คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4362/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.อ. มาตรา 36 เหตุที่จะขอให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินได้ นอกจากความเป็นเจ้าของแล้วยังต้องได้ความว่า ผู้เป็นเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดซึ่งมีความหมายถึงเจ้าของทรัพย์ที่ยื่นคำร้อง และรวมถึงผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์ในขณะความผิดเกิดด้วย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตาม พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 65 วรรคหนึ่ง ป.อ. มาตรา 83 จำคุกคนละ 6 เดือน และปรับคนละ 10,000 บาท จำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพมีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตาม ป.อ. มาตรา 78 กึ่งหนึ่งคงจำคุกคนละ 3 เดือน และปรับคนละ 5,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 และ ริบรถยนต์ของกลางทั้งสองคัน
ผู้ร้องยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งคืนรถยนต์กระบะของกลางแก่ผู้ร้อง
โจทก์ยื่นคำคัดค้าน ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนคำร้องแล้ว มีคำสั่งให้ยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่เห็นควรวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องก่อนว่า กรรมสิทธิในรถยนต์กระบะของกลางตามคำร้องเป็นของผู้ร้องแต่เมื่อใด เห็นว่าตามบทบัญญัติแห่ง ป.อ. มาตรา 36 บัญญัติว่า เหตุที่จะขอให้ศาลสั่งคืนทรัพย์สินได้นั้น นอกจากความเป็นเจ้าของแล้วยังต้องได้ความว่าผู้เป็นเจ้าของแท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวย่อมมีความหมายถึงเจ้าของทรัพย์สินในขณะที่มีการกระทำผิด ซึ่งแม้สัญญาจะลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2541 อันเป็นวันก่อนเกิดเหตุที่มีการกระทำผิดคือวันที่ 17 กรกฎาคม 2541 แต่เมื่อพิจารณาในสัญญาข้อ 2 ที่มีข้อความถึงการขายรถและการโอนสัญญาเช่าซื้อรวมความว่าตามสัญญานี้มีผลตั้งแต่วันปิดการจำหน่าย โดยมีคำอธิบายอยู่ในคำจำกัดความข้อ 1 ว่า วันปิดการจำหน่ายคือวันที่ 24 กรกฎาคม 2541 ดังนั้น กรรมสิทธิ์ในรถยนต์กระบะของกลางเป็นของผู้ร้องตั้งแต่วันที่ 24 กรกฎาคม 2541 อันเป็นช่วงเวลาหลังเกิดเหตุแล้ว ผู้ที่เป็นเจ้าของที่แท้จริงในขณะกระทำผิดจึงยังคงเป็นบริษัทเงินทุนไทยธำรง จำกัด
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปในประการสุดท้ายว่าเจ้าของที่แท้จริงคือบริษัทเงินทุนไทยธำรง จำกัด รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า แม้ผู้ร้องจะมิได้นำสืบโดยตรงในประการนี้ แต่การที่ผู้ร้องนำสืบให้เห็นว่าสัญญา ซึ่งเป็นการซื้อและรับโอนสิทธิเรียกร้องในรถยนต์กระบะของกลางบริษัทเงินทุนไทยธำรง จำกัด ลงวันที่ 2 กรกฎาคม 2541 อันเป็นวันก่อนเกิดเหตุคดีนี้ถึงครึ่งเดือน โดยเป็นการทำสัญญากับองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน (ปรส.) ที่เป็นผู้กระทำการแทนผู้ขายตามพระราชกำหนดการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2540 แสดงว่าบริษัทเงินทุนไทยธำรง จำกัด ถูกปิดตั้งแต่ก่อนหน้านั้นแล้ว กอปรกับโจทก์ก็นำสืบได้ความเพียงว่าพบการกระทำผิดในวันที่ 17 กรกฎาคม 2541 และทราบจากผู้ขับว่ารถยนต์กระบะของกลางเป็นรถที่เช่าซื้อมาเท่านั้นโดยไม่โต้แย้งเรียกเจ้าของที่แท้จริงมาสอบถาม ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าบริษัทเงินทุนไทยธำรง จำกัด ซึ่งถูกปิดบริษัทไปก่อนหน้า ไม่รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำผิดของจำเลยที่ 2 ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย…
พิพากษากลับ ให้คืนรถยนต์กระบะยี่ห้อมิตซูบิซิหมายเลขทะเบียน รอ – 6510 กรุงเทพมหานคร ของกลางแก่ผู้ร้อง

Share