คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3209/2552

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

บริษัท ป. ประกอบกิจการสายการเดินเรือรับส่งสินค้าโดยมีโจทก์เป็นตัวแทน โจทก์ออกใบตราส่ง ใบเสร็จรับเงินค่าระวางขนส่ง ค่าภาระหน้าท่า และค่าธรรมเนียมการออกใบตราส่งแทนบริษัท ป. ดังนั้นบริษัท ป. จึงเป็นคู่สัญญากับผู้ส่งสินค้าในสัญญารับขนของทางทะเลและเป็นผู้ขนส่งสินค้าที่แท้จริง เมื่อโจทก์เป็นเพียงตัวแทนของสายการเดินเรือของบริษัทดังกล่าว โดยบริษัทดังกล่าวไม่ได้มอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดี ทั้งไม่ใช่กรณีที่โจทก์อาจรับช่วงสิทธิได้ตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินค่าเสียหาย จำนวน 32,858.15 ดอลลาร์สหรัฐ และจำนวน 1,303,980 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 32,258.15 ดอลลาร์สหรัฐ และจำนวน 1,303,980 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์และจำเลยทั้งสองไม่โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติได้ว่า เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2543 จำเลยที่ 1 ได้ติดต่อจองเรือจากโจทก์ เพื่อขนส่งสินค้าจำพวกเศษโลหะผสม น้ำหนักประมาณ 100,000 กิโลกรัม ด้วยเงื่อนไขการขนส่งแบบซีวาย/ซีวาย จากท่าเรือกรุงเทพไปยังท่าเรือนิวหวางผู่ ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ต่อมาโจทก์ติดต่อให้จำเลยที่ 1 ไปรับตู้สินค้าจำนวน 5 ตู้ จำเลยที่ 1 จึงติดต่อให้จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ส่งสินค้าไปรับตู้สินค้าดังกล่าว จำเลยที่ 2 นำสินค้าไปบรรจุที่โรงงานของจำเลยที่ 2 โดยมีเจ้าหน้าที่ศุลกากรควบคุมการบรรจุ จากนั้นบริษัทแปซิฟิค อินเตอร์เนชั่นแนล ไลน์ส (พีทีอี) จำกัด โดยโจทก์ซึ่งเป็นตัวแทนได้ออกใบตราส่งให้จำเลยที่ 1 เรือได้ขนส่งสินค้าถึงท่าเรือปลายทางเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2543 ต่อมาเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2543 จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งแก่โจทก์เพื่อขอเปลี่ยนชื่อผู้รับตราส่งจากบริษัทแอนเดอสัน โกลบอล โลจีสติคส์ จำกัด เป็นบริษัทวูเชียน อิมพอร์ต แอนด์ เอ็กพอร์ตเทรด จำกัด และให้ระบุชื่อผู้รับแจ้ง คือบริษัทแอนเดอสัน โกลบอล โลจีสติคส์ และในวันที่ 27 พฤศจิกายน 2543 จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงโจทก์ให้เปลี่ยนท่าเรือไปยังท่าเรือกวาง เบาทอง และต่อมาจำเลยที่ 1 มีหนังสือฉบับลงวันที่ 18 ธันวาคม 2543 แจ้งให้โจทก์เปลี่ยนชื่อผู้รับตราส่งใหม่เป็น บริษัทลอคแมนชิปปิ้ง จำกัด และให้ส่งตู้สินค้าไปที่ท่าเรือฮ่องกง แต่โจทก์ไม่สามารถดำเนินการให้ได้ ในวันที่ 20 มีนาคม 2544 จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงโจทก์แจ้งว่า ลูกค้าปลายทางไม่สามารถเคลียร์สินค้าได้ จำเลยที่ 2 และบริษัทดังกล่าวจึงขอยกเลิกสินค้าพิพาท โดยไม่ขอรับสินค้ากลับและอนุญาตให้นำสินค้าไปขายทอดตลาดได้โดยไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ส่วนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างดำเนินการจำเลยที่ 2 จะเป็นผู้รับผิดชอบ ในวันเดียวกัน จำเลยที่ 2 มีหนังสือแจ้งแก่โจทก์ว่า จำเลยที่ 2 ขอยกเลิกสินค้าพิพาทและให้สินค้าตกเป็นของแผ่นดินส่วนค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น