คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5995/2551

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ให้การว่า ที่ดินพิพาทที่มีชื่อของจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้ร้องไม่ได้จดทะเบียนการได้มาของผู้ร้อง จึงไม่มีกรรมสิทธิ์และผู้ร้องไม่ได้ครอบครองทรัพย์ที่ยึดโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปี จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ คำให้การดังกล่าวของโจทก์ไม่ได้ต่อสู้ว่า ผู้ร้องไม่สุจริตหรือคำพิพากษาตามยอมไม่มีผลพูกพันจำเลยที่ 2 จึงไม่มีประเด็นพิพาทในเรื่องดังกล่าว ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่ผู้ร้องทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทพร้อมตึกแถวกับจำเลยที่ 1 โดยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีกรรมสิทธิ์ จึงฟังว่าผู้ร้องไม่สุจริตหรือหากผู้ร้องไม่รู้ก็เป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ร้อง และคำพิพากษาตามยอมในคดีที่ผู้ร้องฟ้องจำเลยที่ 1 ให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาทไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทและตึกแถวพิพาทนั้น เป็นอุทธรณ์นอกเหนือประเด็นข้อพิพาทแห่งคดี ถือได้ว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 225 วรรคหนึ่ง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในการที่เชิดจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับผู้ร้อง เมื่อผู้ร้องชำระเงินครบถ้วนตามสัญญาแล้วและต่อมามีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความจนศาลพิพากษาตามยอม ที่ดินและตึกแถวพิพาทจึงตกเป็นของผู้ร้อง มิใช่ของจำเลยที่ 2 เป็นการวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวพิพาทว่าเป็นของจำเลยที่ 2 หรือไม่ อันเป็นประเด็นแห่งการร้องขัดทรัพย์ หาใช่เป็นการวินิจฉัยเกินกว่าคำร้องขัดทรัพย์ไม่

