คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1303/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินมีโฉนดของโจทก์มาขายทอดตลาดเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีที่โจทก์ร่วมซึ่งเป็นสามีโจทก์ถูกจำเลยฟ้องเรียกหนี้เงินกู้ แม้ในการยึดเจ้าพนักงานบังคับคดีจะยึดอย่างที่ดินมือเปล่าโดยนำ ส.ค.1 สำหรับที่ดินแปลงอื่นของโจทก์ร่วมมา และประกาศขายทอดตลาดว่าเป็นที่ดินมี ส.ค. 1 โดยระบุเลขที่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีกระทำโดยสุจริต และจำเลยเป็นผู้ซื้อที่ดินดังกล่าวจากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริต จำเลยย่อมได้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1330

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของที่นาโฉนดที่ ๓๒๓๓ และให้นายขำสามีทำนาจำเลยแจ้งความหาว่านายขำบุกรุก และเอานาของโจทก์ให้นายจู๋เช่าทำ ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกไป
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่าที่นาตามโฉนดที่โจทก์อ้างจะอยู่ตรงไหนจำเลยไม่ทราบ แต่ที่นาที่นายขำบุกรุกนั้นเป็นของจำเลย ซื้อจากการขาดทอดตลาดของศาลจังหวัดปราจีนบุรีในคดีแพ่งแดงที่ ๘๓/๒๕๐๗ ซึ่งจำเลยได้ชำระราคาแล้ว โดยนายขำสามีโจทก์เป็นลูกหนี้ นาขำไม่มีเงินชำระหนี้ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงยึดที่นา ๑ แปลง เนื้อที่ ๑๐ ไร่เศษ ในวันไปยึดโจทก์และนายขำทราบดี ไม่มีผู้คัดค้าน ระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศโจทก์และนายขำมิได้ร้องขัดทรัพย์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้อง โจทก์กับนายขำเป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่นาเป็นสินสมรส จำเลยย่อมยึดได้ ทางศาลได้แจ้งอำเภอเพื่อให้ทำนิติกรรมขายให้แก่จำเลยแล้ว ระหว่างรอจดทะเบียน โจทก์ให้นายขำเช้าทำนาพิพาทเป็นการละเมิด ทำให้จำเลยเสียหายปีละ ๑,๔๐๐ บาท ขอให้ยกฟ้อง และบังคับโจทก์กับนายขำร่วมกันใช้ค่าเสียหายนับแต่ปีที่ฟ้องจนกว่าจะไม่เข้าเกี่ยวข้อง
จำเลยร้องขอให้เรียกนายขำเข้าเป็นโจทก์ร่วมและนายขำก็ขอเข้าเป็นโจทก์ร่วม ศาลอนุญาต
โจทก์และโจทก์ร่วมให้การแก้ฟ้องแย้ง ปฏิเสธความรับผิด
ศาลชั้นต้นฟังว่า ที่ดินที่จำเลยซื้อจากการขาดทอดตลาดของศาลในคดีแพ่งแพงที่ ๘๓/๒๕๐๗ คือที่พิพาทในคดีนี้ จำเลยได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๓๐ พิพากษายกฟ้องโจทก์ บังคับตามฟ้องแย้งให้โจทก์และโจทก์ร่วมใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยปีละ ๑,๐๐๐ บาท นับแต่ พ.ศ. ๒๕๐๘ เป็นต้นไปจนกว่าจะไม่เข้าเกี่ยวข้องกับนาพิพาท
