คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1341/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

กรณีที่จะงดการบังคับคดีได้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 292 และ 293 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คือกรณีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่หรือได้ยื่นฟ้องเป็นคดีเรื่องอื่นในศาลเดียวกันนั้นซึ่งศาลยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาด แต่ตามคำร้องของจำเลยหาได้อ้างเหตุตามบทบัญญัติดังกล่าวเพื่อขอให้ศาลงดการบังคับคดีไม่ กลับอ้างวิกฤติทางเศรษฐกิจซึ่งเกิดขึ้นนอกประเทศไทยและในประเทศไทยเป็นเหตุสุดวิสัยทำให้จำเลยไม่สามารถชำระหนี้ได้มาของดการบังคับคดี โดยอ้างว่าได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150,205 และ 219 อันเป็นกฎหมายในส่วนสารบัญญัติซึ่งไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับการงดการบังคับคดีแต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยจึงชอบแล้ว
ปัญหาที่ว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ถึงมาตรา 305(ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฯ มาตรา 3,4,6,30 และ 48 จำเลยเพิ่งยกขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ทั้งมิได้กล่าวโดยชัดแจ้งว่าบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 271 ถึงมาตรา 305 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเพราะเหตุใด จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้และไม่จำต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์จำนวน 600,496.32 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 19 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน464,522.68 บาท นับจากวันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ โดยจำเลยขอผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือนทุกวันที่ 10 ของแต่ละเดือน งวดแรกชำระวันที่ 10 กรกฎาคม 2542 จำนวน 6,400 บาท งวดต่อไปชำระไม่ต่ำกว่าเดือนละ 7,900 บาท จนกว่าจะครบถ้าจำเลยผิดนัดชำระงวดหนึ่งงวดใดให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์บังคับคดีได้ทันที โดยให้ยึดที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 37 ตำบลป่าตาหลวง อำเภอบ้านหลวง จังหวัดน่าน พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่จำนองเป็นประกันหนี้ไว้แก่โจทก์ออกขายทอดตลาดชำระหนี้จนครบถ้วน แต่จำเลยผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ขอให้ออกหมายบังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยจำนองเป็นประกันหนี้ออกขายทอดตลาด คดีอยู่ระหว่างประกาศขายทอดตลาด

จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งงดการบังคับคดี

ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง

จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามคำร้องของจำเลยลงวันที่ 6 มิถุนายน 2545 อ้างเหตุว่าจำเลยได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150, 205 และ 219 ซึ่งเป็นกฎหมายสารบัญญัติ ส่วนการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเป็นกฎหมายวิธีสบัญญัติ แต่กฎหมายสารบัญญัติเป็นกฎหมายที่มีความสำคัญมากกว่ากฎหมายวิธีสบัญญัติ เมื่อกฎหมายวิธีสบัญญัติขัดแย้งกับกฎหมายสารบัญญัติและจำเลยยกกฎหมายสารบัญญัติขึ้นคัดค้านคำสั่งศาลที่สั่งตามกฎหมายวิธีสบัญญัติ ศาลจึงไม่สามารถบังคับคดีต่อไปได้เพราะจำเลยได้รับความคุ้มครองตามมาตรา 219 จำเลยจึงยังไม่ต้องชำระหนี้จนกว่าวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศไทยตั้งแต่ต้นปี 2539 อันเป็นเหตุให้การชำระหนี้กลายเป็นพ้นวิสัยจะสิ้นสุดลง ทั้งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งก็ไม่มีบทบัญญัติใดห้ามมิให้จำเลยคัดค้านคำสั่งศาลโดยอ้างเหตุคำสั่งศาลในการบังคับคดีที่สั่งตามกฎหมายวิธีสบัญญัติขัดต่อกฎหมายสารบัญญัติตามที่จำเลยยกขึ้นอ้าง ศาลจึงต้องงดการบังคับคดีนั้น เห็นว่า กรณีที่จะงดการบังคับคดีได้ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ตามมาตรา 292 และ 293 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยมาตรา 292 เป็นบทบัญญัติที่วางหลักเกณฑ์ที่เจ้าพนักงานบังคับคดีต้องงดการบังคับคดีไว้เมื่อมีเหตุตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้เกิดขึ้น สำหรับจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษาคือกรณีที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ยื่นคำขอให้พิจารณาใหม่ และศาลมีคำสั่งให้งดการบังคับคดีโดยแจ้งคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบแล้ว ส่วนมาตรา 293 เป็นบทบัญญัติที่ให้ลูกหนี้ตามคำพิพากษายื่นคำขอเป็นคำร้องขอให้ศาลงดการบังคับคดีไว้ได้โดยเหตุที่ลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้ยื่นฟ้องเป็นคดีเรื่องอื่นในศาลเดียวกันนั้นซึ่งศาลยังมิได้วินิจฉัยชี้ขาด และถ้าหากลูกหนี้ตามคำพิพากษาเป็นฝ่ายชนะจะไม่ต้องมีการขายทอดตลาดหรือจำหน่ายทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาโดยวิธีอื่นเพราะสามารถหักกลบลบหนี้กันได้ ถ้าศาลเห็นว่าข้ออ้างของลูกหนี้ตามคำพิพากษามีเหตุฟังได้ และถ้างดการบังคับคดีไว้ไม่น่าจะเป็นที่เสียหายแก่เจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ศาลอาจมีคำสั่งงดการบังคับคดีไว้ภายในระยะเวลาและเงื่อนไขตามที่เห็นสมควร แต่ตามคำร้องของจำเลยหาได้อ้างเหตุตามบทบัญญัติดังกล่าวเพื่อขอให้ศาลงดการบังคับคดีไม่ กลับอ้างวิกฤติทางเศรษฐกิจซึ่งเกิดขึ้นนอกประเทศไทยและในประเทศไทยเป็นเหตุสุดวิสัยทำให้จำเลยไม่สามารถชำระหนี้ได้มาของดการบังคับคดีโดยอ้างว่าได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150,205 และ 219 อันเป็นกฎหมายในส่วนสารบัญญัติซึ่งไม่ได้บัญญัติเกี่ยวกับการงดการบังคับคดีแต่อย่างใด ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้องของจำเลยจึงชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ถึงมาตรา 305 (ว่าด้วยการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง) ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 3, 4, 6, 30 และ 48 ด้วย นั้น เห็นว่า จำเลยเพิ่งยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอ้างในชั้นอุทธรณ์ ทั้งมิได้กล่าวโดยชัดแจ้งว่าบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 271 ถึงมาตรา 305 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเพราะเหตุใด จึงเป็นอุทธรณ์ที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ และไม่จำต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย”

พิพากษายืน

Share