คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5828/2548

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์สินที่ยึดมานั้น เป็นเพียงการประเมินราคาในชั้นต้นเพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีขายทอดตลาดต่อไปเท่านั้น ราคาที่ประเมินไว้อาจไม่ตรงกับราคาที่แท้จริงก็ได้ และการประเมินราคาดังกล่าวก็ไม่ใช่หลักเกณฑ์ตายตัวที่ผูกมัดว่าการขายทอดตลาดจะต้องเป็นไปตามราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ แต่ขึ้นอยู่กับผู้เข้าสู้ราคาว่าจะให้ราคาสูงสุดเพียงใด ซึ่งหากจำเลยที่ 3 เห็นว่าราคาต่ำไปก็ชอบที่จะคัดค้านการขายทอดตลาดได้ ดังนั้น แม้จำเลยที่ 3 จะเคยคัดค้านต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีและเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์ที่ยึดดังกล่าวให้ใหม่มาครั้งหนึ่งแล้วก็ตาม กรณีก็ถือไม่ได้ว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีกับจำเลยที่ 3 อันจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลตาม ป.วิ.พ. มาตรา 296 วรรคสอง เพื่อขอให้ส่งเจ้าพนักงานบังคับคดีแก้ไขการประเมินราคาทรัพย์สินได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชี 6,864,461.46 บาท และหนี้เงินกู้ 4,520,953.59 บาท พร้อมดอกเบี้ย จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่จำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์ขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดิน พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 3 โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์ที่ยึดดังกล่าวรวม 3,180,250 บาท จำเลยที่ 3 คัดค้านว่าราคาประเมินต่ำไป เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงไปตรวจสอบสถานที่ทรัพย์ตั้งอยู่และประเมินราคาใหม่เพิ่มขึ้นเป็น 5,523,670 บาท
จำเลยที่ 3 ยื่นคำร้องว่า ราคาประเมินที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินใหม่ยังต่ำกว่าความเป็นจริงซึ่งควรมีราคาประเมิน 6,250,600 บาท ขอให้ศาลมีคำสั่งแก้ไขราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดี
ศาลชั้นต้นมีคำสั่ง ให้ยกคำร้อง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 3 ว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์ที่ยึดต่ำไป จำเลยที่ 3 มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง เพื่อขอให้สั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีแก้ไขราคาประเมินทรัพย์สินที่ยึดดังกล่าวได้หรือไม่ เห็นว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินราคาทรัพย์สินที่ยึดมานั้นเป็นเพียงการประเมินราคาในชั้นต้นเพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีขายทอดตลาดต่อไปเท่านั้น ราคาที่ประเมินไว้อาจไม่ตรงกับราคาที่แท้จริงก็ได้ และการประเมินราคาดังกล่าวก็ไม่ใช่หลักเกณฑ์ตายตัวที่ผูกมัดว่าการขายทอดตลาดจะต้องเป็นไปตามราคาที่เจ้าพนักงานบังคับคดีประเมินไว้ แต่ขึ้นอยู่กับผู้เข้าสู้ราคาว่าจะให้ราคาสูงสุดเพียงใด ซึ่งหากจำเลยที่ 3 เห็นว่าราคาต่ำไปก็ชอบที่จะคัดค้านการขายทอดตลาดได้ ดังนั้น แม้จำเลยที่ 3 จะเคยคัดค้านต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีและเจ้าพนักงานคดีประเมินราคาทรัพย์ที่ยึดดังกล่าวให้ใหม่มาครั้งหนึ่งแล้วก็ตาม กรณีก็ถือไม่ได้ว่ามีข้อโต้แย้งสิทธิระหว่างเจ้าพนักงานบังคับคดีกับจำเลยที่ 3 อันจะเป็นเหตุให้จำเลยที่ 3 มีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อศาลตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง เพื่อขอให้สั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีแก้ไขการประเมินราคาทรัพย์สินได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share