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้ารับผิดตามสัญญาบัญชีเดินสะพัด สัญญาเบิกเงินเกินบัญชี และสัญญาค้ำประกัน ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 6,711,852.55 บาท แก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดในยอดเงิน 3,600,000 บาท จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดในยอดเงิน 2,500,000 บาท จำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดในยอดเงิน 1,100,000 บาท และจำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดในยอดเงิน 600,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของยอดเงินที่จำเลยแต่ละคนจะต้องรับผิด นับแต่วันที่ 28 มิถุนายน 2533 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งห้าจะชำระแก่โจทก์เสร็จสิ้น กับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ แต่จำเลยทั้งห้าไม่ได้ปฏิบัติตามคำพิพากษาดังกล่าว โจทก์จึงขอออกหมายบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 4773 และ 4774 ตำบลบางระกำ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก พร้อมตึกแถวโดยอ้างว่าเป็นทรัพย์สินของจำเลยที่ 2 เพื่อบังคับชำระหนี้ตามคำพิพากษา
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องว่า ที่ดินโฉนดเลขที่ 4773 และ 4774 ตำบลบางระกำ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก พร้อมตึกแถวเป็นของผู้ร้อง โดยผู้ร้องซื้อมาจากจำเลยที่ 1 เมื่อปี 2529 ซึ่งขณะทำสัญญามีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ผู้ร้องชำระเงินครบถ้วนแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาไม่ยอมโอนที่ดินทั้งสองแปลงให้แก่ผู้ร้อง ผู้ร้องจึงฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลจังหวัดพิษณุโลก ต่อมาจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่ผู้ร้อง ศาลมีคำพิพากษาตามยอมแล้ว ครั้นผู้ร้องไปดำเนินการเปลี่ยนแปลงชื่อตามสารบัญจดทะเบียนในโฉนดที่ดินทั้งสองแปลง จึงทราบว่าที่ดินทั้งสองแปลงถูกเจ้าพนักงานบังคับคดีจังหวัดพิษณุโลกยึดไว้ตามคำสั่งของศาลแพ่ง โดยจะดำเนินการขายทอดตลาดในวันที่ 10 กันยายน 2542 ทั้งนี้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวมิใช่ทรัพย์ของจำเลยที่ 2 โจทก์ไม่มีสิทธิยึดเพื่อนำออกขายทอดตลาด ขอให้มีคำสั่งปล่อยทรัพย์ที่ยึด
โจทก์ให้การว่า ที่ดินและตึกแถวพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 เนื่องจากโฉนดที่ดินทั้ง 2 แปลง มีชื่อของจำเลยที่ 2 เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ เมื่อผู้ร้องมิได้จดทะเบียนการได้มาจึงไม่มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินพิพาท ผู้ร้องไม่ได้ครอบครองที่ดินและตึกแถวพิพาทดังกล่าวโดยความสงบและโดยเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี และไม่ได้โต้แย้งหรือคัดค้านกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 2 ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 4773 และ 4774 ตำบลบางระกำ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก และตึกแถวเลขที่ 6/91 และ 6/92 หมู่ที่ 7 ตำบลบางระกำ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ให้แก่ผู้ร้อง กับให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนผู้ร้อง โดยกำหนดค่าทนายความ 9,000 บาท
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกอุทธรณ์โจทก์ ให้คืนค่าธรรมเนียมศาลทั้งหมดในชั้นอุทธรณ์แก่โจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์แทนผู้ร้อง 5,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์ชอบหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์ให้การว่า ที่ดินพิพาทมีชื่อของจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ ผู้ร้องไม่ได้จดทะเบียนการได้มาเป็นของผู้ร้อง จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ และผู้ร้องไม่ได้ครอบครองทรัพย์ที่ยึดโดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของเกินกว่า 10 ปี จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์โดยการครอบครองปรปักษ์ คำให้การดังกล่าวของโจทก์ไม่ได้ต่อสู้ว่า ผู้ร้องไม่สุจริตหรือคำพิพากษาตามยอมไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 จึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทในเรื่องดังกล่าว ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การที่ผู้ร้องทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินพิพาทพร้อมตึกแถวกับจำเลยที่ 1 โดยรู้อยู่แล้วว่าจำเลยที่ 1 ไม่มีกรรมสิทธิ์ จึงฟังว่าผู้ร้องไม่สุจริต หรือหากผู้ร้องไม่รู้ก็เป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้ร้อง และคำพิพากษาตามยอมในคดีที่ผู้ร้องฟ้องจำเลยที่ 1 ให้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมตึกแถวพิพาทไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 เพราะจำเลยที่ 1 ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวพิพาทนั้น เป็นอุทธรณ์นอกเหนือประเด็นข้อพิพาทแห่งคดีถือได้ว่าเป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยจึงชอบแล้ว ที่โจทก์ฎีกาทำนองว่า ศาลชั้นต้นพิพากษาเกินคำร้องขัดทรัพย์เพราะผู้ร้องไม่ได้กล่าวไว้ในคำร้องว่าจำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนของจำเลยที่ 2 ในการทำสัญญาจะซื้อจะขายกับผู้ร้องขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 เห็นว่า ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดต่อบุคคลภายนอกในการที่เชิดจำเลยที่ 1 ทำสัญญาจะซื้อจะขายกับผู้ร้อง เมื่อผู้ร้องชำระเงินครบถ้วนตามสัญญาแล้ว และต่อมามีการทำสัญญาประนีประนอมยอมความจนศาลพิพากษาตามยอม ที่ดินและตึกแถวพิพาทจึงตกเป็นของผู้ร้อง มิใช่ของจำเลยที่ 2 เป็นการวินิจฉัยถึงกรรมสิทธิ์ในที่ดินและตึกแถวพิพาทว่าเป็นของจำเลยที่ 2 หรือไม่ อันเป็นประเด็นแห่งการร้องขัดทรัพย์ หาใช่เป็นการวินิจฉัยเกินกว่าคำร้องขัดทรัพย์ไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ยกอุทธรณ์ของโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง โจทก์ฎีกาว่าศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ไม่ชอบ ขอให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของโจทก์เสียใหม่ ถือเป็นคำขอปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาล 200 บาท ตามตาราง 1 (2) (ก) ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลมาในทุนทรัพย์ 325,050 บาท จึงเป็นการเสียค่าขึ้นศาลเกินมา ต้องคืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาส่วนที่เกินให้แก่โจทก์”
พิพากษายืน ให้คืนค่าขึ้นศาลในชั้นฎีกาส่วนที่เสียเกิน 200 บาท แก่โจทก์ให้โจทก์ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,000 บาท แก่ผู้ร้อง

Share