แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ได้ส่งสมุดบัญชีและเอกสารให้เจ้าพนักงานประเมินทำการไต่สวนมาแล้วครั้งหนึ่ง จนได้รับแจ้งการประเมินให้เสียภาษีเพิ่มจากยอดกำไรสุทธิ กรณีนี้จึงไม่มีความจำเป็นที่เจ้าพนักงานประเมินจะเรียกเอกสารอื่นใดจากโจทก์มาสอบเพิ่มเติมอีก ดังนั้น ที่เจ้าพนักงานประเมินเรียกให้โจทก์ส่งสัญญาขายผ่อนชำระ สัญญาเช่าซื้อ สัญญาค้ำประกันและบัญชีรายละเอียดสินค้าคงเหลืออีก เป็นการเรียกเอกสารที่ไม่สมควรแก่เรื่องไม่ชอบด้วยประมวลรัษฎากรมาตรา 19 จึงไม่มีเหตุที่จะประเมินภาษีโจทกจากยอดขายก่อนหักรายจ่ายตามวิธีการในมาตรา 71(1) ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินได้ออกหมายเรียกให้โจทก์นำสมุดบัญชีและเอกสารประกอบการลงบัญชีสำหรับปี ๒๕๑๙ – ๒๕๒๐ ไปให้ตรวจสอบโจทก์ได้นำไปให้ตรวจสอบแล้ว ต่อมาเจ้าหน้าที่พนักงานแจ้งว่าโจทก์ต้องชำระภาษีอากรเพิ่มโจทก์ว่าได้ชำระภาษีอาการสำหรับปี ๒๕๑๙ – ๒๕๒๐ โดยถูกต้องครบถ้วนตามหลักการบัญชีแล้ว หลังจากนั้นเจ้าพนักงานประเมินแจ้งให้โจทก์ส่งบัญชีรายละเอียดลูกหนี้รายตัวสัญญาขายผ่อนชำระสัญญาการให้เช่าซื้อ หนังสือค้ำประกันสัญญาผ่อนชำระและให้เช่าซื้อพร้อมทั้งบัญชีรายละเอียดสินค้าคงเหลือปี ๒๕๑๙ – ๒๕๒๐ ไปประกอบการพิจารณาอีก โจทก์ไม่สามารถส่งให้ได้ เพราะได้คืนให้ลูกค้าไปแล้ว เอกสารสำคัญในการขายได้ลงบัญชีการซื้อขายเรียบร้อยแล้ว ส่วนบัญชีรายละเอียดสินค้าคงเหลือก็ไม่จำเป็นต้องทำเพราะโจทก์ได้บันทึกบัญชีสินค้าแบบ PERIODIC METHOD ซึ่งเป็นหลักบัญชีที่รับรองทั่วไป เจ้าพนักงานประเมินได้ถือเอาเหตุที่โจทก์ไม่สามารถส่งเอกสารดังกล่าวนี้ทำการประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์ในอัตราร้อยละ ๑๒ ของยอดขาย ตามมาตรา ๗๑(๑) แห่งประมวลรัษฎากร คิดเป็นเงินค่าภาษีทั้งสิ้น ๓๓๙,๑๑๓.๖๗ บาท ซึ่งไม่เป็นธรรมและไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์อุทธรณ์การประเมินของเจ้าพนักงานประเมินดังกล่าวต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์
คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยยืนตามตามความเห็นเจ้าพนักงานประเมิน ขอให้เพิกถอนการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย
