คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3365/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

ฟ้องเดิมโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยปลูกต้นปาล์มน้ำมันและเก็บเกี่ยวผลปาล์มน้ำมันและปลูกสร้างอาคารสำนักงาน และที่พักคนงานและลูกจ้าง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ทั้งไม่มีสิทธิใด ๆ และไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับกรมป่าไม้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และโจทก์ หลังจากนั้นโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ไม่สามารถนำที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินมาทำการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามอำนาจหน้าที่ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ การแก้ไขคำฟ้องอันสืบเนื่องมาจากการกระทำตามฟ้องเดิม จึงเป็นการแก้ไขคำฟ้องที่เกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีเข้าด้วยกันได้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 179 โดยหาจำต้องแก้ไขข้อหาหรือข้ออ้างได้เฉพาะการสละข้อหาในฟ้องเดิมบางข้อหรือเพิ่มเติมฟ้องให้บริบูรณ์ไม่ ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องเกี่ยวกับการเรียกค่าเสียหายนั้นชอบแล้ว
พ.ร.บ.การปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 7 บัญญัติให้โจทก์เป็นทบวง มีฐานะเทียบเท่ากรม โจทก์จึงเป็นนิติบุคคลตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 7 เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นผู้แทนโจทก์ย่อมมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินคดีแทนได้ ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 38 และคำสั่งของโจทก์ที่ 767/2548 เรื่องมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ระบุแจ้งชัดว่า หากผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นสมควรก็จะมอบอำนาจให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดปฏิบัติราชการแทนก็ได้ ดังนั้น การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีมอบอำนาจช่วงให้โจทก์ดำเนินคดีแก่จำเลยเป็นคดีนี้จึงชอบแล้ว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 7,509,787.83 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นเวลา 1 ปี รวมเป็นเงิน 8,074,021.91 บาท กับให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 7,509,787.83 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ และให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างอาคารสำนักงาน ที่พักคนงานและลูกจ้างออกไปจากที่ดินของโจทก์ ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน 69,972 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 12 พฤศจิกายน 2550 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยชดใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาของศาลชั้นต้นในส่วนที่ให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างอาคารสำนักงาน ที่พักคนงานและลูกจ้างออกไปจากที่ดินโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ทั้งสองฝ่ายให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า เดิมบริษัทชัยบุรีปาล์มทอง จำกัด ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าใสท้อนและป่าคลองโซง ในท้องที่ตำบลชัยบุรี จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อปลูกปาล์มน้ำมัน ภายในเนื้อที่ 15,000 ไร่ มีกำหนดระยะเวลา 15 ปี นับตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2528 ถึงวันที่ 1 มกราคม 2543 บริษัทชัยบุรีปาล์มทอง จำกัด เข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเพียง 1,794 ไร่ 1 งาน 24 ตารางวา เนื่องจากมีชาวบ้านเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินอยู่ก่อน ครั้นวันที่ 21 กันยายน 2531 บริษัทชัยบุรีปาล์มทอง จำกัด จดทะเบียนเลิกบริษัทแต่ยังไม่ได้จดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชี นายทะเบียนได้ขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้าง หลังจากนั้นจำเลยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินต่อจากบริษัทดังกล่าว ต่อมาวันที่ 9 ธันวาคม 2537 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดิน ในท้องที่ดังกล่าว ตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกาเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยออกจากที่ดินพร้อมทั้งรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเพื่อนำที่ดินดังกล่าวมาปฏิรูปที่ดินแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยข้อที่ 2 ว่า โจทก์ขอแก้ไขคำฟ้องเกี่ยวกับการเรียกค่าเสียหายไม่ชอบ เนื่องจากฟ้องเดิมโจทก์ไม่ได้บรรยายเกี่ยวกับกรณีนี้ และการแก้ไขคำฟ้องมิใช่เป็นการสละข้อหาในฟ้องเดิมบางส่วนหรือเพิ่มเติมคำฟ้องให้สมบูรณ์ ทั้งคำฟ้องและคำร้องขอแก้ไขเพิ่มเติมฟ้องไม่เกี่ยวข้องพอที่จะพิจารณาและชี้ขาดเข้าด้วยกันได้นั้น ฟ้องเดิมโจทก์กล่าวอ้างว่า จำเลยบุกรุกเข้าไปยึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทโดยปลูกต้นปาล์มน้ำมันและเก็บเกี่ยวผลปาล์มน้ำมันและปลูกสร้างอาคารสำนักงาน และที่พักคนงานและลูกจ้าง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ ทั้งไม่มีสิทธิใด ๆ และไม่มีนิติสัมพันธ์ใด ๆ กับกรมป่าไม้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และโจทก์ หลังจากนั้นโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย อันเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่สามารถนำที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินมาทำการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมตามอำนาจหน้าที่ โจทก์ย่อมมีสิทธิเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ การแก้ไขคำฟ้องอันสืบเนื่องมาจากการกระทำตามฟ้องเดิมจึงเป็นการแก้ไขคำฟ้องที่เกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีเข้าด้วยกันได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 179 โดยหาจำต้องแก้ไขข้อหาหรือข้ออ้างได้เฉพาะการสละข้อหาในฟ้องเดิมบางข้อหรือเพิ่มเติมฟ้องให้บริบูรณ์ดังที่จำเลยฎีกาไม่ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์แก้ไขเพิ่มเติมคำฟ้องส่วนนี้ได้นั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีมีอำนาจมอบอำนาจช่วงได้หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518 มาตรา 7 บัญญัติให้โจทก์เป็นทบวง มีฐานะเทียบเท่ากรม โจทก์จึงเป็นนิติบุคคล ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 7 เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมเป็นผู้แทนโจทก์ย่อมมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัดดำเนินคดีแทนได้ ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 มาตรา 38 และคำสั่งของโจทก์ที่ 767/2548 เรื่องมอบอำนาจให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ระบุแจ้งชัดว่า หากผู้ว่าราชการจังหวัดเห็นสมควรก็จะมอบอำนาจให้ปฏิรูปที่ดินจังหวัดปฏิบัติราชการแทนก็ได้ ดังนั้น การที่ผู้ว่าราชการจังหวัดสุราษฎร์ธานีมอบอำนาจช่วงให้โจทก์ดำเนินคดีแก่จำเลยเป็นคดีนี้จึงชอบแล้ว
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมของโจทก์และจำเลยให้เป็นพับ

Share