แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คำฟ้องของโจทก์ได้แสดงสภาพแห่งข้อหาว่า จำเลยออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 10) และคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.85/2542 โดยไม่มีอำนาจนำราคาขายยาสูบสูงสุดที่กำหนดโดยอธิบดีกรมสรรพสามิตตามมาตรา 23 แห่ง พ.ร.บ.ยาสูบ พ.ศ.2509 มาใช้เป็นฐานภาษีเพื่อเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเหตุให้โจทก์รับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับบุหรี่ซิกาแรตที่โจทก์นำเข้าและจำหน่ายเพิ่มขึ้น และตั้งแต่มีประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดราคายาสูบที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2549 โดยอาศัยความตามมาตรา 23 ดังกล่าว เมื่อระหว่างวันที่ 18 กันยายน 2549 ถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2549 โจทก์ต้องรับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มในจำนวนที่เพิ่มขึ้นแล้วเป็นเงิน 78,880,000 บาท โจทก์กำลังเตรียมยื่นคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยอ้างว่า ฐานภาษีมูลค่าเพิ่มต้องคำนวณโดยอ้างอิงจากจำนวนเต็มของราคาขายปลีกตามประมวลรัษฎากร มาตรา 79/5 (2) พอถือได้ว่าโจทก์มุ่งประสงค์ที่จะขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ชำระไปแล้ว อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการขอคืนค่าภาษีอากรตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 (3) แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ซึ่งมาตรา 9 ระบุเงื่อนไขให้ต้องขอคืนภาษีอากรตามหลักเกณฑ์วิธีการและระยะเวลาที่กำหนดไว้ จึงจะดำเนินการในศาลภาษีอากรได้ เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยังไม่ได้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติหมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วน 8 เครดิตภาษีและการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม มาตรา 84/1 และ 84/2 แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทสำนักงานสาขาของสหรัฐอเมริกา ซึ่งจดทะเบียนจัดตั้ง ณ รัฐเดลาแวร์ ประเทศสหรัฐอเมริกา โจทก์ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจนำเข้าและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบรวมทั้งบุหรี่ยี่ห้อมาร์ลโบโร และยี่ห้อ แอล แอนด์ เอ็ม ในประเทศไทย โดยโจทก์ประกอบธุรกิจภายใต้ความคุ้มครองตามสนธิสัญญาทางไมตรีและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสหรัฐอเมริกา พ.ศ.2511 จำเลยเป็นกรม สังกัดกระทรวงการคลัง มีอำนาจหน้าที่จัดเก็บภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร จำเลยกระทำการเกินขอบอำนาจของตน โดยการนำราคาขายยาสูบสูงสุดที่อธิบดีกรมสรรพสามิตกำหนดตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาใช้เป็นฐานภาษีเพื่อเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มอย่างไม่ถูกต้อง ขอให้มีคำสั่งว่า การที่จำเลยกำหนดฐานภาษีมูลค่าเพิ่มจากราคาตามประกาศราคาขายยาสูบสูงสุดของกรมสรรพสามิตนั้นเป็นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกินกว่ากฎหมายกำหนดไว้ และให้จำเลยคำนวณฐานภาษีมูลค่าเพิ่มจากราคาขายปลีกที่แท้จริง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า คดีนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ได้แสดงสภาพแห่งข้อหาว่า จำเลยออกประกาศอธิบดีกรมสรรพกรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 10) และคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.85/2542 โดยไม่มีอำนาจนำราคาขายยาสูบสูงสุดที่กำหนดโดยอธิบดีกรมสรรพสามิต ตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 มาใช้เป็นฐานภาษีเพื่อวัตถุประสงค์ในการเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม อันเป็นการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดจากผลที่จำเลยกระทำโดยไม่มีอำนาจดังกล่าว เป็นเหตุให้โจทก์ต้องรับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับบุหรี่ซิกาแรตในปัจจุบันเพิ่มขึ้น เป็นจำนวนปีละประมาณ 309,000,000 บาท และตั้งแต่มีประกาศกรมสรรพสามิต เรื่อง กำหนดราคายาสูบที่นำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2549 โดยอาศัยความตามมาตรา 23 แห่งพระราชบัญญัติยาสูบ พ.ศ.2509 บังคับใช้แล้วนั้น เมื่อระหว่างวันที่ 18 กันยายน 2549 จนถึงวันที่ 20 ธันวาคม 2549 โจทก์ต้องรับภาระภาษีมูลค่าเพิ่มในจำนวนที่เพิ่มขึ้นแล้วเป็นเงิน 78,880,000 บาท โจทก์กำลังเตรียมยื่นคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยอ้างอิงถ้อยคำที่ถูกต้องของบทบัญญัติมาตรา 79/5 แห่งประมวลรัษฎากร กล่าวคือ คำนวณฐานภาษีมูลค่าเพิ่มโดยอ้างอิงจากจำนวนเต็มของราคาขายปลีก คำฟ้องของโจทก์เช่นนี้พอถือได้ว่าโจทก์มุ่งประสงค์ที่จะขอคืนเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่โจทก์ชำระไปแล้ว อันเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการขอคืนค่าภาษีอากรตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 (3) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 ซึ่งมาตรา 9 ระบุเงื่อนไขว่า คดีตามมาตรา 7 (3) ในกรณีที่กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรบัญญัติให้ขอคืนค่าภาษีอากรตามหลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาที่กำหนดไว้ จะดำเนินการในศาลภาษีอากรได้ต่อเมื่อมีการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและระยะเวลาเช่นว่านั้น เมื่อปรากฏว่าโจทก์ยังไม่ได้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในบทบัญญัติหมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม ส่วน 8 เครดิตภาษีและการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม มาตรา 84/1 และ 84/2 แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้องโดยมิได้สั่งในเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมนั้นไม่ถูกต้อง เห็นสมควรแก้ไขเสียให้ถูกต้อง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
??
??
??
??
2/2