จำเลยให้การว่า เอกสารต่าง ๆ ตามที่เจ้าพนักงานประเมินเรียกให้โจทก์ส่งนั้น เป็นเอกสารประกอบการลงบัญชีที่ดีที่สุดในการคำนวณภาษี การที่โจทก์นำแต่เพียงสมุดบัญชีและเอกสารยื่นไปให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบโดยไม่นำสัญญาไปให้ตรวจสอบด้วยอย่างครบถ้วน ถือว่าโจทก์ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา ๑๙ เจ้าพนักงานประเมินจึงมีอำนาจประเมินภาษีจากยอดรายรับหรือยอดขายก่อนหักรายจ่ายตามวิธีการในมาตรา ๗๑(๑) แห่งประมวลรัษฎากรได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้เจ้าพนักงานประเมินได้เรียกสุมดบัญชีและเอกสารของห้างโจทก์ไปตรวจสอบเมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๒๑ แล้วครั้งหนึ่งจนเจ้าพนักงานประเมินได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ ๓ พฤศจิกายน ๒๕๒๑ ให้โจทก์ชำระภาษีอาการเพิ่มตามมาตรา ๒๐ พร้อมด้วยเงินเพิ่มอีกร้อยละ ๒๐ ตามมาตรา ๒๒ สำหรับปี ๒๕๑๙ เป็นเงิน ๔,๒๘๘ บาท และสำหรับปี ๒๕๒๐ เป็นเงิน ๑๑๔,๕๕๑.๖๔ บาท รวม ๒ ปี เป็นเงิน ๑๑๘,๘๓๙.๖๔ บาท ปรากฏตามรายงานสรุปผลการประเมินหมาย จ.๔ ถึง จ.๗ กรณีไม่มีความจำเป็นที่เจ้าพนักงานประเมินจะเรียกเอกสารอื่นใดจากห้างโจทก์มาสอบเพิ่มเติมอีก เมื่อโจทก์ไม่เห็นด้วยกับการประเมินก็เป็นเรื่องที่โจทก์จะอุทธรณ์การประเมินต่อไปได้ตามมาตรา ๒๐ โดยไม่มีความจำเป็นที่เจ้าพนักงานประเมินจะต้องเรียกสมุดบัญชีหรือเอกสารอื่นใดมาประกอบคำวินิจฉัยการประเมินของตนอีก การที่เจ้าพนักงานประเมินเรียกให้โจทก์ส่งสัญญาขายผ่อนชำระ สัญญาเช่าซื้อ สัญญาค้ำประกัน ตลอดจนบัญชีรายละเอียดสินค้าคงเหลืออีกในกรณีนี้ จึงเป็นการเรียกเอกสารที่ไม่สมควรแก่เรื่อง ประมวลรัษฎากรมาตรา ๑๙ ให้อำนาจเจ้าพนักงานประเมินเรียกบัญชีหรือพยานหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาแสดงเท่านั้น เรื่องนี้เจ้าพนักงานประเมินได้เรียกสมุดบัญชีและเอกสารจากห้างโจทก์อันประกอบด้วยสุมดบัญชีต่างๆ ถึง ๑๔ เล่ม ใบสำคัญคู่จ่าย ๗ แฟ้ม พร้อมทั้งการ์ดลูกหนี้อีก ๑ กล่อง ดังปรากฏตามหลักฐานตามใบรับบัญชีและเอกสารหมาย จ. จนสามารถคำนวณกำไรสุทธิของห้างโจทก์ใหม่และประเมินภาษีเพิ่มจากโจทก์สำหรับปี ๒๕๑๙ เป็นจำนวนแน่นอน ๔,๒๘๘ บาท และเรียกภาษีเพิ่มสำหรับปี ๒๕๒๐ อีกเป็นเงิน ๑๑๔,๕๕๑,๖๔ บาท ตามเอกสารรายการละเอียดหมาย จ.๔ ถึง จ,๗ จึงไม่มีมีเหตุจำเป็นหรือเหตุสมควรอย่างใดที่จะเรียกเอกสารอื่นใดจากห้างโจทก์มาตรวจสอบอีก การเรียกเอกสารของเจ้าพนักงานประเมินในครั้งหลังนี้เป็นการไม่สมควรแก่เรื่อง เป็นการไม่ชอบด้วนมาตรา๑๙ จึงไม่มีเหตุที่จะประเมินภาษีโจทก์จากยอดขายก่อนหักรายจ่ายตามวิธีการในมาตรา ๗๑(๑) แห่งประมวลรัษฎากรได้
พิพากษากลับ ให้เพิกถอนการปประเมินของเจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ที่ให้โจทก์เสียภาษีเพิ่มจากยอดขายก่อนหักรายจ่ายตามวิธีการในมาตรา ๗๑(๑) แห่งประมวลรัษฎากร