คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6006/2548

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การที่ผู้ร้องอ้างเอกสารเพิ่มเติมโดยอ้างว่าเพิ่งค้นพบภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วจะต้องทำเป็นคำร้องขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานเช่นว่านั้นต่อศาลพร้อมกับบัญชีระบุพยานและสำเนาบัญชีระบุพยานดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคสาม ศาลจึงจะวินิจฉัยได้ว่าสมควรอนุญาตตามคำร้องหรือไม่ แต่คดีนี้ผู้ร้องเพียงอ้างระบุในอุทธรณ์ว่ามีสำเนาสูติบัตร ขอให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาเอกสารดังกล่าวและมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยมิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานดังกล่าวและมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานพร้อมสำเนา ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจอนุญาตให้ผู้ร้องอ้างพยานเพิ่มเติมในชั้นอุทธรณ์ได้ ทำให้คดีไม่มีพยานหลักฐานใหม่ ไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 240 (2)

ย่อยาว

ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้มีคำสั่งว่าผู้ร้องเป็นคนมีสัญชาติไทย
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านขอให้ยกคำร้องของผู้ร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ยกคำร้อง ค่าคำร้องเป็นพับ
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านประการแรกว่าอุทธรณ์ของผู้ร้องเป็นข้อเท็จจริงที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นต้องยกอุทธรณ์ ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องจึงไม่ชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 ซึ่งในปัญหาข้อนี้ศาลอุทธรณ์ไม่ได้วินิจฉัย ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวเสียก่อน โดยผู้คัดค้านยื่นคำแก้อุทธรณ์ปัญหาดังกล่าวว่า ผู้ร้องเพิ่งยกข้อเท็จจริงขึ้นมากล่าวอ้างในชั้นอุทธรณ์ โดยแสดงหลักฐานสำเนาสูติบัตร เอกสารท้ายอุทธรณ์ 1 ฉบับ ซึ่งไม่ได้อ้างและนำสืบพยานในศาลชั้นต้น จึงเป็นอุทธรณ์ที่ศาลมิอาจรับวินิจฉัยให้ได้ เห็นว่า อุทธรณ์ของผู้ร้องได้โต้แย้งคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในประเด็นที่ศาลชั้นต้นได้วินิจฉัย ไม่ได้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงอื่นที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากล่าวกันมาแล้วในศาลชั้นต้น ส่วนที่ผู้ร้องได้กล่าวอ้างสำเนาสูติบัตรที่ได้มาภายหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษามิใช่เป็นการยกข้อเท็จจริงขึ้นมาใหม่ แต่เป็นเรื่องที่ผู้ร้องอ้างเอกสารเพิ่มเติมขอให้ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยให้ อุทธรณ์ของผู้ร้องจึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของผู้ร้องชอบแล้ว
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านประการที่สองมีว่า ที่ศาลอุทธรณ์อนุญาตให้ผู้ร้องอ้างเอกสารเพิ่มเติมในชั้นอุทธรณ์และให้ศาลชั้นต้นสืบพยานผู้ร้องและผู้คัดค้านเพิ่มเติมเกี่ยวกับเอกสารดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 240 (2) (3) ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 240 (2) บัญญัติว่า ถ้าศาลอุทธรณ์ยังไม่เป็นที่พอใจในการพิจารณาฟ้องอุทธรณ์ คำแก้อุทธรณ์ และพยานหลักฐาน ที่ปรากฏในสำนวน ภายใต้บังคับแห่งมาตรา 238 และเฉพาะในปัญหาที่อุทธรณ์ ให้ศาลมีอำนาจที่จะกำหนดประเด็นทำการสืบพยานที่สืบมาแล้ว หรือพยานที่เห็นควรสืบต่อไป และพิจารณาคดีโดยทั่ว ๆ ไป ดั่งที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายนี้สำหรับการพิจารณาในศาลชั้นต้น และให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการพิจารณาในศาลชั้นต้นมาใช้บังคับด้วยโดยอนุโลม ตามบทบัญญัติมาตราดังกล่าวใช้เฉพาะกรณีที่ผู้อุทธรณ์ อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง คดีนี้ ผู้ร้องขอพิสูจน์สัญชาติ และอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นในปัญหาดังกล่าว โดยผู้ร้องอ้างไว้ในอุทธรณ์ว่าเอกสารท้ายคำร้องเป็นเอกสารที่ผู้ร้องติดตามได้มาภายหลังศาลชั้นต้นพิพากษาคดี และเป็นเอกสารสำคัญที่จะพิสูจน์ได้ว่าผู้ร้องเกิดในประเทศไทย จึงเป็นการอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง อย่างไรก็ดีการที่ผู้ร้องอ้างเอกสารเพิ่มเติมโดยอ้างว่าเพิ่งค้นพบภายหลังจากที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วจะต้องทำเป็นคำร้องขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานเช่นว่านั้นต่อศาลพร้อมกับบัญชีระบุพยานและสำเนาบัญชีระบุพยานดังกล่าว ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 88 วรรคสาม ศาลจึงจะวินิจฉัยได้ว่าสมควรอนุญาตตามคำร้องหรือไม่ แต่คดีนี้ ผู้ร้องเพียงอ้างระบุในอุทธรณ์ว่ามีสำเนาสูติบัตร เอกสารท้ายอุทธรณ์หมายเลข 1 ขอให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาเอกสารดังกล่าวและมีคำพิพากษากลับคำพิพากษาของศาลชั้นต้น โดยมิได้ยื่นคำร้องขออนุญาตอ้างพยานหลักฐานดังกล่าวและมิได้ยื่นบัญชีระบุพยานพร้อมสำเนา ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจอนุญาตให้ผู้ร้องอ้างพยานเพิ่มเติมในชั้นอุทธรณ์ได้ ทำให้คดีไม่มีพยานหลักฐานใหม่ ไม่มีเหตุที่จะย้อนสำนวนไปให้ศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษาใหม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 240 (2) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาตามรูปคดีต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ.

Share