โจทก์และโจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และโจทก์และโจทก์ร่วมฎีกาว่า การที่ศาลอุทธรณ์ฟังว่า จำเลยซื้อที่พิพาทจากการขายทอดตลาดของศาลโดยสุจริต จำเลยจึงได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๐ นั้นยังไม่ตรงต่อข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานที่นำสืบกันมา
ข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์และโจทก์ร่วมเป็นสามีภริยากัน นาพิพาทมีโฉนดเลขที่ ๓๒๓๓ มีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของ เนื้อที่ ๑๕ ไร่ ๒ งาน โจทก์ร่วมมีที่ดินอีก ๑ แปลง เป็นที่มือเปล่า มี ส.ค. ๑ เนื้อที่ ๙ ไร่ อยู่ติดต่อกับที่ของโจทก์ มีคันนาเป็นเขต โจทก์ร่วมถูกจำเลยฟ้องเรียกเงินกู้ทำยอมใช้หนี้แล้วไม่ใช้ จำเลยจึงขอให้ยึดที่นาของโจทก์ร่วม เวลายึดโจทก์และโจทก์ร่วมไม่ได้ไป ต่อมาพนักงานบังคับคดีได้ประกาศขายทอดตลาดว่า ขายที่ดินมี ส.ค.๑ ของโจทก์ร่วม
โจทก์ร่วมแถลงรับว่า ที่ดินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีศาลไปยึดกับที่ดินพนักงานที่ดินไปทำแผนที่พิพาทในคดีนี้เป็นแปลงเดียวกัน ตามแผนที่ ปรากฏว่าที่ดินที่โจทก์นำชี้ว่าเป็นที่มีโฉนดของโจทก์ทับที่ดินที่จำเลยซื้อจากศาล
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีประเด็นมาสู่ศาลฎีกาเพียงว่า จำเลยได้ซื้อที่พิพาทนี้จากการขายทอดตลาดตามคำสั่งศาลโดยสุจริตหรือไม่เท่านั้น ได้ความจากนายสำเนียงเจ้าพนักงานบังคับคดีพยานจำเลยว่า วันไปยึดที่พิพาทได้พบกับโจทก์และโจทก์ร่วมได้แล้วกับโจทก์ร่วมว่าจะไปยึดที่นาของโจทก์ร่วมให้โจทก์ร่วมไปในการยึดด้วย โจทก์ร่วมไม่ยอมไป นาพิพาทที่ยึดห่างบ้านโจทก์กับโจทก์ร่วมประมาณ ๒ เส้น จากเรือนโจทก์ร่วมยังมองเห็นที่ยึดได้ เมื่อยึดแล้วได้มาที่บ้านโจทก์ร่วมอีก ทำบันทึกการยึดอ่านให้โจทก์ร่วมฟัง โจทก์ร่วมได้ลงชื่อไว้ในบันทึกนั้นด้วย แต่โจทก์กลับลงจากเรือนไปเสีย และยังได้ความจากโจทก์ร่วมว่านาที่ยึดเป็นที่ ส.ค.๑ แต่โจทก์ร่วมเอาไปวางประกันหนี้ นายสำเนียงไปขอ ส.ค.๑ จากเจ้าหนี้ของโจทก์ร่วมมาได้ จึงได้ลงในประกาศขายทอดตลาดว่าที่ดินเป็นที่นามี ส.ค.๑ เลขที่ ๕๔/๒๔๙๘ และตอนขายได้มีการประกาศขายทอดตลาดโดยปิดประกาศขายทอดตลาดตามสถานที่ต่าง ๆ ตลอดจนมีรายงานการขายทอดตลาดว่า มีผู้เข้าประมูล ๓ คน จำเลยให้ราคาสูงกว่าคนอื่น จึงเป็นผู้ซื้อได้ ศาลฎีกาเห็นว่าเจ้าพนักงานได้ปฏิบัติการไปถูกตามกฎหมายแล้ว จำเลยเป็นผู้ประมูลราคาสูงสุด จึงซื้อได้ ไม่พฤติการณ์ใดแสดงว่า การขายทอดตลาดที่พิพาทตามคำสั่งศาลนั้นเจ้าพนักงานก็ดี จำเลยก็ดีได้กระทำไปโดยไม่สุจริต แม้จะปรากฏว่าประกาศขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานเป็นที่ดินที่มี ส.ค.๑ ซึ่งความจริงเป็นที่มีโฉนดก็ตาม ก็ไม่ทำให้การขายทอดตลาดซึ่งเป็นไปชอบด้วยกฎหมาย และจำเลยซื้อไว้โดยสุจริตเสียไป เมื่อจำเลยซื้อที่พิพาทไว้จากการขาดทอดตลาดตามคำสั่งโดยสุจริต ย่อมได้สิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๐
พิพากษายืน

Share