที่ถูกทำร้ายในเวลานั้นเอง ขอให้ลงโทษตามมาตรา 249, 250, 301, 63 ฯลฯ

จำเลยที่ 5 เป็นบุคคลคนเดียวกันกับจำเลยที่ 2 ในคดีดำที่ 1489/2497 และคดีดำที่ 1488/2497 ของศาลชั้นต้น ขอให้นับโทษต่อด้วย

จำเลยทุกคนให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยทุกคนมีความผิดตาม กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 250, 301, 63 และแก้ไข มาตรา 7 ฯลฯ ให้นับโทษ จำเลยที่ 5 ต่อคดีดำที่ 1498/2497 คดีแดงที่ 1133/2498

จำเลยทุกคนอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยทุกคนมีความผิดตาม กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 301 วรรคสุดท้ายประกอบด้วย มาตรา 63 ฯลฯ และไม่ให้นับโทษจำเลยที่ 5 ต่อจากคดีที่โจทก์ขอ ฯลฯ

โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยตาม กฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 250 และนับโทษจำเลยที่ 5 ต่อโทษคดีอาญาแดงที่ 1133/2498 คดีอาญาดำที่1489/2497

ศาลฎีกาเห็นว่าการฟ้องคดีอาญานั้น ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) กำหนดว่า “โจทก์จะต้องบรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี” คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องมีใจความว่าจำเลยกับพวกได้สมคบกันมีอาวุธปืนและไม้ฆ้อนเป็นสาตราวุธ ตี ยิงทำร้ายร่างกายนายกุ่นและนายมาเป็นบาดแผลถึงบาดเจ็บสาหัส ทั้งนี้โดยจำเลยประสงค์จะเอาทรัพย์แล้วจำเลยกับพวกได้ปล้นเอาทรัพย์ของนายกุ่น นายมาไป ฯลฯ นายกุ่นได้ถึงแก่ความตายโดยพิษบาดแผลที่ถูกทำร้าย ฯลฯ ดังนี้จะเห็นได้ชัดว่า ฟ้องโจทก์บรรยายถึงแต่เรื่องปล้นทรัพย์และเจ้าทรัพย์ถูกทำร้ายมีบาดเจ็บสาหัสและถึงตาย มิได้ระบุว่าจำเลยมีเจตนาฆ่าเจ้าทรัพย์เลย โจทก์คัดค้านว่าโจทก์ได้ใส่หัวเรื่องในข้อหาฐานความผิดว่าสมคบกันทำการปล้นทรัพย์และฆ่าคนตายโดยเจตนานั้น ไม่เรียกว่าบรรยายคำฟ้อง เมื่อไม่มีคำฟ้องบรรยายโดยชัดแจ้งเช่นนี้ แม้โจทก์จะอ้างบทมาตรา 250 มาก็ดี แสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้ศาลลงโทษในฐานอันเป็นอุกฤตโทษ จำเลยเข้าใจข้อหาแต่เพียงว่า การปล้นทรัพย์ของจำเลยได้ทำให้เจ้าทรัพย์มีบาดเจ็บสาหัส

อนึ่ง ไม่ปรากฏในสำนวนเลยว่า จำเลยเป็นคน ๆ เดียวกับในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ ทั้งไม่ปรากฏว่าได้ต้องโทษอยู่ในคดีดังกล่าวและจำเลยก็มิได้ให้การรับ จึงนับโทษต่อให้ไม่ได้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 611/2493

พิพากษายืน

Share