จำเลยที่ 2 จะเป็นผู้รับผิดชอบ ต่อมาเจ้าหน้าที่ศุลกากรของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนตรวจพบว่า สินค้าในตู้สินค้าเป็นสินค้าต้องห้ามนำเข้าจึงลงโทษปรับบริษัทไท่ผิงการเดินเรือ (ประเทศจีน) จำกัด และให้ขนส่งสินค้ากลับไป โดยปรับบริษัทดังกล่าวเป็นเงิน 100,000 หยวน บริษัทแปซิฟิค อินเตอร์เนชั่นแนล ไลน์ส (พีทีอี) จำกัด จึงขนส่งสินค้ากลับประเทศไทย และเมื่อเรือขนส่งสินค้าถึงประเทศไทย โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองไปรับสินค้าและดำเนินพิธีการศุลกากรขาเข้าแล้ว แต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ในข้อแรกว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ประกอบธุรกิจเป็นตัวแทนของสายการเดินเรือรับส่งสินค้าหลายบริษัทรวมทั้งบริษัทแปซิฟิค อินเตอร์เนชั่นแนล ไลนส์ (พีทีอี) จำกัด จำเลยที่ 1 ได้จองตู้สินค้าจากโจทก์ซึ่งเป็นตัวแทนสายการเดินเรือรับขนส่งสินค้า จากนั้นโจทก์แจ้งให้จำเลยที่ 1 ไปรับตู้สินค้าเสร็จแล้วนำไปมอบให้แก่บริษัทแปซิฟิค อินเตอร์ เนชั่นแนล ไลน์ส (พีทีซี) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสายการเดินเรือที่รับขนส่งสินค้าครั้งนี้ ต่อมาโจทก์ได้มอบสำเนาใบตราส่งให้แก่จำเลยที่ 1 โดยตามใบตราส่งดังกล่าวก็ระบุไว้ชัดว่า โจทก์ออกใบตราส่งแทนบริษัทแปซิฟิค อินเตอร์เนชั่นแนล ไลน์ส (พีทีอี) จำกัด ผู้ขนส่ง ประกอบกับยังได้ความตามถ้อยคำของพยานจำเลยที่ 1 ทั้งสองคนดังกล่าวว่า ต่อมาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2543 ได้มีการชำระค่าระวางขนส่ง ค่าภาระหน้าท่า และค่าธรรมเนียมการออกใบตราส่งให้แก่โจทก์ ฝ่ายโจทก์ได้มอบใบเสร็จรับเงินให้ ปรากฏว่าหลักฐานการรับเงินค่าระวางขนส่งและค่าภาระหน้าท่าดังกล่าว โจทก์ได้ออกใบเสร็จรับเงินแทนบริษัทสายการเดินเรือ ส่วนแผ่นที่ 3 ซึ่งเป็นหลักฐานการรับเงิน ค่าธรรมเนียมการออกใบตราส่ง โจทก์ออกใบเสร็จรับเงินในนามของตนเอง ดังนี้ บริษัทแปซิฟิค อินเตอร์เนชั่นแนล ไลนส์ (พีทีอี) จำกัด เป็นผู้รับชำระค่าระวางการขนส่งสินค้าครั้งนี้ ยิ่งแสดงให้เห็นว่าบริษัทแปซิฟิค อินเตอร์เนชั่นแนล ไลนส์ (พีทีอี) จำกัด เป็นคู่สัญญากับผู้ส่งสินค้าในสัญญารับขนของทางทะเลครั้งนี้มิใช่โจทก์ ส่วนที่หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ติดต่อกับโจทก์นั้น จำเลยที่ 1 ก็ต่อสู้อยู่ว่า เพราะโจทก์เป็นตัวแทนของบริษัทแปซิฟิค อินเตอร์เนชั่นแนล ไลน์ส (พีทีอี) จำกัด ผู้ขนส่ง เห็นว่า พยานหลักฐานจำเลยที่ 1 มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานโจทก์ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า บริษัทแปซิฟิค อินเตอร์เนชั่นแนล ไลน์ส (พีทีอี) จำกัด เป็นผู้ขนส่งสินค้าที่แท้จริง ส่วนโจทก์เป็นเพียงตัวแทนของสายการเดินเรือของบริษัทแปซิฟิค อินเตอร์เนชั่นแนล ไลน์ส (พีทีอี) จำกัด เมื่อบริษัทแปซิฟิค อินเตอร์เนชั่นแนล ไลน์ส (พีทีอี) จำกัด ไม่ได้มอบอำนาจให้โจทก์ฟ้องคดีนี้ ทั้งกรณีเช่นนี้โจทก์ไม่อาจรับช่วงสิทธิได้ตามกฎหมาย โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสอง อุทธรณ์ของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และกรณีไม่จำต้องวินิจฉัยในอุทธรณ์ข้ออื่น ๆ ของโจทก์อีก ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ

Share