คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6-10/2529

แหล่งที่มา : ADMIN

ย่อสั้น

โรงงานยาสูบกระทรวงการคลังมิใช่กรมหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งมีฐานะเป็นกรมในสังกัดของกระทรวงการคลังดังนั้นโรงงานยาสูบจึงมิใช่ราชการส่วนกลางหาได้รับยกเว้นมิให้ใช้ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่16เมษายน2515ข้อ1(1)บังคับไม่ การที่ระเบียบโรงงานยาสูบว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานพนักงานยาสูบพ.ศ.2518และที่แก้ไขเพิ่มเติมพ.ศ.2520กำหนดไว้ว่าพนักงานยาสูบคนใดมีอายุครบ60ปีบริบูรณ์แล้วถือว่าครบเกษียณอายุและพ้นจากตำแหน่งหน้าที่เมื่อสิ้นปีงบประมาณของปีที่พนักงานผู้นั้นมีอายุครบ60ปีบริบูรณ์ระเบียบดังกล่าวนี้ออกมาภายหลังที่พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจพ.ศ.2518มีผลบังคับแล้วระเบียบนี้จึงได้ออกมาอนุวัตตามเป็นการกำหนดคุณสมบัติโดยแท้ มิใช่กรณีที่นายจ้างต้องผูกพันจ้างลูกจ้างจนมีอายุครบ60ปีนายจ้างจะเลิกจ้างเมื่อใดก็ได้จึงมิใช่การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน ค่าชดเชยเป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานซึ่งต่างประเภทกับเงินบำเหน็จที่นายจ้างต้องจ่ายให้ลูกจ้างตามระเบียบการจ่ายบำเหน็จของโรงงานยาสูบฉะนั้นเงินบำเหน็จที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างไปแล้วตามระเบียบดังกล่าวจึงมิใช่ค่าชดเชย

ย่อยาว

โจทก์ทั้งห้าสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งห้าพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งห้าสำนวนให้การปฏิเสธขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโรงงานยาสูบกระทรวงการคลังมิใช่ราชการส่วนกลางหาได้รับการยกเว้นมิให้ใช้ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานบังคับไม่การที่โจทก์ทั้งห้าออกจากงานเพราะเหตุเกษียณอายุถือไม่ได้ว่าเป็นการเลิกจ้างลูกจ้างประจำที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนบำเหน็จที่จำเลยจ่ายให้แล้วเป็นเงินประเภทอื่นมิใช่ค่าชดเชยจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งห้านับแต่วันเลิกจ้างเมื่อไม่จ่ายจึงตกเป็นผู้ผิดนัดต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี
จำเลยทั้งห้าสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่าโรงงานยาสูบมิใช่กรมหรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นซึ่งมีฐานะเป็นกรมในสังกัดของกระทรวงการคลังดังนั้นโรงงานยาสูบกระทรวงการคลังจึงมิใช่ราชการส่วนกลางหาได้รับการยกเว้นมิให้ใช้ประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่16เมษายน2515บังคับไม่
การที่ระเบียบโรงงานยาสูบกระทรวงการคลังว่าด้วยคุณสมบัติมาตรฐานพนักงานยาสูบพ.ศ.2518ข้อ4(2)กำหนดคุณสมบัติพนักงานไว้ว่ามีอายุไม่เกิน60ปีบริบูรณ์และตามข้อ5ที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่2)พ.ศ.2520ข้อ2ซึ่งกำหนดว่าพนักงานยาสูบคนใดมีอายุครบ60ปีบริบูรณ์แล้วถือว่าครบเกษียณอายุและพ้นจากตำแหน่งหน้าที่เมื่อสิ้นปีงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณของปีที่พนักงานผู้นั้นมีอายุครบ60ปีบริบูรณ์ระเบียบดังกล่าวนี้ได้ออกมาภายหลังที่พระราชบัญญัติคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจพ.ศ.2518มีผลบังคับแล้วระเบียบนี้จึงได้ออกมาเพื่ออนุวัตตามพระราชบัญญัติดังกล่าวซึ่งเป็นการกำหนดคุณสมบัติโดยแท้กรณีหาใช่ว่าจำเลยต้องถูกผูกพันที่จะต้องจ้างโจทก์ทั้งห้าจนมีอายุครบ60ปีบริบูรณ์ไม่จำเลยจะเลิกจ้างเมื่อใดก็ได้ก่อนโจทก์ทั้งห้ามีอายุครบ60ปีบริบูรณ์ดังนั้นการจ้างระหว่างจำเลยกับโจทก์ทั้งห้าจึงมิใช่การจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน
ค่าชดเชยเป็นเงินที่จำเลยต้องจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งห้าตามประกาศกระทรวงมหาดไทยเรื่องการคุ้มครองแรงงานซึ่งเป็นเงินต่างประเภทกับเงินบำเหน็จที่จำเลยต้องจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งห้าตามระเบียบการจ่ายบำเหน็จแก่พนักงานยาสูบพ.ศ.2500ลงวันที่11มีนาคม2500กับระเบียบการจ่ายบำเหน็จแก่พนักงานยาสูบ(ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่1)ลงวันที่8พฤศจิกายน2510และระเบียบโรงงานยาสูบกระทรวงการคลังพ.ศ.2500(ฉบับที่2)พ.ศ.2522ลงวันที่20สิงหาคม2522ดังนั้นเงินบำเหน็จที่จำเลยจ่ายไปแล้วตามระเบียบดังกล่าวจึงถือไม่ได้ว่าเป็นค่าชดเชยจำเลยจึงต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ทั้งห้าอีกเนื่องจากค่าชดเชยเป็นเงินที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างเมื่อจำเลยไม่จ่ายจึงตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันเลิกจ้างต้องรับผิดชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ทั้งห้า
พิพากษายืน

Share