แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ด้วยความประมาทชนรถจักรยานยนต์ที่ผู้ตายซึ่งเป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 ขับขี่และโจทก์ที่ 2 และที่ 3 นั่งซ้อนท้าย จนเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายและโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้รับบาดเจ็บสาหัส ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้โจทก์ทั้งสามได้รับค่าเสียหายรวมกันมาเป็นจำนวน 254,000 บาท แม้ค่าเสียหายที่เป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าปลงศพ จะเป็นหนี้ที่ไม่อาจแบ่งแยกเป็นหนี้ของโจทก์แต่ละคนได้ แต่ในส่วนค่าขาดไร้อุปการะเป็นหนี้ที่สามารถแบ่งแยกเป็นส่วนของโจทก์แต่ละคนได้ นำไปรวมกับค่าเสียหายส่วนอื่นแล้ว โดยส่วนของโจทก์ที่ 1 เป็นเงิน 40,000 บาท ส่วนของโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้รับคนละ 90,000 บาท เมื่อทุนทรัพย์พิพาทชั้นฎีกาของโจทก์ทั้งสามแต่ละคนไม่เกินคนละสองแสนบาท ย่อมต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.พ. มาตรา 248 วรรคหนึ่ง เนื่องจากทุนทรัพย์ชั้นฎีกาต้องถือตามจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้รับจากจำเลยทั้งสามนั่นเอง
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า จำเลยที่ 1 ขับรถจักรยานยนต์ด้วยความประมาทโดยใช้ความเร็วสูงและหลบหลุมเป็นเหตุให้รถเสียหลักพุ่งชนรถจักรยานยนต์ที่นางลดาวัลย์ ภูมิมหาศาล ผู้ตายซึ่งเป็นบุตรของโจทก์ที่ 1 ขับ มีโจทก์ที่ 2 และที่ 3 นั่งซ้อนท้ายทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายและโจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้รับอันตรายสาหัส ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันรับผิดใช้ค่าปลงศพ ค่าขาดไร้อุปการะ และค่ารักษาพยาบาลรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยทั้งสามให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงิน 260,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 21 มีนาคม 2544) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งสาม
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามรับผิดชำระค่ารักษาพยาบาลแก่โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 15,000 บาท รวมค่าเสียหายทั้งหมดที่จำเลยทั้งสามต้องร่วมรับผิดต่อโจทก์ทั้งสามรวมเป็นเงิน 254,000 บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยทั้งสามฎีกาว่า โจทก์ทั้งสามไม่มีประจักษ์พยาน ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 อายุ 18 ปี ยังเป็นผู้เยาว์ จึงให้การรับสารภาพในคดีอาญา ที่รถเกิดชนกันเป็นความผิดของผู้ตาย จำเลยที่ 2 และที่ 3 ก็ไม่ต้องรับผิดและค่าสินไหมทดแทนสูงเกินไปนั้น เห็นว่า ฎีกาของจำเลยทั้งสามเป็นการโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 3 ซึ่งเป็นข้อเท็จจริง การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาให้โจทก์ทั้งสามได้รับค่าเสียหายทั้งหมดรวมกันมาเป็นจำนวน 254,000 บาท แม้ค่าเสียหายที่เป็นค่ารักษาพยาบาล ค่าปลงศพ จะเป็นหนี้ที่โจทก์ทั้งสามร่วมกันไม่อาจแบ่งแยกเป็นหนี้ของโจทก์แต่ละคนได้ แต่ในส่วนค่าขาดไร้อุปการะเป็นหนี้ที่สามารถแบ่งแยกเป็นส่วนของโจทก์แต่ละคน ซึ่งศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์ที่ 1 ได้รับค่าขาดไร้อุปการะจำนวน 40,000 บาท โจทก์ที่ 2 และที่ 3 ได้รับคนละ 90,000 บาท ดังนั้น ทุนทรัพย์พิพาทชั้นฎีกาต้องถือตามจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์แต่ละคนมีสิทธิได้จากจำเลยทั้งสาม เมื่อแบ่งแยกค่าเสียหายในส่วนค่าขาดไร้อุปการะของโจทก์ทั้งสาม และนำไปรวมกับค่าเสียหายส่วนอื่นแล้ว ทุนทรัพย์พิพาทชั้นฎีกาของโจทก์ทั้งสามแต่ละคนจึงไม่เกินคนละสองแสนบาท ย่อมต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาจำเลยทั้งสามมาเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย”
พิพากษายกฎีกาของจำเลยทั้งสาม