แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ป.อ. มาตรา 1 (4) “เคหสถาน” หมายความว่า ที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัย เช่น เรือน โรง เรือ หรือแพ ซึ่งคนอยู่อาศัยและให้หมายรวมถึงบริเวณของที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัย จะมีรั้วล้อมหรือไม่ก็ตาม บ้านของผู้เสียหายไม่มีรั้วล้อม กับบริเวณหลังบ้านผู้เสียหายอยู่ติดกับถนนส่วนบุคคล กรณีจะถือเอาเพียงฝาผนังและประตูเหล็กด้านหลังเป็นแนวของเคหสถานย่อมจะไม่ได้ เพราะเคหสถานตามกฎหมายให้หมายความรวมถึง บริเวณของที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยนั้นด้วย ผู้เสียหายใช้ประโยชน์บริเวณรอบบ้านเป็นที่วางสิ่งของกับมีหลังคาบ้านยื่นออกมาคลุม การที่จำเลยทั้งสองไปอยู่บริเวณประตูหลังบ้านผู้เสียหาย ย่อมถือว่าเป็นการเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายแล้ว จำเลยทั้งสองเข้าไปในขณะที่ผู้เสียหายไม่อยู่บ้าน ทั้งผู้เสียหายกับจำเลยทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน จึงยิ่งไม่มีเหตุสมควรที่จะเข้าไปอยู่บริเวณประตูหลังบ้านผู้เสียหาย พฤติการณ์ดังกล่าวฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานบุกรุกเข้าไปในเคหสถานของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควร
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 364, 365, 83
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 365 (2) ประกอบมาตรา 364, 83 จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานบุกรุกโดยร่วมกันเข้าไปในเคหสถานของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่ โจทก์มีนางสาวสุนิสาบุตรผู้เสียหายเบิกความว่า วันเกิดเหตุเวลาประมาณ 9 นาฬิกา ขณะพยานขับรถยนต์เก๋งผ่านถนนหลังบ้านผู้เสียหายเห็นชาย 2 คน ที่ประตูหลังบ้านผู้เสียหาย คนหนึ่งยืนอยู่ ส่วนอีกคนหนึ่งนั่งยอง ๆ ชายทั้งสองคนพยานรู้จักมาก่อนเคยมาก่อสร้างบ้านผู้เสียหาย คือจำเลยทั้งสอง เห็นว่า ขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางวัน พยานรู้จักกับจำเลยทั้งสองมาก่อน หลังเกิดเหตุพยานก็พาเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยทั้งสองที่บ้านโดยไม่ลังเล จึงเชื่อว่าขณะเกิดเหตุจำเลยทั้งสองได้เข้าไปอยู่ที่ข้างประตูหลังบ้านผู้เสียหายจริง ปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่าบริเวณประตูหลังบ้านผู้เสียหายจุดที่จำเลยทั้งสองยืนอยู่ถือว่าเป็นการล่วงล้ำเข้าไปในเคหสถานอันจะถือว่าเป็นการบุกรุกแล้วหรือไม่ เห็นว่า บทนิยาม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (4) “เคหสถาน” หมายความว่า ที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัย เช่น เรือน โรง เรือ หรือแพ ซึ่งคนอยู่อาศัยและให้หมายความรวมถึงบริเวณของที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัย จะมีรั้วล้อมหรือไม่ก็ตาม ดังนี้ แม้จะได้ความว่าบ้านของผู้เสียหายไม่มีรั้วล้อม กับได้ความจากคำของนางสาวสุนิสาเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า บริเวณหลังบ้านผู้เสียหายอยู่ติดกับถนนส่วนบุคคลก็ตาม กรณีจะถือเอาเพียงฝาผนังและประตูเหล็กด้านหลังเป็นแนวของเคหสถานย่อมจะไม่ได้ เพราะเคหสถานตามกฎหมายให้หมายความรวมถึง บริเวณของที่ซึ่งใช้เป็นที่อยู่อาศัยนั้นด้วย เมื่อพิจารณาตามภาพถ่าย เห็นได้ชัดว่าผู้เสียหายได้ใช้ประโยชน์บริเวณรอบบ้านเป็นที่วางสิ่งของ เครื่องใช้อยู่โดยรอบ ทางด้านหลังมีโอ่งน้ำและถ้วยชามวางอยู่ กับมีหลังคายื่นออกมาคลุม การที่จำเลยทั้งสองไปอยู่ตรงบริเวณดังกล่าวย่อมต้องถือว่าเป็นการเข้าไปในเคหสถานของผู้เสียหายแล้ว จำเลยทั้งสองเข้าไปในขณะผู้เสียหายไม่อยู่บ้าน ทั้งได้ความว่า ผู้เสียหายกับจำเลยทั้งสองมีสาเหตุโกรธเคืองกันมาก่อน เรื่องจำเลยลักลอบต่อสายไฟจากมิเตอร์บ้านของผู้เสียหาย จึงยิ่งไม่มีเหตุสมควรที่จะเข้าไปอยู่ที่บริเวณประตูหลังบ้านของผู้เสียหาย และการที่จำเลยทั้งสองนำสืบปฏิเสธว่า ไม่ได้เข้าไปในบริเวณประตูหลังบ้านของผู้เสียหาย จึงยิ่งเป็นพิรุธส่อแสดงให้เห็นถึงเจตนาอันไม่สุจริตของจำเลยทั้งสอง พฤติการณ์ของจำเลยทั้งสองดังกล่าวฟังได้ว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานบุกรุกเข้าไปในเคหสถานของผู้อื่นโดยไม่มีเหตุอันสมควรที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน